จากการจัดระเบียบบริษัทเทคฯ ที่เข้มข้นขึ้นของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ส่งผลให้บริษัทเทคฯ หลายแห่งต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ไม่เว้นแม้แต่ LinkedIn แพลตฟอร์มหางานยักษ์ใหญ่ของ Microsoft โดยบริษัทออกมาประกาศว่าจะปิดการใช้งาน LinkedIn ประเทศจีนในปีนี้ โดยให้เหตุผลว่า “สภาพแวดล้อมการทำงานในจีนมีความท้าทายยิ่งขึ้น จากข้อกำหนดและระเบียบต่างๆ ที่มากขึ้นในประเทศจีน”
แต่ Microsoft ก็ไม่ได้ถอนตัวออกจากจีนไปเลยทีเดียว โดยมีแผนที่จะนำเสนอแอปฯ ที่เรียกว่า InJob สำหรับประเทศจีนโดยเฉพาะ ซึ่งจะเน้นไปที่การหางานเท่านั้น โดยจะตัดคุณลักษณะเครือข่ายทางสังคม เช่น การโพสต์ การแสดงความคิดเห็น และการแชร์ ออกไป
LinkedIn กล่าวว่าต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานต่อไปได้ และบริษัทก็ได้บล็อกโปรไฟล์ของนักข่าวสหรัฐฯ หลายคนจาก LinkedIn ในจีน และเซ็นเซอร์เนื้อหาอื่นๆ ตามกฎหมายประเทศ
“เราประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยเหลือให้ชาวจีนหางานได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ในด้านเครือข่ายสังคมโซเชียลมีเดียเราไม่ได้มองว่าเราประสบความสำเร็จมากนัก” Microsoft กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ตุลาคม)
ในช่วงที่ผ่านมาจีนปราบปรามเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลากหลายแห่ง ด้านระเบียบการรวบรวมข้อมูลส่วนตัวและการควบคุมเนื้อหามีความเข้มงวดมากขึ้น โดยในเดือนมีนาคม LinkedIn ได้ระงับการสมัครสมาชิกของผู้ใช้ใหม่เป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากที่ผู้บริหารถูกรายงานโดยหน่วยงานกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของจีน เนื่องจากล้มเหลวในการเซ็นเซอร์เนื้อหาทางการเมือง และได้รับคำสั่งให้ส่งรายงานการตรวจสอบตนเองต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน
ในเดือนพฤษภาคม หน่วยงานกำกับดูแลบริหารไซเบอร์สเปซของจีน หรือ Cyberspace Administration of China ได้รายงานแอปฯ จำนวน 105 แอปฯ รวมถึง LinkedIn สำหรับการรวบรวมและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างผิดกฎหมาย โดยหน่วยงานกำกับดูแลของจีนสั่งให้บริษัทต่างๆ แก้ไขปัญหาภายใน 15 วันทำการ มิเช่นนั้นอาจต้องเผชิญกับการดำเนินการทางกฎหมาย
การดำเนินการของ LinkedIn ในประเทศจีน ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐฯ หลังจากที่ LinkedIn บล็อกนักข่าวชาวอเมริกันจาก LinkedIn ในจีน โดย ริก สก็อตต์ ส.ว. พรรครีพับลิกัน เขียนจดหมายถึง สัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการบริหารของ Microsoft ว่าต้องการทราบถึงเหตุผลที่บริษัทบล็อกบัญชีต่างๆ และเรียกการเซ็นเซอร์ว่าเป็นการบรรเทาวิกฤตขั้นต้น นี่ถือเป็นแสดงการจำนนต่อคอมมิวนิสต์จีน
หากย้อนดูประวัติของ LinkedIn ในจีน มีการเปิดตัวในประเทศจีนเมื่อปี 2014 และมีผู้ใช้ถึง 54 ล้านคน ทำให้เป็นประเทศที่มีฐานผู้ใช้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ LinkedIn รองจากสหรัฐอเมริกาและอินเดีย แม้ว่าจีนจะมีเว็บไซต์หางานเหมือนกับ LinkedIn เป็นของตัวเอง แต่แพลตฟอร์มของสหรัฐฯ ก็ยังคงถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติในจีน ทั้งนี้ Microsoft ก็ไม่ได้เปิดเผยว่า LinkedIn มีสัดส่วนทำให้รายได้ในจีนเป็นเท่าไร
นอกจากนั้น LinkedIn ถือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจากต่างประเทศที่กว้างขวางที่สุดในประเทศจีน และเป็นบริษัทโซเชียลมีเดียรายใหญ่แห่งสุดท้ายของสหรัฐฯ ที่ออกจากตลาดจีน โดยก่อนหน้านี้ทั้ง Facebook และ Twitter ก็ถูกแบนในแผ่นดินใหญ่มานานกว่าทศวรรษ
ส่วน Microsoft ก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในประเทศจีนเช่นกัน โดยเข้าสู่ตลาดจีนในปี 1992 ซอฟต์แวร์ของ Microsoft ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยรัฐบาลและบริษัทต่างๆ ในจีน และยังสามารถเข้าถึงเสิร์ชเอนจินอย่าง Bing ได้ในขณะที่ Google หยุดให้บริการมาก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว การที่ Microsoft สามารถเปิดให้บริการในจีนมานานหลายทศวรรษก็มาจากการที่ปฏิบัติตามกฎหมายของจีน ทั้งนี้ต้องรอดูกันต่อไปว่าสหรัฐฯ จะมีท่าทีอย่างไรกับการที่ Microsoft ยอมจำนนต่อกฎระเบียบของจีน เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ต่อไปในจีน
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Business/Technology/LinkedIn-shutters-China-site-calling-environment-challenging
- https://edition.cnn.com/2021/10/14/tech/linkedin-china-exit-microsoft/index.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP