×

ซีรีส์วายยังปังยาวๆ LINE TV พบคนดูโตสุด 3 เท่า สานต่อฟีเจอร์ใหม่ ‘As Seen On’ ขายสินค้าที่ศิลปินใช้ในซีรีส์บน LINE

28.10.2020
  • LOADING...
ซีรีส์วายยังปังยาวๆ LINE TV พบคนดูโตสุด 3 เท่า สานต่อฟีเจอร์ใหม่ ‘As Seen On’ ขายสินค้าที่ศิลปินใช้ในซีรีส์บน LINE

กระแสความนิยมของคอนเทนต์ซีรีส์วายที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมความบันเทิงไทยได้จุดติดลุกลามในวงกว้างมายาวนานต่อเนื่องหลายปี และดูท่าว่าจะไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนแน่นอน วัดได้จากการที่สื่อกระแสหลักหลายช่องเริ่มหันมาให้ความสำคัญและชิมลางผลิตคอนเทนต์วายเข้าสู่ตลาดกันอย่างคึกคักเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมที่เปลี่ยนไป

 

สำหรับ LINE TV เป็นอีกหนึ่งในแพลตฟอร์ม OTT ที่ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การฉายคอนเทนต์ซีรีส์วายเป็นอย่างมาก โดยเคลมว่าปัจจุบันหลังจากเปิดตัวให้บริการมานานกว่า 6 ปี พวกเขากลายเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่มีจำนวนซีรีส์วายสูงที่สุดในประเทศไทยมากกว่า 39 เรื่อง (นับจนถึงเดือนตุลาคม 2563) ด้วยจำนวนผู้ชมมากถึง 19 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2019 โดยมีอัตราเฉลี่ยยอดวิวในแต่ละปีเพิ่มขึ้นราว 61% (นับตั้งแต่ปี 2559-2563)

 

ส่งผลให้ปัจจุบัน LINE TV ได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มยอดนิยมของคอคอนเทนต์ซีรีส์วายเป็นที่เรียบร้อย เพราะมีการเปิดเผยว่ากว่า 80% ของผู้ชมซีรีส์วายจะต้องเข้ามารับชมคอนเทนต์บน LINE TV นั่นเอง

 

กระแสความนิยมของคอนเทนต์แนวซีรีส์วายเป็นเรื่องที่ LINE TV รู้ดีและเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง โดยได้จัดทำผลการศึกษา Y-Economic Study เพื่อสำรวจพฤติกรรมเชิงพาณิชย์ของผู้ชมซีรีส์ประเภทดังกล่าวในไทย และพบแง่มุมน่าสนใจที่หลากหลาย (ศึกษาและสำรวจโดย LINE Insight)

 

กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า แม้ว่าช่วงแรกผู้ผลิตคอนเทนต์และนักการตลาดส่วนใหญ่จะมีความกังวลในการลงโฆษณาผ่านคอนเทนต์ซีรีส์วาย แต่หลังจากที่ผลตอบรับของตลาดและคนดูดีต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ผู้ผลิตคอนเทนต์จำนวนมากเริ่มหันมาสร้างสรรค์คอนเทนต์วาย และลงโฆษณากันมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

 

โดยกณพระบุว่าจุดที่น่าสนใจจากผลการศึกษาก็คือกลุ่มคนดูซีรีส์วายมีพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ที่ชัดเจนและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มยอดวิวคอนเทนต์เพื่อเพิ่มฐานความนิยมให้กับศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ โดยนอกจากจะรับชมแบบสดๆ บนช่องทีวีปกติเพื่อเรียกเรตติ้งให้กับตัวคอนเทนต์แล้ว ก็จะตามมาดูต่อบนแพลตฟอร์ม OTT อีกช่องทางเพื่อเพิ่มยอดวิว และเก็บรายละเอียดในแต่ละฉากเพิ่มเติม

 

“การใช้จ่ายของกลุ่มคนดูซีรีส์วายเองก็จะมี ‘มุมมองเชิงบวก’ ต่อแบรนด์สินค้าและบริการที่อยู่บนคอนเทนต์ที่ศิลปินที่พวกเขารักและชื่นชอบแสดงเป็นอย่างมาก จนทำให้แฟนๆ ส่วนใหญ่ยินดีที่จะซื้อสินค้านั้นๆ เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนศิลปินที่ตนรัก แม้จะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์และบริการนั้นๆ ก็ตาม 

 

“อย่างไรก็ดี การนำเสนอแบรนด์สินค้านั้นๆ ในซีรีส์ผ่านตัวศิลปินเองก็จะต้องไม่เป็นไปในรูปแบบที่ ‘ยัดเยียด’ จนเกินไป เพราะหากคนดูรู้สึกว่าแบรนด์ไม่เข้ากับศิลปินเมื่อไรก็จะเกิดความรู้สึกเป็นลบ”

 

จุดนี้เองที่กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ LINE TV ปิ๊งไอเดียสานต่อฟีเจอร์ใหม่ ‘As Seen On LINE TV’ เปิดให้แฟนๆ ซีรีส์สามารถเลือกช้อปปิ้งสินค้าที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์ (ตัวอย่างเช่น เสื้อที่นักแสดงหรือศิลปินสวมใส่) ผ่านแพลตฟอร์ม LINE ได้ทันทีในหน้า Wallet ซึ่งถือเป็นการต่อยอดโมเดลทำเงินอีกหนึ่งช่องทาง นอกเหนือจากการมีรายได้จากการลงโฆษณา นอกจากนี้ยังถือเป็นการต่อยอดช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์อีกด้วย

 

รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย ยังบอกต่ออีกว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ LINE TV เป็นมากกว่าแค่แพลตฟอร์ม OTT โดยสามารถช่วยต่อยอดมูลค่าคอนเทนต์และศิลปินได้อย่างมหาศาล เป็นผลมาจากการเป็นแพลตฟอร์มที่มีระบบนิเวศแบบครบวงจรเต็มลูป หรือที่เรียกว่า ‘Enjoyment Journey’

 

โดย LINE ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 47 ล้านคนสามารถโปรโมตกระแสคอนเทนต์ให้จุดติดตั้งแต่ก่อนที่คอนเทนต์นั้นๆ จะเริ่มฉาย ขณะที่ระหว่างรับชมบน LINE TV ก็ยังเปิดโอกาสให้คนดูมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ได้ผ่านการสร้างคอมมูนิตี้ใน Open Chat, การซื้อสินค้า LINE Sticker และเสียงเรียกเข้า LINE Melody ไปจนถึงการจุดกระแสความนิยมสินค้าของแบรนด์ต่างๆ ให้เกิดความต้องการซื้อ

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ปัจจุบันสัดส่วนการรับชมคอนเทนต์บน LINE TV และ TV จะอยู่ที่ประมาณ 30:70 ตามลำดับ แต่ในอีก 4 ปีข้างหน้าหรือราวปี 2567 เขาเชื่อว่าสัดส่วนการรับชมคอนเทนต์ระหว่างสองช่องทางจะปรับเป็นเฉลี่ยเท่าๆ กันที่ 50:50 เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 (การเพิ่มช่องทางให้ผู้ใช้งานชม LINE TV ผ่านโทรทัศน์มีส่วนช่วยเพิ่มฐานผู้ใช้งานกลุ่มที่มีอายุให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มมากขึ้นด้วย) แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี เม็ดเงินโฆษณาจากช่องทางหลักจะยังคงไม่สวิตช์มาที่ OTT ตามสัดส่วนการรับชมที่เท่าๆ กันเลยเสียทีเดียว เนื่องจากยังมีปัจจัยและมิติอื่นๆ ที่เป็นตัวกำหนด

 

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยโดย LINE TV พบว่ามูลค่าตลาดแพลตฟอร์ม OTT ในประเทศไทย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท (นับรวมทั้งโฆษณาและโมเดล Subscription) โดยกณพเชื่อว่าการแข่งขันในปัจจุบัน แพลตฟอร์มจะต้องดึงดูดผู้ใช้งานด้วยการผลิตคอนเทนต์ไทยออกมาให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดจากจำนวนผู้ผลิตคอนเทนต์จึงส่งผลให้การแข่งขันในตลาดนี้มีความดุเดือด แพลตฟอร์มหลายแห่งต่างก็พยายามอัดต้นทุนในการซื้อคอนเทนต์มาฉายบนแพลตฟอร์มตัวเองให้ได้มากที่สุด

 

“ผมเชื่อว่าอีก 2 ปีต่อจากนี้เราน่าจะเริ่มเห็นการแข่งขันของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT อยู่ในระดับที่ ‘คงที่’ มากขึ้น อาจจะมีผู้เล่นบางรายที่ไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจากการแบกรับต้นทุนที่สูง รวมถึงผู้เล่นบางรายอาจจะเริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจนแล้วว่าแพลตฟอร์มของตัวเองควรจะเน้นผลิตคอนเทนต์ประเภทไหนเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มใด”

 

ทั้งนี้ในปี 2562 ที่ผ่านมา LINE TV เผยว่ามียอดผู้ชมที่เป็น Unique Users บนแพลตฟอร์มมากกว่า 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ใช้เวลาเฉลี่ยบนแพลตฟอร์มอยู่ที่ประมาณ 2 ชั่วโมง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising