×

2 ปีแพลตฟอร์มข่าว LINE TODAY คนอ่านพันล้าน หรือนี่คือทางรอดของสำนักข่าวในโลกออนไลน์

22.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • LINE TODAY คือ Hub กลางรวบรวมคอนเทนต์ข่าวที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือจากพาร์ตเนอร์กว่า 120 รายในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหา ‘ข่าว’ เดินทางไปไม่ถึงตัวคนอ่าน การปรับตัวของสื่อเก่าเข้าสู่โลกออนไลน์ที่อาจจะทำได้ยาก
  • เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2559 ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานมากกว่า 32 ล้านคน คิดเป็น 76% ของสัดส่วนผู้ใช้ LINE มีจำนวนการคลิกอ่านมากกว่า 1 พันล้านครั้งต่อเดือน สัดส่วนคอนเทนต์ทั้งหมดแบ่งเป็น 95% จากพาร์ตเนอร์ข่าว และอีก 5% จากการผลิตขึ้นเองของทีมงาน LINE TODAY
  • เคล็ดลับที่ทำให้บริการอ่านข่าวออนไลน์ของพวกเขาประสบความสำเร็จคือ การช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้เข้าถึงบริการได้ง่ายที่สุด บนแชตแอปฯ ของ LINE ในปุ่มที่ 4 และการรวมคอนเทนต์เนื้อหาที่ครอบคลุมทุกด้าน มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ
  • มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคต LINE TODAY อาจจะนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยเลือกและคัดกรองข่าว รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการผลิตข่าวเองให้มากขึ้นกว่า 5%

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะพอทราบกันดีว่าเป้าหมายของ LINE คือการยกระดับพาตัวเองไปให้เป็น Portal Platform หรือแพลตฟอร์มผู้ให้บริการที่อยู่ในทุกภาคส่วนการใช้ชีวิตของผู้คน (คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่)

 

นั่นหมายความว่าตั้งแต่ลืมตาตื่นลุกขึ้นจากที่นอนในตอนเช้า ยันทิ้งตัวลงบนที่นอนอีกครั้งในตอนกลางคืน อย่างน้อยที่สุดบริการของ LINE น่าจะเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนได้ในมิติที่ต่างกันออกไป

 

เช่น แชตแอปพลิเคชัน > LINE CHAT, ขนส่งคมนาคม บริการส่งอาหาร ส่งของ > LINE MAN (LINE TAXI), ชมคอนเทนต์ย้อนหลัง > LINE TV, หางาน > LINE JOBS และแน่นอน อ่านข่าว > LINE TODAY

 

 

หลังเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2559 (2 ปี) ผ่านมาจนถึงวันนี้ แพลตฟอร์มอ่านข่าวออนไลน์ ‘LINE TODAY’ มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว แบ่งเป็นสถิติที่น่าสนใจได้คร่าวๆ ดังนี้

 

  • ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 32 ล้านคน คิดเป็น 76% ของสัดส่วนผู้ใช้ LINE ในตอนนี้ (ประมาณ 42 ล้านคน) และ 71% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยทั้งหมด
  • กลุ่มผู้อ่านส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 25-34 ปีเป็นหลัก
  • มีจำนวนการคลิกอ่านมากกว่า 1 พันล้านครั้งต่อเดือน
  • ผู้อ่านหนึ่งคนจะมีจำนวนเฉลี่ยการอ่านคอนเทนต์มากกว่า 38 เรื่องต่อเดือน
  • ด้านการทำงานกับพาร์ตเนอร์สำนักข่าวอื่นๆ ในประเทศ ปัจจุบัน LINE TODAY มีพันธมิตรมากกว่า 120 ราย
  • เนื้อหาบนแพลตฟอร์มทุกวันนี้ในสัดส่วน 95% มาจากการผลิตของฝั่งพาร์ตเนอร์ ส่วนอีก 5% เป็นผลงานการผลิตโดยฝั่งทีมงานของ LINE TODAY เอง
  • นำข่าวขึ้นบนแพลตฟอร์มประมาณวันละ 600-700 ข่าว
  • 8-10% คือสัดส่วนที่ผู้ใช้จะคลิกกลับเข้าไปอ่านข่าวอื่นๆ บนเว็บไซต์ต้นทางของสำนักข่าวนั้นๆ
  • ผลสำรวจระบุว่า 50% ของผู้อ่านให้ความสนใจ AD โฆษณาต่างๆ บนแพลตฟอร์ม

 

ตัวเลขข้างต้นและสถิติที่ยกมาอ้างอิงนี้กำลังบอกอะไรกับเรา ทำไมต้องเป็น ‘ข่าว’ และทำไมต้องเป็น LINE TODAY

 

 

กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทยให้เหตุผลถึงจุดเริ่มต้นที่ LINE ลงมาจับตลาดการอ่านข่าวนั้น เนื่องจากในปัจจุบันมีช่องทางอ่านข่าวออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทำให้ความสามารถส่งสารและกระจายคอนเทนต์ไปยังผู้อ่านทำได้ยาก

 

เช่นเดียวกันในมุมผู้บริโภคเองก็รู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถเลือกอ่านข่าวได้ครอบคลุม ไม่สะดวกสบายกับการคลิกเข้าเว็บไซต์ข่าวหลายๆ เว็บ ขณะที่ฝั่งคนทำคอนเทนต์ สำนักข่าว สำนักพิมพ์ ก็จะรู้สึกว่าปัญหาการแข่งขันที่ดุเดือด ค่าใช้จ่ายการจัดส่ง รวมถึงยอดการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ที่ลดน้อยถอยลงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเติบโตขององค์กรสื่อในยุคดิจิทัลอาจจะทำได้ยาก

 

ด้วยเหตุนี้ ในฐานะที่แชตแอปพลิเคชันของตนเป็นที่นิยมมากๆ ในหมู่คนไทย จึงเปิดตัว LINE TODAY ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นที่กล่าวมาทั้งหมด และเพื่อเป็น ‘ฮับ’ (Hub) ศูนย์กลางสำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์และผู้บริโภคคอนเทนต์ในปัจจุบัน เพื่อที่จะได้กระจายคอนเทนต์ต่างๆ ไปยังผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

 

กวินบอกว่า “20 ปีที่ผ่านมา เรารู้กันอยู่แล้วว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมสื่อในปัจจุบันค่อนข้างวิกฤตพอสมควร พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้คนทำธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ก็ถูก Disrupted เป็นอย่างมาก เนื่องจากคนมีอินเทอร์เน็ตอยู่ในมือทำให้ใครก็ผลิตคอนเทนต์ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้มีคู่แข่งมากขึ้น ที่สำคัญการกระจายคอนเทนต์ไปถึงมือผู้บริโภค หรือการปรับตัวมาออนไลน์ก็ทำได้ยาก ต้องซื้อโฆษณาเยอะมาก (Boost Post) เพื่อขับเคลื่อน Awareness เช่นเดียวกับยอด Spending สื่อโฆษณาก็เริ่มลดน้อยลง

 

“ฝั่งผู้อ่านจะพบว่าสื่อข่าวออนไลน์ทุกวันนี้มีคอนเทนต์ให้อ่านมากมายเยอะไปหมด แต่ไม่รู้ว่าเจ้าไหนเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน บางส่วนก็ยังไม่รู้ว่าจะเข้าถึงและอ่านอย่างไร ขณะที่หน้าฟีดบนโซเชียลมีเดียก็มีส่วนช่วยทำให้คนอ่านข่าวน้อยลง เหตุผลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลทำให้ LINE ต้องลุกขึ้นมาทำ LINE TODAY เพื่อรวบรวมข่าว คอนเทนต์ที่ ‘น่าเชื่อถือ’ มาอยู่ในแพลตฟอร์มให้คนได้อ่าน”

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ LINE TODAY ประสบความสำเร็จมากๆ ในช่วงระยะเวลาแค่ 2 ปี (ปีที่ผ่านมามี Growth Rate อยู่ที่ประมาณ 20%) โดยไม่ต้องพึ่งการโปรโมตหรืออาศัยการประชาสัมพันธ์ใดๆ เลย นอกเหนือจากการมีฐานที่แข็งแรงอย่าง LINE Application นั้น กวินบอกว่าเป็นเพราะ LINE TODAY ถูกจัดให้อยู่ในปุ่มลำดับที่ 4 บนหน้าอินเทอร์เฟซแอปฯ LINE จึงทำให้ง่ายต่อการใช้งานของผู้บริโภค

 

 

“ปัจจัยหลักๆ ที่คนเลือกอ่านข่าวบน LINE TODAY เพราะว่า ข้อมูลข่าวอัปเดตเร็ว เข้าถึงง่าย ใช้ได้สะดวกสบาย ไม่ต้องเข้าเว็บ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความหลากหลายของรูปแบบเนื้อหาและพาร์ตเนอร์อีกด้วย”

 

2 ปีผ่านไป กลยุทธ์ต่อไปในวันพรุ่งนี้ LINE TODAY จะเดินไปอย่างไร

ที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีแพลตฟอร์มอ่านข่าวบน LINE เหมือนกัน แต่ใช้ชื่อที่ต่างออกไปว่า ‘LINE News Digest’ ในขณะที่ 3 ตลาดหลักที่เหลืออย่างไทย อินโดนีเซีย ไต้หวัน จะใช้ชื่อว่า LINE TODAY เหมือนกันหมด และเตรียมเปิดตัวที่ฮ่องกงอีกในเร็วๆ นี้

 

และก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใดที่กวินและ ชรัตน์ เพ็ชรธงไชย หัวหน้าธุรกิจ LINE TODAY ประเทศไทย จะบอกกับเราว่า ตอนนี้ LINE TODAY เวอร์ชันไทยมียอดผู้ใช้งานสูงเป็นลำดับที่ 2 เป็นรองเพียงแค่ญี่ปุ่นประเทศเดียวเท่านั้น!

 

 

ชรัตน์บอกว่า วัตถุประสงค์หลักของ LINE TODAY คือการเป็นศูนย์กลางการช่วยให้อ่านคอนเทนต์ได้ง่ายๆ จากแหล่งข่าวต้นทาง (สำนักข่าวและพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตคอนเทนต์) ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ

 

“เราไม่สามารถผลิตคอนเทนต์ได้เอง 100% จึงต้องอาศัยการร่วมงานจากพาร์ตเนอร์เพื่อให้ส่งต่อคอนเทนต์ไปยังคนอ่านได้มากที่สุด แบ่งเป็นสัดส่วนคอนเทนต์จากพาร์ตเนอร์ 95% และอีก 5% เป็นคอนเทนต์จาก LINE TODAY ที่ทั้งผลิตเองและร่วมกันผลิตกับพาร์ตเนอร์ (Co-creation)”

 

 

ในจำนวน 5% นี้เองที่ LINE TODAY ประกาศว่าปีนี้จะมีรายการข่าวและคอนเทนต์รายการใหม่ๆ ที่น่าสนใจออนแอร์อีกมาก ตัวอย่างเช่น

  • HEADLINE TODAY รายการเล่าข่าวในบรรยากาศที่เป็นกันเอง นำโดย จั๊ด-ธีมะ กาญจนไพริน
  • ทอมก้องร้องทุกข์ รายการที่ครูทอม-จักรกฤต โยมพยอม จะพาไปลงพื้นที่สำรวจปัญหาชีวิตคนเมืองในมุมต่างๆ
  • อาม่า แอนด์ เดอะแก๊ง รายการที่มีผู้ดำเนินรายการเป็นอาม่า พาไปสำรวจไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ
  • ข่าวเด็ดเด็กตอบ รายการที่ชวนไปดูคำตอบและความคิดเห็นของเด็กๆ ที่มีต่อประเด็นร้อนแรงในสังคม
  • เลือกได้เลือกดี เมื่อ จ๋า-ณัฐฐาวีรนุช ทองมี จะพาไปเลือกเคล็ดลับการใช้ชีวิตในแบบของเธอ

 

ถึงอย่างนั้นก็ดี กวินก็บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าแม้จะประสบความสำเร็จในเชิงตัวเลขยอดผู้ใช้และระยะเวลาการอ่าน แต่ปัจจุบัน LINE TODAY ยังไม่คืนทุนแต่อย่างใด ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญหรืออุปสรรค เพราะตอนนี้สิ่งที่ตนและทีมงานกำลังโฟกัสคือการสร้างฐานผู้ใช้ให้ได้มากที่สุดเป็นหลักก่อน

 

“เป้าหมายหลักตอนนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการคืนทุนหรือไม่คืนทุน แต่อยู่ที่การเพิ่มสเกลผู้ใช้งาน ยอดเพจ และยอดขายโฆษณามากกว่า หน้าที่สำคัญของเราในตอนนี้คือการเพิ่มเอ็นเกจเมนต์ และช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ให้ผู้ผลิตสื่ออีกช่องทาง

 

“เราอยากช่วยกระจายช่องทางการอ่านคอนเทนต์ให้มาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ตอนนี้ผู้ผลิตสื่อหลายเจ้ามีความพยายามจะผลักตัวเองให้มีรายได้ทางฝั่งออนไลน์เพิ่มขึ้นเท่ากับฝั่งออฟไลน์ เราเชื่อว่าตัวเองเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ในฝั่งออนไลน์”

 

ทีมผู้บริหาร LINE TODAY มองว่าเป้าหมายในระยะสั้นคือการเพิ่มยอดผู้ใช้ให้สูงขึ้นอีก 10 ล้านราย หรือเทียบเท่า LINE นั่นเอง แต่ยอมรับว่าการลดช่องว่างดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ง่ายแน่นอน เพราะผู้บริโภคบางส่วนอาจจะยังมีพฤติกรรมไม่คุ้นเคยกับบริการอื่นๆ จาก LINE จึงทำให้ปีนี้ Growth Rate ของจำนวนผู้ใช้อาจจะอยู่ที่เลขหลักเดียวปลายๆ เท่านั้น

 

อีกหนึ่งจุดแข็งของ LINE TODAY ที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้อ่าน ตลอดจนฝั่งแบรนด์ เอเจนซีที่เริ่มตบเท้ามาลงโฆษณามากขึ้นนั้น เป็นเพราะทีมงานให้ความสำคัญกับการเลือกคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือมาลงบนแพลตฟอร์ม เพื่อแก้ปัญหาข่าวปลอม หรือ Fake News ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้ภาพลักษณ์ส่วนหนึ่งของ LINE TODAY กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือมากขึ้นไปด้วย

 

โดยกวินและชรัตน์ให้ข้อมูลว่า ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีความเป็นไปได้ในการนำปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งถูกพัฒนาโดยบริษัทแม่ NAVER มาใช้ประโยชน์คัดกรองและเลือกเผยแพร่ข่าวต่างๆ แต่คงยังไม่ใช่เร็วๆ นี้เนื่องจากความสามารถของ AI ในปัจจุบันอาจจะยังไม่เข้าใจภาษาไทยได้เต็ม 100% หรือยังมีช่องโหว่ในการสแกนข่าวปลอมอยู่บ้าง

 

เมื่อถามถึงโอกาสที่ LINE TODAY จะจริงจังกับการทำคอนเทนต์ของตัวเองในอนาคต และเพิ่มสัดส่วนจาก 5% ให้เพิ่มขึ้นได้ไหมนั้น กวินไม่ปฏิเสธถึงโอกาส แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของแพลตฟอร์ม

 

“5% ตรงนี้ยังถือเป็นสัดส่วนที่เราอยากจะลองเรียนรู้ถูก-ผิดดูก่อน เราไม่รู้ว่าสัดส่วนนี้จะโตขึ้นมากน้อยขนาดไหน มันขึ้นอยู่กับว่าเราประสบความสำเร็จแค่ไหนด้วย แต่มันก็เป็นช่องว่างที่เราเห็นในตลาดอยู่ว่าน่าสนใจที่จะลงมาทำ เพราะตอนที่เราไปทำรีเสิร์ชก็พบว่า เด็กยุคใหม่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ค่อยอ่านข่าว แต่เล่นโซเชียลอยู่ตลอดเวลา เราเลยมองว่า LINE TODAY น่าจะทำข่าวในรูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลายและน่าสนใจมากขึ้น” กวินกล่าวทิ้งท้าย

 

นอกเหนือจากเรื่องการลงทุนกับแพลตฟอร์มผลิตคอนเทนต์ข่าวที่น่าสนใจใหม่ๆ นั้น LINE TODAY ยังบอกอีกด้วยว่า ในอนาคตพวกเขาจะพยายามดีลพาร์ตเนอร์สื่อเข้ามาร่วมงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้คอนเทนต์บนแพลตฟอร์มครอบคลุมเนื้อหาทุกประเภท

 

ต้องยอมรับว่าแนวคิดของ LINE TODAY ในการทำแพลตฟอร์มรวมบทความข่าวและคอนเทนต์มาไว้ในที่เดียวคือโมเดลที่น่าสนใจและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook เองก็เคยได้รับคำชื่นชมในกรณีที่คล้ายคลึงกัน (ช่วยเป็นแพลตฟอร์มให้สื่อกระจายคอนเทนต์)

 

ขณะที่ปัจจุบันเฟซบุ๊กกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการเปลี่ยนนโยบายต่างๆ เช่นการปรับลดอัลกอริทึมการแสดงผลบนหน้านิวส์ฟีด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ แบรนด์ต่างๆ เอามือก่ายหน้าผาก หนีตายพร้อมปรับตัวกันยกใหญ่อีกครั้ง

 

นี่จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าวันใดวันหนึ่งข้างหน้า หาก LINE TODAY ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากขึ้นมา พวกเขาจะผูกขาดตลาดคอนเทนต์ข่าวหรือไม่? จะปรับเปลี่ยนนโยบายที่สร้างผลกระทบอุตสาหกรรมสื่อหรือเปล่า? และเป็นไปได้ไหมที่ LINE จะลงทุนทำสำนักข่าวของตัวเองอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต?

FYI
  • ในช่วงเริ่มต้น LINE TODAY มีหมวดข่าวให้อ่านแค่ 4 หมวดเท่านั้น คือ ข่าว (ทั่วไป), บันเทิง, ไลฟ์สไตล์, ธุรกิจ แต่ปัจจุบันมีการเปิดหมวดข่าวย่อยรวมมากกว่า 10 ประเภทแล้ว (ทีวี, ดูดวง, วิดีโอ, กีฬา, สุขภาพ, แฟชั่น-บิวตี้, ไอที-เทค)
  • ประเภทคอนเทนต์ที่มีคนอ่านมากที่สุดบน LINE TODAY ในปัจจุบัน เรียงตามลำดับความนิยมคือ ข่าว (ทั่วไป), การเมือง, โซเชียล, บันเทิง, ดูดวง, กีฬา และไลฟ์สไตล์
  • เกณฑ์ในการเลือกข่าว ทีมงาน LINE TODAY จะเป็นคนเลือกข่าวที่พาร์ตเนอร์กว่า 120 รายส่งฟีดมาให้ โดยจะเลือกจากข่าวที่มีความสมบูรณ์ในด้านเนื้อหาและมีคุณภาพ ความเร็วหรือช้าในการนำเสนอไม่มีผล และจะพยายามเกลี่ยให้พาร์ตเนอร์ทุกรายได้พื้นที่ข่าวเท่าๆ กัน
  • ช่วงเวลาท่ี่คนอ่าน LINE TODAY มากที่สุดคือช่วงเวลาคนเลิกงาน หรือเย็นๆ ค่ำๆ เป็นต้นไป
  • ประเภทโฆษณาบน LINE TODAY แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ Native Ads (Google AdSense) แบนเนอร์โฆษณา และบทความ Advertorial
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising