×

ยอดขายสติกเกอร์ไทยพุ่ง 38% ครีเอเตอร์ทำรายได้หลักแสนต่อเดือน

12.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ปี 2560 อัตราการซื้อสติกเกอร์ของผู้ใช้ LINE ในประเทศไทยโตขึ้น 38% แซงหน้าญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศหลัก ปัจจุบันมีครีเอเตอร์มากกว่า 2 แสนรายแล้ว
  • LINE เดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อให้สติกเกอร์เข้าถึงผู้ใช้งาน
  • อาชีพนักวาดสติกเกอร์ LINE ทำรายได้งาม บางคนมีรายได้เฉลี่ยถึง 2 แสนบาทต่อเดือน สูงสุดได้ถึง 8 แสนบาท

LINE ประเทศไทยเผย ปี 2560 ที่ผ่านมาอัตราการซื้อสติกเกอร์ของผู้ใช้ในประเทศไทยเติบโตขึ้น 38% แซงหน้าญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซียขึ้นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศผู้ใช้งานหลัก โดยปัจจุบันมีจำนวนครีเอเตอร์นักสร้างสรรค์ผลงานสติกเกอร์มากกว่า 245,000 รายแล้ว เติบโตขึ้นจากปี 2559 ถึง 155%

 

กณพ ศุภมานพ หัวหน้าธุรกิจ B2C บริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม LINE มีอัตราการเติบโตของยอดซื้อสติกเกอร์ 38% เมื่อเทียบกับปี 2016 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในตลาด LINE Sticker 4 ประเทศหลักได้แก่ ญี่ปุ่น, ไทย, ไต้หวัน และอินโดนีเซีย มีจำนวนผู้ซื้อสติกเกอร์และผู้ใช้งานของ Paid Sticker สูงขึ้น 20% ส่วนสถิติเฉลี่ยการซื้อสติกเกอร์ในปี 2561 พบว่าอยู่ที่ 8.1 เซตต่อคน เติบโตขึ้น 17% จากสถิติเฉลี่ยการซื้อ 6.9 เซตต่อคน ในปี 2560

 

 

ปัจจุบันแอปพลิเคชันไลน์มีผู้ใช้ทั้งหมดประมาณ 42 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 95% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

 

กณพบอกว่า “ธุรกิจสติกเกอร์ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น มีการเติบโตที่สูงมาก และ LINE จะยังคงจัดแคมเปญการตลาดหลายๆ อย่างเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้ ‘LINE Sticker’ เติบโตได้มากกว่านี้ อย่างปีที่ผ่านมาเราก็สร้างการรับรู้การใช้แพลตฟอร์ม LINE Creators Market ซึ่งมีส่วนทำให้นักสร้างสรรค์สติกเกอร์โตขึ้นจากปี 2016 ที่ 155% โดยปัจจุบันมีจำนวนครีเอเตอร์ทั้งหมด 245,000 คน มีจำนวนสติกเกอร์ที่ถูก submit เข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนสติกเกอร์ที่เข้ามาจำหน่ายในระบบก็เพิ่มขึ้นถึง 33% ด้วย”

 

 

6 กลยุทธ์ดันสติกเกอร์ไลน์ขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ขายดี

สถิติที่น่าสนใจจาก LINE ประเทศไทยพบว่า คนไทยประมาณ 30% ไม่รู้ว่าจะซื้อสติกเกอร์ได้ที่ไหน ส่วนอีกเกือบๆ 30% ไม่ซื้อสติกเกอร์เพราะไม่มีบัตรเครดิต สะท้อนให้เห็นว่ายังต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ใช้งานอีกมาก นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ LINE เลือกขยายช่องทางการซื้อสติกเกอร์ให้ง่ายขึ้นกว่าเดิมในปี 2560 ที่ผ่านมา และยังป้องกันระบบพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่อาจจะส่งผลต่อการทุจริตด้วย 6 กลยุทธ์ คือ

 

1. เปิดให้ซื้อสติกเกอร์ผ่านบิลรายเดือน ‘Postpaid Unlock’ ผ่าน AIS ในช่วงกลางปี 2560 ซึ่งเพียงแค่เดือนที่ 2 ของการเปิดตัว ยอดซื้อผ่านระบบนี้ก็สูงกว่า 80% ของผู้ใช้ AIS ทั้งหมดที่เคยมีมา

 

2. เปิดขายบัตรเติมเงิน LINE Prepaid Pin Code ที่ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซึ่งมี 10,350 สาขาทั่วประเทศ พร้อมขยายช่องทางการเติมเงินไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Tesco Lotus, FamilyMart และ Lazada

 

3. ใช้กลยุทธ์ด้านราคา โดยเพิ่มทางเลือกใหม่ของ LINE Coin คือ 30 บาทและ 60 บาทที่ตู้เติมเงินบุญเติม จากเดิมที่มีจำหน่ายแค่ 100 บาทราคาเดียว

 

 

4. ใช้ตู้เติมเงินเป็นช่องทางซื้อสติกเกอร์ ทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยและสะดวกกับการซื้อผ่านเงินสดมากขึ้น และปัจจุบันมีจำนวนพาร์ตเนอร์มากกว่า 100,000 ตู้แล้ว ช่วยขยายฐานลูกค้าสติกเกอร์เพิ่มขึ้น 70% โดยคนซื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างจังหวัดเป็นหลัก

 

5. เปิดตัว LINE Giftshop ต่อยอดสติกเกอร์ให้กลายเป็นสินค้าที่จับต้องได้เข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย ตอนนี้มีไอเท็มจากครีเอเตอร์มากกว่า 88 รายการแล้ว มีจำนวนธุรกรรมมากกว่า 1,350 ครั้ง รายรับรวมมากกว่า 700,000 บาท เติบโตเร็วมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือนแรกที่มีสินค้าจำหน่ายเพียง 10 ชิ้นเท่านั้น LINE ตั้งใจจะปั้นช่องทางนี้ให้กลายเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากเหล่าครีเอเตอร์ด้วย

 

6. ส่งเสริมให้ครีเอเตอร์กลายเป็นอาชีพสำหรับคนรุ่นใหม่ ผลักดันให้ได้ร่วมงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น การวาดสติกเกอร์ตัวละครจากค่าย Disney ในเวอร์ชันประเทศไทย

 

สำหรับแผนธุรกิจปี 2561 นี้ LINE จะยังให้ความสำคัญกับการขยายช่องทางการวางจำหน่ายเพิ่มเติมเช่นเคย และจะนำข้อมูลการซื้อสติกเกอร์ของผู้ใช้มาปรับให้เป็นฟีเจอร์การนำเสนอสินค้าสติกเกอร์ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละคนมากขึ้น (BCRM)

 

 

ครีเอเตอร์สติกเกอร์ไลน์ไม่ใช่แค่อาชีพฟรีแลนซ์อีกต่อไป

ปัจจุบันอาชีพนักวาดการ์ตูนสติกเกอร์ไลน์ไม่ใช่แค่ช่องทางหารายได้พิเศษเล็กๆ น้อยๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะบางเดือนที่ผลงานของพวกเขาขึ้นมาเป็น Best Seller อันดับ 1 ได้ ก็จะมีรายได้เฉลี่ยจากช่องทางนี้มากกว่าประมาณ 400,000-800,000 บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้โดยเฉลี่ยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าสูงมาก

 

ด้านเจ้าของสติกเกอร์ Nomyen, Circle Dukdik และ Warbie Yama มองว่าการสร้างสติกเกอร์ขึ้นมาให้เป็นที่นิยมในยุคนี้ บางครั้งอาจจะไม่ได้วัดกันแค่ความสวยงามและความเนี้ยบของลายเส้นเท่านั้น แต่อยู่ที่การตีโจทย์ตัวคาแรกเตอร์ให้ดึงดูดเข้าถึงคนด้วยวิธีง่ายๆ ต้องรู้จักสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้ LINE ในปัจจุบัน เช่น ผู้สูงอายุอาจจะนิยมการส่งภาพพร้อมข้อความ ‘สวัสดีวันจันทร์’ ส่วนผู้ใช้งานกลุ่มวัยรุ่นอาจจะชอบสติกเกอร์ท่าทางกวนๆ มีอารมณ์ขัน การนำข้อมูลเหล่านี้มาประยุกต์สร้างสติกเกอร์ ก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการวาดคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ซื้อได้

 

 

นอกจากนี้ต้องรู้จักการต่อยอดคาแรกเตอร์ให้เกิดมูลค่าที่มากขึ้นกว่าการจำหน่ายแค่สติกเกอร์ผ่านการผลิตสินค้าที่ระลึก (Physical Product) ซึ่งเป็นรูปแบบการทำการตลาด Online to Offline ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากๆ คือคาแรกเตอร์ Warbie Yama (เจ้านกหน้าเหวี่ยง) ที่มีสินค้าวางจำหน่ายหลากหลายรูปแบบและเป็นที่รู้จักไปแล้วทั่วโลก

 

ในยุคดิจิทัลนี้ มีอาชีพที่ถูกลดบทบาทลงไปตามตลาดและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย สิ่งสำคัญคือต้องเปิดใจให้กับการเรียนรู้และการทำสิ่งใหม่ อาชีพครีเอเตอร์จึงเป็นตัวอย่างที่ดี และพิสูจน์ว่าศิลปินไม่ได้ไส้แห้งกันทุกคน

 

ผลงานดี ก็มีโอกาสเสมอ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X