LINE ประเทศไทยประกาศราคาแพ็กเกจล่าสุดของ LINE Official Account ใหม่แล้ว โดยบัญชีของผู้ใช้งานยังแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ประเภทใช้งานฟรี สามารถส่งข้อความได้ไม่เกิน 1,000 ข้อความต่อเดือน ซึ่งทุกแพ็กเกจจะคิดการส่งข้อความ 1 ประเด็น ไปถึงผู้รับข้อความ 1 ราย เป็น 1 ข้อความเสมอ
2. ประเภท Basic ปรับราคาเพิ่มจาก 500 บาท เป็น 1,200 บาทต่อเดือน สามารถส่งข้อความได้ 15,000 ข้อความ หากส่งข้อความเกินโควตาจะคิดค่าบริการ 8 สตางค์ต่อข้อความ และ
3. ประเภท Pro ยังคงราคาเดิมที่ 1,500 บาทต่อเดือน ส่งข้อความได้ 35,000 บาทต่อเดือน หากส่งข้อความเกินโควตาจะคิดค่าบริการ 4 สตางค์ต่อข้อความ
โดยทาง LINE ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน LINE Official Account สูงถึง 3 ล้านราย โดยมี 1.3 ล้านราย อยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และ 1.8 แสนราย อยู่ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร จากนี้จะได้พบกับบริการ LINE OA Plus และ OA Plus E-Commerce ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้าโดยตรงผ่าน LINE Official Account ของแบรนด์ โดยไม่ต้องใช้แอปพลิเคชันอื่น นอกจากนี้จะมีบริการใหม่อย่าง OA x LINE MAN ที่สามารถเชื่อมต่อบริการ LINE MAN เข้ากับ Official Account ของธุรกิจตนเองได้
ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร นักวิชาการด้านการตลาดให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการรายย่อยควรจะมีแผนสำรองทางธุรกิจ (Contingency Plan) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด รวมทั้งการปรับขึ้นของต้นทุนดังกล่าวด้วย เนื่องจาก LINE เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้อย่างแพร่หลาย และยังไม่มีคู่แข่งของ Line Official Account ในลักษณะเดียวกัน ทำให้สภาพการแข่งขันคล้ายกับการผูกขาด อำนาจต่อรองเป็นของผู้ขาย เพราะใครๆ ต่างก็อยากโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่าน LINE
หากผู้ประกอบการรวมตัวกันหันไปใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ทั้งจากโซลูชันของ Facebook, Google หรือผู้ให้บริการอื่นๆ จนส่งผลกับธุรกิจของ LINE เกมธุรกิจก็จะเปลี่ยน โดยอำนาจต่อรองจะอยู่ในมือของผู้ซื้อแทนตามกลไกตลาด แต่ในขณะนี้ยังไม่เกิดเรื่องดังกล่าว เพราะผู้ประกอบการอาจจะยังไม่ได้เตรียมแผนสำรองทางอื่นเอาไว้ ดังนั้น จึงควรมองหาช่องทางในการสื่อสารการตลาดที่ดี เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในราคาที่ไม่มากกว่าเดิมหรือถูกลงเอาไว้ด้วย
ผศ.ดร.วิเลิศ ประเมินกลยุทธ์การตั้งราคาใหม่ของ LINE ว่า เป็นการใช้หลักการตลาดเรื่องราคาอ้างอิง โดยปรับราคาแพ็กเกจ Basic เพิ่มขึ้นเป็น 1,200 บาท จากเดิมเพียง 500 บาท ทำให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบกับแพ็กเกจ Pro ที่ราคา 1,500 บาท และอาจคิดว่าแพ็กเกจ Pro นั้น ‘คุ้มค่า’ กว่า เพราะจ่ายเงินเพิ่มอีกเพียง 300 บาทเท่านั้น แต่ได้ผลประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยที่ราคา 1,200 บาท คือตัวเปรียบให้เกิดการตัดสินใจเลือกเท่านั้น (Switching Point) ซึ่งสินค้าและบริการต่างๆก็มักจะใช้กลยุทธ์นี้กัน
อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์ดังกล่าวควรพิจารณาให้รอบด้านว่า ท้ายที่สุดรายได้โดยรวม (Total Revenue) เพิ่มขึ้นหรือไม่ หากราคาขายต่อรายเพิ่มขึ้น แต่จำนวนลูกค้าหายไปมาก รายได้ที่ได้มาอาจจะลดลงจากเดิมก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องระวัง เพราะถึงมีราคาเปรียบเทียบให้เห็นทางเลือกที่คุ้มกว่า แต่ถ้าเกินความสามารถที่จะซื้อได้ ก็ไม่เกิดยอดขายอยู่ดี
นักวิชาการด้านการตลาดแนะนำว่า LINE ควรจะมีกิจกรรมดิจิทัลเพื่อสังคม (Digital Social Responsibility: DSR) บ้าง เพื่อทำให้ผู้บริโภครักและผูกพันกับแบรนด์ อาจทำได้ทั้งการให้ส่วนลดหรือข้อเสนอพิเศษองค์กรไม่แสวงหากำไร สถาบันการศึกษา สถานพยาบาล และองค์กรที่ทำเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือกิจกรรมที่ช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในโลกดิจิทัล เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล