LINE Hospitality Tech 2021 งานใหญ่ส่งท้ายปีที่จัดขึ้นเพื่อจุดประกายความคิดคนในแวดวงอุตสาหกรรมบริการหรือ Hospitality ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว และด้านการแพทย์และสุขภาพของไทย โดยดึงผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนมากมายมาร่วมเปิดโรดแมป เจาะลึกประเด็นสำคัญที่จะทำให้ไทยกลับมาเป็นจุดหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกครั้ง รวมถึงอัปเดตเทรนด์สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวและสุขภาพยุคใหม่หลังเปิดประเทศ เพื่อเป็นแนวทางรับมือและฟื้นฟูธุรกิจบริการของไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 2.4 แสนคน
งาน LINE Hospitality Tech 2021 ได้รับเกียรติจาก ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยถึง ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนของคนไทยที่ครอบคลุมถึง 70% แล้ว จึงมองว่าเป็นช่วงเวลาที่สมดุลที่ไทยสามารถเปิดประเทศเพื่อผ่อนคลาย และช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถเริ่มดำเนินกิจการได้ ตามแผนปฏิบัติการรองรับการเปิดประเทศและรองรับการแพร่ระบาดของโควิดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Living with COVID-19) ที่มุ่งเน้นกำกับดูแลใน 3 เรื่อง คือ
- ความมีวินัยของประชาชน
- ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ
- การฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมมากที่สุด
อีกทั้งกระทรวงฯ ยังได้เตรียมมาตรการอื่นๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ เช่น นโยบาย Medical Hub เพื่อรับเทรนด์ ‘การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ โดยใช้สมุนไพรไทยเป็นตัวชูโรง วางเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมผ่อนคลายไปกับสมุนไพรไทยในแต่ละท้องถิ่น ถือเป็นการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการผลิตสมุนไพรไทย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชนไปด้วยในตัว
ส่วนมุมมองและแนวทางในการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยนั้น ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เผยว่า ไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในเชิงรายได้จากการท่องเที่ยว จากเกือบ 3 ล้านล้านบาทในปี 2562 สู่ 3 แสนล้านบาทในปี 2564 ที่ผ่านมาแล้ว ต่อไปนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟู โดยต้องลุกให้เร็ว ก้าวให้ไว ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้มีคุณภาพ (High Value) และยั่งยืน (Sustainable) มุ่งเป้าปีหน้าฟื้นคืนรายได้ด้านการท่องเที่ยวประมาณ 50% ของยอดในปี 2562 หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และ 80% ในปี 2565 ตามลำดับ
สำหรับแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยจะมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ อันประกอบไปด้วย
- การทำการตลาดที่ตอบสนองความต้องการนักท่องเที่ยว โดยนำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจและทำการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ โดยมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง เน้นการท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์อันแตกต่างและมีเอกลักษณ์ได้ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี
- เปลี่ยนวิถีการทำงาน สร้างให้เกิดความร่วมมือในการลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น พลิกโฉมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสู่ Digital Tourism อย่างแท้จริง
ด้านบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการและวางกลยุทธ์ธุรกิจระดับโลก Boston Consulting Group (BCG) ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นตัวเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2567 โดยเทรนด์ผู้บริโภคไทยที่น่าสนใจที่ถือเป็นโอกาสใหม่ในการปรับตัวธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ได้แก่
- การสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ ตอบรับความต้องการของ Gen Y และ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เดินทางท่องเที่ยว
- การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือสุขภาพ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดย BCG คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทยน่าจะเติบโตถึง 13% ภายในปี 2570
- การปรับตัวสู่การตลาดยุคใหม่ด้วยการใช้โซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมาก
- การให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม นำนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ เทคโนโลยี AR ห้องประชุมแนว Virtual ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใส่ใจในเรื่องความสะอาด สุขอนามัย มาเป็นจุดขายสำคัญ
- คอนเซปต์โรงแรมแนวใหม่ Hotel+ ที่มีการผสานความร่วมมือกับธุรกิจรูปแบบอื่นๆ ปรับสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ครบวงจร ไม่ใช่แค่เพียงที่พักเพียงอย่างเดียว เช่น ศูนย์บริการ Co-Working Space ศูนย์บริการด้านสุขภาพ หรือแหล่งห้างร้านสำหรับช้อปปิ้งรวมไว้ในที่เดียว เป็นต้น
อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานคือการพูดคุยถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ใน ‘PANEL TALK: THE ARRIVAL OF TRAVELLERS POST-PANDEMIC’ จากตัวแทนองค์กรในแวดวงการตลาด ทั้ง Mindshare และ Bangkok Writer & Partners รวมถึงตัวแทนกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพอย่าง โรงพยาบาลพระราม 9 มาอัปเดตถึงผลกระทบโควิด-19 ต่อภาพรวมธุรกิจ ทั้งในเชิงรายได้และเม็ดเงินโฆษณาที่ติดลบ ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับผู้บริโภคในรูปแบบออนไลน์ และเห็นการเติบโตของ Soft Power หรือการใช้กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น หรือแม้กระทั่งการปรับตัวมาใช้สื่อดิจิทัลในการเข้าถึงลูกค้าของโรงพยาบาล อีกทั้งยังเผยเทรนด์ที่น่าจับตา เทคนิคและชั้นเชิงต่างๆ รวมถึงการเข้าถึงผู้บริโภคในยุค Now Normal โดยมีความท้าทายในการทำแคมเปญท่องเที่ยวในปีนี้ ที่ต้องเปลี่ยนนิยามของการท่องเที่ยวไปเน้นความสุขของผู้คน โดยเชิญชวนให้ผู้คนออกมาท่องเที่ยวในรูปแบบความสุขต่างๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐ ที่ต้องสื่อสารไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งการเชื่อมโยงความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อสร้างพลังในการสื่อสารกับลูกค้า ซึ่งการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ และ Social Commerce มีส่วนผลักดันการใช้จ่ายและทำให้การท่องเที่ยวของไทยเติบโต
ในงานยังมีการพูดคุยในหัวข้อน่าสนใจอื่นๆ ที่เสนอมุมมองและแนวทางการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเติบโตสำหรับผู้ประกอบการ Hospitality โดยเฉพาะ อาทิ ทิศทางการเติบโตและเทรนด์สำคัญของธุรกิจท่องเที่ยว ตัวอย่างการขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ ฯลฯ และสำหรับกลุ่มธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ เช่น แนวทางการพัฒนาการแพทย์ไทยสู่ Healthtech รวมถึงช่องทางใหม่อย่าง LINE OpenChat ที่กลายเป็นศูนย์กลางการสื่อสารบนโลกออนไลน์ในหลายหน่วยงานการแพทย์ในปัจจุบัน
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) LINE ประเทศไทย เผยถึงความสำคัญของการจัดงาน LINE Hospitality Tech 2021 ในครั้งนี้ว่า “หลังจากรัฐมีนโยบายเปิดประเทศและคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศกว่าล้านคน ย่อมส่งผลดีอย่างมากและเป็นโอกาสสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง เราจึงตั้งใจจัดงาน LINE Hospitality Tech 2021 นี้ เพื่อนำเสนอปัจจัยแวดล้อมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและสุขภาพ ซึ่งเป็นตัวแปรและกลไกสำคัญที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาเป็นสำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับการดำเนินธุรกิจด้วยทิศทางที่ชัดเจน ด้วยเทคโนโลยีที่ใช่ เพื่อร่วมกันพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้สามารถเดินหน้าและเติบโตต่อไปได้พร้อมๆ กัน”
ผู้สนใจสามารถติดตามชมวิดีโอย้อนหลังงานได้ที่ YouTube ช่อง LINE for Business: https://lin.ee/eYO0g97/wcvn