×

ทำความรู้จัก The New Life of Grand Palais: จากโลกเก่าสู่โลกใหม่ เพื่อโอลิมปิกเกมส์ 2024 และปารีสของทุกคน

28.07.2024
  • LOADING...
The New Life of Grand Palais

HIGHLIGHTS

3 min read
  • ความท้าทายของการบูรณะครั้งนี้ คือการรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์คุณค่าทางประวัติศาสตร์ และการปรับปรุงสิ่งที่มีให้ทันสมัย
  • ทีมสถาปนิกต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสำรวจและวางแผนอย่างละเอียด เพื่อจะรักษาคุณค่าของสถาปัตยกรรมดั้งเดิม โดยเฉพาะองค์ประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรม Beaux-Arts
  • ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสรรค์การใช้งานพื้นที่ในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ผู้คนและสังคมแห่งอนาคตด้วย

 

Grand Palais สถาปัตยกรรมระดับไอคอนิกที่ตั้งตระหง่านระหว่างแม่น้ำแซน (La Seine) และถนนฌ็องเซลิเซ (Champs-Élysées) เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ความรุ่มรวยของนครปารีส ที่นักท่องเที่ยวและชาวปารีเซียงคุ้นเคยดี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าอาคารไซส์มหึมาที่โดดเด่นด้วยความวิจิตรแห่งศิลปะโบซาร์ (Beaux-Arts) นี้ มีต้นกำเนิดเพียงเพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงงาน Exposition Universelle (หรือ Paris World Fair) เมื่อปี 1900 เท่านั้น แต่ด้วยความงดงามและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ก็ทำให้ Grand Palais ยืนหยัดผ่านกาลเวลามาได้อีก 124 ปี

 

มันเคยสวมบทบาทมากมายให้กับโลกของศิลปวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นรันเวย์โชว์สุดยิ่งใหญ่ของ CHANEL เป็นคอนเสิร์ตฮอลล์ให้วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นลานสเกตน้ำแข็งให้ชาวเมืองในปารีส และเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการของศิลปินเบอร์ใหญ่ของโลกอีกนับไม่ถ้วน

 

จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีก่อน (ปี 2021) ก็ถึงคราวที่ Grand Palais ต้องถูกบูรณะครั้งใหญ่เสียที เพื่อต้อนรับการจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ในฐานะสนามแข่งขันกีฬาฟันดาบและเทควันโด

 

 

Beaux-Arts Architecture สัญลักษณ์แห่งยุคทองของฝรั่งเศส

 

หากจะบอกว่า Grand Palais des Champs-Élysées คือตัวอย่างสถาปัตยกรรมโบซาร์ (Beaux-Arts Architecture) ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็คงไม่ผิด ด้วยว่า ‘สไตล์’ อันหรูหรานี้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในกรุงปารีส ก่อนจะแผ่อิทธิพลไปสู่สหรัฐอเมริกาและมหานครอื่นๆ

 

จิตวิญญาณของศิลปะโบซาร์คือความคลาสสิกบวกความทันสมัยในศตวรรษที่ 19 สังเกตได้จากการริเริ่มใช้วัสดุเหล็กกล้า และหลังคากระจกในโครงสร้างขนาดมหึมา การมีโถงกลางอาคารที่กว้างขวางโอ่อ่า รวมถึงการตกแต่งทุกรายละเอียดอย่างวิจิตร ไม่ว่าจะเป็นเสาโครินเธียน ซุ้มทางเข้าและบันไดสุดอลังการ ประตูหน้าต่างทรงโค้งที่ตกแต่งด้วยประติมากรรมอ่อนช้อย

 

The New Life of Grand Palais

 

อย่างไรก็ดี หลายทศวรรษที่ผ่านมา อาคารเก่าแก่หลังนี้ต้องเผชิญความจริงที่ว่ามีหลายองค์ประกอบที่ตกยุคไปแล้ว และไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานของเมืองในศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป อาทิ ขาดการบำรุงรักษา ส่งผลให้โครงสร้างบางส่วนเสื่อมโทรม ลักษณะการแบ่งพื้นที่แบบเดิมทำให้ใช้ประโยชน์ของอาคารได้ไม่เต็มที่ รวมถึงการที่ทั้งอาคารไม่มีระบบไฟฟ้าที่ทันสมัย และไม่มีระบบปรับอากาศในพื้นที่ภายใน หลายส่วนของอาคารจึงถูกปิด ไม่สามารถเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้

 

The New Life of Grand Palais

 

อดีตที่เชื่อมโยงอนาคต: การบูรณะครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ

 

ด้วยเหตุผลข้างต้น ผนวกกับเม็ดเงินมหาศาลที่ภาครัฐและเอกชนอัดฉีดเข้ามา (งบประมาณโครงการจบที่เกือบ 1 พันล้านยูโร) การบูรณะ Grand Palais ครั้งประวัติศาสตร์จึงถือกำเนิดขึ้นภายใต้การดูแลของบริษัทสถาปนิก Chatillon Architectes โดยในครั้งนี้พวกเขามีเป้าหมายหลัก 3 ข้อที่จะต่อยอด Grand Palais ไปสู่ความยิ่งใหญ่ในอนาคต คือ

 

  1. เพิ่มการเข้าถึงของสาธารณชน: ออกแบบเส้นทางสัญจรใหม่ภายในพื้นที่ ให้ผู้เข้าชมสามารถสำรวจอาคารได้อย่างทั่วถึง และปรับปรุงทุกพื้นที่ให้เป็นมิตรกับผู้พิการ
  2. เพิ่มแสงธรรมชาติ: ฟื้นฟูหลังคากระจกอันเป็นเอกลักษณ์ และเปิดพื้นที่ให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านได้มากขึ้น สร้างบรรยากาศที่สว่างสดใส ลดการใช้พลังงานภายในอาคารให้อยู่ในจุดที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการรักษาบรรยากาศและความงามดั้งเดิมของอาคารไว้
  3. เชื่อมโยงกับบริบทเมือง: ปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้ Grand Palais ไม่แปลกแยกจากสภาพแวดล้อม เช่น การเชื่อมโยงอาคารกับพื้นที่สีเขียว การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ ฯลฯ

 

 

นอกจากนี้ การบูรณะยังรวมถึงการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย และติดตั้งเทคโนโลยีที่จำเป็น เช่น ระบบปรับอากาศ ระบบความปลอดภัย ระบบไฟส่องสว่างที่ทันสมัย ฯลฯ เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายในศตวรรษที่ 21

 

The New Life of Grand Palais

 

ความท้าทายของการบูรณะครั้งนี้ คือการรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์คุณค่าทางประวัติศาสตร์ และการปรับปรุงสิ่งที่มีให้ทันสมัย ทีมสถาปนิกต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสำรวจและวางแผนอย่างละเอียด เพื่อจะรักษาคุณค่าของสถาปัตยกรรมดั้งเดิม โดยเฉพาะองค์ประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรม Beaux-Arts ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสรรค์การใช้งานพื้นที่ในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ผู้คนและสังคมแห่งอนาคตด้วย

 

 

โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากของการออกแบบเพื่อฟื้นฟูอาคารประวัติศาสตร์ที่ผู้บริหารบ้านเมืองอื่นสามารถเรียนรู้ได้ว่า “การอนุรักษ์ไม่ได้หมายถึงการแช่แข็งอดีต แต่เป็นการร่วมสร้างสรรค์อนาคตบนรากฐานของประวัติศาสตร์” ดังที่กรุงปารีสได้ทำให้เราเห็นในฐานะเมืองเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2024…ว่ามันทำได้ และทำได้ภายใน 3 ปีเท่านั้น

 

เชื่อว่าการบูรณะที่เสร็จสิ้นลงอย่างงดงามนี้ จะทำให้ Grand Palais ไม่เป็นเพียงแค่สถานที่จัดงาน พิพิธภัณฑ์ หรืออนุสรณ์สถานประจำเมืองเท่านั้น แต่ยังจะกลับมาเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญของปารีสอีกครั้ง ด้วยพลังความมีชีวิตชีวาของพื้นที่สาธารณะ ที่เปิดกว้าง เป็นมิตร และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

 

เกาะติดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ส่งตรงจากกรุงปารีส โดย THE STANDARD SPORT ได้แล้ววันนี้

 

ภาพ: Laurent Kronental / Grand Palais

 


 

ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X