×

ย้อนรอยบันทึกการเดินทางเพื่อค้นหา ‘สายใยประวัติศาสตร์ไทย-เยอรมนี’ ผ่าน 5 สถานที่ท่องเที่ยว

โดย THE STANDARD LIFE
24.12.2024
  • LOADING...
thai-german2

นอกจาก ‘กำแพงเบอร์ลิน’ หนึ่งในกำแพงหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ‘กรุงเบอร์ลิน’ เมืองหลวงของประเทศเยอรมนีที่เต็มไปด้วยริ้วรอยประวัติศาสตร์เมืองหนึ่งของโลกยังมี ‘สถานที่ท่องเที่ยว’ ที่รุ่มรวยไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหาอีกมาก

 

‘เบอร์ลิน’ เมืองที่เปี่ยมไปด้วยความทันสมัยในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศิลปะ และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ราวกับมีประตูวิเศษที่เชื่อมระหว่างอดีตและปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน

 

 

บางครั้งการย้อนรอยอดีตก็พาเราเปิดมุมมองใหม่ต่อปัจจุบัน และทำให้เราเข้าใจตัวตนและความเป็นมาของสังคมในมิติที่ลึกซึ้งกว่าเดิม โดยเฉพาะมิติของสายใยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงสายใยระหว่างไทยกับเยอรมนีคือ พระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เมื่อครั้งเสด็จไปประพาสยุโรป ร.ศ. 126

 

ในเวลานั้นเบอร์ลินกำลังเข้าสู่ยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระดับจักรวรรดิเยอรมัน มีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและโดดเด่นในด้านการพัฒนาและปฏิรูป แต่หากเทียบกับปารีสและลอนดอน รัชกาลที่ 5 ทรงเปรียบเบอร์ลินเป็น ‘โต๊ะท่านเล็ก’ ความว่า “ถ้าจะเปรียบด้วยวิธีตั้งโต๊ะ เมืองปารีสเหมือนโต๊ะหลวง เมืองลอนดอนเหมือนโต๊ะกรมหลวงนเรศร์ เมืองเบอร์ลินเหมือนโต๊ะท่านเล็ก”

 

ลักษณะของการ ‘ตั้งโต๊ะ’ ที่พระองค์ทรงหมายถึงคือ ‘โต๊ะเครื่องบูชาพระแบบจีนผสมไทย’ เปรียบให้เห็นถึงความเป็นระเบียบและลำดับชั้นของเมืองทั้งสามในมิติทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ

 

กรุงปารีสในยุคนั้นเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมและศิลปะของยุโรป อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองหลวงของจักรวรรดิฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองและทรงอิทธิพล จึงเปรียบเสมือน ‘โต๊ะหลวง’ กรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าโลก โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ แม้ไม่ได้มีความหรูหราเท่ากับปารีส แต่มั่นคงและเปี่ยมด้วยความหลากหลาย จึงเปรียบเสมือน ‘โต๊ะกรมหลวงนเรศร์’ ส่วนเบอร์ลินโดดเด่นในด้านการพัฒนาและปฏิรูปจึงเปรียบเสมือน ‘โต๊ะท่านเล็ก’ หรือโต๊ะของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชอนุชาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ

 

 

การเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปในเวลานั้น ยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ส่งผลต่ออนาคตทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมของไทยในยุคต่อมา หากใครสักคนจะเดินทางตามรอยพระบาทในกรุงเบอร์ลิน ก็เหมือนกับได้เดินทางย้อนรอยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมของไทยด้วยเช่นกัน

 

ตามรอยประวัติศาสตร์ผ่าน 5 สถานที่สำคัญที่หลอมรวมยุคสมัยสู่ความภูมิใจของคนไทย 

 

ห้างสรรพสินค้า Kaufhaus des Westens (KaDeWe) ความภาคภูมิใจของคนเยอรมันและคนไทย

 

การเสด็จพระราชดำเนินประพาสครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มิได้ทรงเยี่ยมชมเพียงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเสด็จไปยังสถานีส่งสัญญาณโทรเลขไร้สายแห่งแรกของโลก ณ เมืองเนาเอน (Nauen) เยือนมหาวิหารเบอร์ลิน ทอดพระเนตรนิทรรศการงานศิลปะ เยี่ยมชมโรงละครเมโทรโพล และเสด็จฯ เยี่ยมชม Kaufhaus des Westens (KaDeWe) หรือคาเดเว ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ของกรุงเบอร์ลินในเวลานั้น 

 

ภาพเก่า

 

“แล้วไปที่ห้าง Kaufhaus des Westens ห้างนี้เป็นห้างใหญ่โตมาก ขายของสารพัดทุกอย่างไม่เลือกว่าอะไร ตั้งเป็นหมวดๆ ไป ร้านนั้นอยู่มุมที่ทางสามแพร่ง ตลอดตั้งแต่พื้นดินถึงพื้นชั้นบนหลายสิบห้อง มีลิฟต์ถึง ๒๘ ลิฟต์ มีสิ่งของที่ขายอยู่ในร้านเป็นราคาถึงห้าล้านม้าก คนที่ขายของทั้งผู้หญิงผู้ชายเด็กผู้ใหญ่ถึงสองพันคน จะซื้อสิ่งใดเป็นแต่ไปชี้ว่าให้เอาสิ่งนั้นสิ่งนั้นไปเลือก แล้วเขาก็เอาไปที่ห้องสำหรับเลือก ถ้าจะไปมัวซื้ออยู่แต่แห่งเดียวจะไม่ได้เห็นอะไร ต้องใช้เดินประเมินเสียก่อน แต่ชั่วค่าเดินประเมินไม่สู้ทั่วถึงทีเดียวกินเวลาถึงสองชั่วโมง…” พระราชดำรัสตอนหนึ่งจากพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน 

 

ห้างสรรพสินค้าคาเดเวแปลว่า ‘ห้างสรรพสินค้าแห่งตะวันตก’ ก่อตั้งโดย อดอล์ฟ ยันดอร์ฟ (Adolf Jandorf) ใน ค.ศ. 1905 ในเวลานั้นตัวเขาเองมีห้างสรรพสินค้าอยู่แล้ว 6 แห่งทั่วกรุงเบอร์ลิน โดยหมายมั่นที่จะสร้างห้างสรรพสินค้าคาเดเวให้เป็นดั่งวิหารแห่งการบริโภคสุดอลังการ พรั่งพร้อมด้วยสรรพสินค้าชื่อดังระดับโลก ที่จะเติมเต็มความปรารถนาของชนชั้นสูงในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มแห่งเยอรมนี 

 

อีกทำเลที่ตั้งยังอยู่ระหว่างสองเมืองอิสระในยุคนั้นคือ ชาร์ลอเทนบวร์ก กับ เชินเนอแบร์ก ทำเลนี้ถูกเรียกขานว่า ‘เขตตะวันตกใหม่ (Neuer Westen) 

 

การเสด็จเยือนห้างสรรพสินค้าคาเดเวของกษัตริย์แห่งสยาม ครั้งแรกวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2450 และเสด็จเยือนอีกครั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2450 กลายเป็นข่าวพาดหัวที่ทำให้ห้างสรรพสินค้าคาเดเวได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง และถูกยกระดับย่านเทาเอ็นซีนสตราสเซอ (Tauentzienstraße) ให้เป็นย่านช้อปปิ้งสำคัญใจกลางกรุงเบอร์ลินในเวลาต่อมา 

 

KoDeWe

 

ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าคาเดเวยังคงเป็นหนึ่งในห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุโรป และเป็นจุดหมายที่นักช้อปทั่วโลกไม่ควรพลาด 

 

โดยใน พ.ศ. 2559 ห้างแห่งนี้เริ่มได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ภายใต้การออกแบบของสถาปนิกชื่อดัง เรม คูลฮาส (Rem Koolhaas) และทีมงานจาก OMA เป็นการผสานดีไซน์ที่ร่วมสมัยเข้ากับความคลาสสิกของตัวอาคาร ซึ่งภายหลังจากการรีโนเวตเป็นเวลารวมทั้งหมด 6 ปี ในปี 2565 ห้างสรรพสินค้าคาเดเวเปิดตัวโซนแฟชั่นและโซนบิวตี้ลุคใหม่ รวมทั้ง ‘ฟู้ดฮอลล์’ ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก พร้อมเสิร์ฟอาหารแบบ Open Kitchen ให้นักชิมได้ชมทุกขั้นตอนการปรุงอาหารอย่างใกล้ชิด ราวกับมีเชฟส่วนตัวมาปรุงอาหารให้ถึงบ้าน อีกทั้งโซน ‘ช็อกโกแลตเวิลด์’ เคาน์เตอร์หินแกรนิตอิตาเลียนตกแต่งลวดลายคล้ายขนมนูกัต (Nougat) ที่มีของหวานแบรนด์ดังระดับโลกมากมายเรียงรายให้เลือกซื้อ ไปจนถึง ‘เคาน์เตอร์เบเกอรี’ ที่อบสดใหม่แบบวันต่อวัน นอกจากนี้ยังมี ‘โซนแชมเปญ ไวน์ เครื่องดื่ม และชีส’ รวมไปถึงอาหารคอนเซปต์ใหม่ที่นำเสนอผ่านร้านอาหารคลีนชื่อดัง DALUMA จาก Berlin-Mitte และร้านอาหารสไตล์ยุโรป Kartoffelacker ทั้งนี้ เอกลักษณ์อย่างประตูเหล็กดั้งเดิมอายุกว่า 117 ปียังคงถูกเก็บรักษาไว้และใช้งานได้อย่างดี สะท้อนความงามข้ามยุคสมัยอย่างลงตัว

 

การออกแบบที่วิจิตรตระการตาในยุคนั้นยังคงถ่ายทอดประสบการณ์สุดประทับใจเหนือระดับมาสู่ยุคปัจจุบัน อาทิ Personal Shopping Room บนชั้น 5 ที่ออกแบบมาให้มีความหรูหรา สง่างาม พร้อมต้อนรับลูกค้าคนพิเศษให้มาผ่อนคลายกับอาหารและเครื่องดื่ม หรือบริการทรีตเมนต์ต่างๆ จากแบรนด์สกินแคร์ระดับโลกระหว่างรอผู้ช่วยช้อปส่วนตัวนำสินค้าที่ลูกค้าต้องการมาให้เลือกซื้อ 

 

 

พร้อมสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ไม่เหมือนใครผ่านสินค้าหลากหลายจากดีไซเนอร์ชั้นนำและแบรนด์หรูระดับโลกในพื้นที่กว่า 60,000 ตารางเมตร ต้อนรับลูกค้ากว่า 50,000 คนต่อวัน และในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ตัวเลขนี้สามารถเพิ่มสูงถึง 100,000 คนต่อวันเลยทีเดียว 

 

ปัจจุบัน ห้างสรรพสินค้าคาเดเว ภายใต้การบริหารของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยในฐานะที่ธุรกิจจากประเทศไทยได้เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าหรูระดับโลกที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีความผูกพันกับประเทศไทยมาโดยตลอด

 

เสาในเรื่องชนะศึก: เสาแห่งชัยชนะ สัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ 

 

“เข้ามาในเมืองจำได้ 3 แห่ง คือ เสาในเรื่องชนะศึก ไรสต๊ากที่ประชุมปาลิเมนต์ แลประตูไชย” บทความตอนหนึ่งจาก พระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน ยังพาเราย้อนรอยไปเยือนอีก 3 สถานที่สำคัญ

 

 

เสาแห่งชัยชนะ (The Victory Column) หรือที่ชาวเยอรมันเรียกว่า ‘ซีกเกอซ็อยเลอ’ (Siegessäule) ตั้งอยู่ใจกลางสวนเทียร์การ์เทน กรุงเบอร์ลิน แต่เดิมเคยตั้งอยู่ที่ ‘จัตุรัสพระราชา’ (Königsplatz) หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า ‘จัตุรัสแห่งสาธารณรัฐ’ (Platz der Republik) แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของพรรคนาซีได้ทำการย้ายมาตั้งที่สวนเทียร์การเทน พร้อมเพิ่มความสูงจาก 60 เซนติเมตร เป็น 66 เซนติเมตร ซึ่งการย้ายเสานี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนเปลี่ยนโฉมเบอร์ลินให้เป็นเมืองหลวงของโลก

 

เสาแห่งชัยชนะสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของปรัสเซียในสงครามชเลสวิชครั้งที่ 2 ซึ่งต่อมาได้รวมเอาชัยชนะในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย และฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ที่นำไปสู่การรวมตัวของสหพันธรัฐเยอรมนี ออกแบบโดย ไฮน์ริช สตาร์ก (Heinrich Strack) ความงดงามของฐานหินแกรนิตแดงแกะสลักอย่างวิจิตร ลำเสาประดับด้วยลวดลายสำริด และมีประติมากรรมเทพีวิกตอเรีย (Victoria) เทพีแห่งชัยชนะในตำนานโรมัน ผลิตด้วยทองสัมฤทธิ์ สูง 8.3 เมตร ออกแบบโดย ฟรีดริช เดรก (Friedrich Drake) ถูกประดับไว้บนยอดเสาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพลังและความสำเร็จ ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 9 ปี ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873)

 

 

 

แม้เบอร์ลินจะถูกโจมตีอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เสาชัยชนะกลับรอดพ้นจากความเสียหายใหญ่หลวง อนุสรณ์สถานแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความสามารถของเบอร์ลินในการฟื้นตัวจากวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ สามารถเดินขึ้นบันไดวน 285 ขั้นเพื่อไปยังจุดชมวิวที่ความสูง 51 เมตร และดื่มด่ำความงดงามของกรุงเบอร์ลินแบบ 360 องศา


ไรสต๊ากที่ประชุมปาลิเมนต์: อาคารไรชส์ทาค สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย 

 

อาคารรัฐสภาที่มี ‘โดมแก้ว’ อยู่ด้านบน จัดว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเนื้อหอมอีกแห่งของเบอร์ลิน จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีผู้มาเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก

 

 

อาคารรัฐสภาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรืออาคารไรชส์ทาค (Reichstag Building) เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของจักรวรรดิเยอรมันในยุคนั้น น่าเสียดายที่ตัวอาคารเดิมได้รับความเสียหายในสงครามโลกถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ. 2503 และครั้งที่สองใน พ.ศ. 2541 เซอร์นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Sir Norman Foster) สถาปนิกชื่อดัง ทำการบูรณะครั้งใหญ่ โดยผสานแนวคิดการออกแบบ 4 ประการ ได้แก่ ความเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย การสืบสานประวัติศาสตร์ ความโปร่งใส และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ทำให้อาคารไรชส์ทาคกลายเป็น ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตได้อย่างสมบูรณ์ 

 

ภายนอกยังคงรูปแบบของสถาปัตยกรรมนีโอ-เรเนสซองส์ มีเสากลมขนาดใหญ่ด้านหน้าแบบโรมัน แต่ภายในปรับโฉมให้มีความทันสมัย เน้นการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอาคาร โดยเฉพาะโดมแก้วทำหน้าที่ควบคุมแสงและอากาศ จึงช่วยประหยัดพลังงานและลดการใช้ไฟฟ้าในอาคาร เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสานนวัตกรรมด้านพลังงานเข้ากับการออกแบบทางสถาปัตยกรรม

 

จุดเด่นที่ใครมาก็ต้องขึ้นไปเยือนคือ ‘โดมแก้ว’ (Reichstag Dome) ชั้นสูงสุดของอาคาร ภายในโดมมีบันไดวนรูปเกลียวสองชั้นที่นำไปสู่จุดชมวิวด้านบน มีนิทรรศการให้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของอาคารและประวัติศาสตร์รัฐสภาของเยอรมนี จุดที่น่าสนใจคือการออกแบบโดมแก้วสะท้อนแนวคิด ‘ความโปร่งใสทางการเมือง’ เนื่องจากตำแหน่งของโดมตั้งอยู่เหนือห้องประชุมรัฐสภา เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าประชาชนสามารถมองเห็นและตรวจสอบการทำงานของผู้แทนได้ 

 

 

อีกทั้ง ‘ประติมากรรมแสง’ ที่สะท้อนแสงธรรมชาติเข้าสู่ห้องประชุมในช่วงกลางวัน และเปล่งแสงสว่างในยามค่ำคืน ราวกับเป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูประชาธิปไตยที่งดงาม 

 

การเยี่ยมชมโดมแก้วของอาคารไรชส์ทาค จึงไม่เพียงมอบประสบการณ์อันน่าประทับใจในแง่ของสถาปัตยกรรมที่งดงาม แต่ยังสะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าและนวัตกรรมด้านพลังงานที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

ประตูไชย: ประตูบรันเดนบวร์ก สัญลักษณ์แห่งความสามัคคี

 

ประตูบรันเดินบวร์ก (Brandenburger Tor) หรือประตูชัยแห่งกรุงเบอร์ลิน สัญลักษณ์สำคัญของเยอรมนีที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมาเยือน 

 

 

 

ประตูชัยแห่งกรุงเบอร์ลิน สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2331 สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2334 โดยสถาปนิกนามว่า คาร์ล ก็อททาร์ด ลังฮันส์ (Carl Gotthard Langhans) ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมของวิหารพาร์เธนอน ในกรุงเอเธนส์ บริเวณยอดประตูตกแต่งด้วย ‘ควอดริกา’ (The Quadriga) เทพีแห่งชัยชนะกำลังขับราชรถที่ลากด้วยม้าศึก 4 ตัว ซึ่งเป็นประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ ผลงานของ โยฮันน์ ก็อทฟรีด ชาโดว์ (Johann Gottfried Schadow)

 

เดิมทีประตูนี้ถูกใช้เป็นทางเข้าพิธีการไปยังฟรีดริชชตัดท์ ซึ่งเป็นเขตเมืองใหม่ของกรุงเบอร์ลินภายใต้การปกครองของปรัสเซียน ต่อมาประตูบรันเดินบวร์กกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถในการฟื้นตัวของปรัสเซียนต่อการยึดครองของฝรั่งเศส พอถึงช่วงสงครามเย็นประตูกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกเบอร์ลินและเยอรมนี แต่หลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินใน พ.ศ. 2532 ผู้คนจำนวนมากจากฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเบอร์ลินมารวมตัวกันที่ประตูบรันเดนบวร์กเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญนี้ นับจากวันนั้นประตูบรันเดินบวร์กได้รับสถานะกลับคืนมาในฐานะสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและเสรีภาพ

 

การได้ยืนอยู่เบื้องหน้าของประตูชัยแห่งกรุงเบอร์ลิน คงรู้สึกเหมือนถูกตรึงไว้กับเรื่องราวประวัติศาสตร์ ได้เห็นความรุ่งเรือง ความล่มสลาย และการฟื้นตัวในคราวเดียวกัน 

 

ศาลาไทย: สัญลักษณ์แห่งสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง 2 ประเทศ

 

นอกจากสถานที่ที่ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน ที่แนะนำไปข้างต้น หากมีโอกาสบินไปถึงเยอรมนี ควรหาเวลาไปเยี่ยมชม ‘ศาลาไทย ณ เมืองบาด ฮอมบวร์ก’ สัญลักษณ์แห่งสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง 2 ประเทศ

 

ศาลาไทยหลังแรกในเยอรมนี เป็นศาลาที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯ มาประทับเพื่อรักษาพระวรกายที่เมืองแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2540 ซึ่งกว่าจะสร้างแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดศาลาก็ล่วงเลยมาถึง พ.ศ. 2457 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 

 

 

 

ใกล้กันมีบ่อน้ำแร่ที่ชาวเมืองบาด ฮอมบวร์ก ร่วมกันสร้างถวายเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานของการเสด็จประพาสเยอรมนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2450 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Amity, Commerce and Navigation with Prussia, in the name of the German Customs and Commercial Union) หรือสนธิสัญญาออยเลนบวร์ก อันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างราชอาณาจักรสยามกับปรัสเซีย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2405 และเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-เยอรมนีเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน (Partners for Sustainable Growth) ของทั้ง 2 ประเทศ

 

ทุกสถานที่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จพระราชดำเนิน ล้วนเปล่งประกายด้วยความงดงามของประวัติศาสตร์ เรื่องราวแห่งการเปลี่ยนยุคสมัย และบางแห่งก็เติมเต็มความภูมิใจให้กับคนไทยอย่างน่าประหลาด ถ้ามีโอกาสเราไม่อยากให้ใครพลาดสัมผัสประสบการณ์ล้ำค่าเช่นนี้ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising