×

เลือกตั้งกลางเทอมฟิลิปปินส์ สนามวัดพลังอิทธิพลสองตระกูลใหญ่

15.05.2025
  • LOADING...

ฟิลิปปินส์ใช้ระบบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ในทางปฏิบัติ การเมืองของที่นี่ถูกครอบงำโดย ‘ตระกูลการเมือง’

 

จากรายงานของ Philippine Center for Investigative Journalism หรือ PCIJ ระบุว่า มากกว่า 70% ของผู้สมัครเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในประเทศมาจากตระกูลที่เคยดำรงตำแหน่งมาแล้วหลายรุ่น สะท้อนโครงสร้างทางอำนาจที่ยังวนเวียนอยู่ในมือของนามสกุลเดิมๆ หลายคนเป็นคนรุ่นที่ 2 หรือ 3 ในสายอำนาจเดียวกัน

 

และในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สองนามสกุลที่ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของฟิลิปปินส์ก็คือ มาร์กอส – อดีตผู้นำเผด็จการในยุคสงครามเย็น และ ดูเตร์เต – ผู้นำยุคใหม่ที่ใช้นโยบายปราบยาเสพติดแบบเด็ดขาด

 

จากพันธมิตรในปี 2022 สู่คู่แข่งในปี 2025

 

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2022 เฟอร์ดินานด์ บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ และ ซารา ดูเตร์เต ลูกสาวของโรดริโก ดูเตร์เต อดีตประธานาธิบดี จับมือกันชนะการเลือกตั้งใหญ่ ในฐานะพันธมิตรจากสองตระกูลทรงอิทธิพล 

 

แต่เพียง 3 ปีให้หลัง ปรากฏว่าทั้งคู่กลายเป็นคู่แข่งในสนามอำนาจไปแล้ว

 

Richard Heydarian นักวิเคราะห์การเมืองฟิลิปปินส์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Aljazeera ก่อนการเลือกตั้งในปีนั้นว่า 

 

This is not a political marriage, It’s an electoral arrangement.

 

คำกล่าวที่ว่านี้หมายความว่า ทั้งสองตระกูลแค่เพียงจับมือเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขในอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกันแต่อย่างใด 

 

ฝ่ายบองบอง มาร์กอส จูเนียร์ แน่นอนว่าต้องการเข้ามาฟื้นฟูวงศ์ตระกูล พยายามนำเสนอความต่อเนื่องทางเทคโนแครต การเปิดประเทศและการเข้าหาสหรัฐฯ 

 

ขณะที่ฝ่าย ซารา ดูเตร์เต ยังคงยืนอยู่บนพื้นฐานของการเมืองแบบ Populist มีท่าทีแข็งกร้าว และใช้กลไกอำนาจในการจัดการปัญหา ในขณะเดียวกันก็ละมุนละม่อมกับจีน 

 

เมื่อไม่ได้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันแต่ต้น เราจึงเห็นความเปราะบางระหว่างทั้งสองฝ่าย และเมื่อเข้าสู่การบริหารประเทศอย่างจริงจัง ความแตกต่างในแนวคิดก็ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นท่าทีต่อสหรัฐฯ และจีน รูปแบบการบริหารราชการ หรือแม้แต่การจัดสรรอำนาจในคณะรัฐมนตรี 

 

ผลการเลือกตั้งกลางเทอม: วุฒิสภาเปลี่ยนขั้ว?

 

ความแตกต่างนี้ส่งเสียงดังขึ้น จากผลของการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกใหม่ 12 ที่นั่ง จากทั้งหมด 24 ที่นั่งในวุฒิสภา ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า ฝ่ายของ บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้รับชัยชนะไปเพียง 6 ที่นั่ง ขณะที่ฝ่ายของ ซารา ดูเตร์เต รองประธานาธิบดี ได้ไป 4 ที่นั่ง ส่วนอีก 2 ที่นั่งมาจากกลุ่มอิสระ 

 

แต่ที่น่าสนใจคือ หนึ่งในผู้ชนะที่ชื่อว่า ‘อิมี มาร์กอส’ พี่สาวของประธานาธิบดี บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ กลับกลายเป็นงูเห่า ไปสนับสนุนฝ่ายของ ซารา ดูเตร์เต อย่างเปิดเผยด้วย 

 

เดิมพันแห่งศักดิ์ศรี คดีถอดถอน ‘ซารา ดูเตร์เต’

 

แล้วผลเลือกตั้ง สว. สำคัญอย่างไร? โดยเฉพาะชะตาทางการเมืองของ ซารา ดูเตร์เต สำคัญแน่นอนเพราะตอนนี้ ซารา ดูเตร์เต กำลังเผชิญกระบวนการถอดถอนจากตำแหน่งรองประธานาธิบดี จากข้อกล่าวหา 3 ข้อที่ตกเป็นข่าวดังไปก่อนหน้านี้ 

 

  1. ใช้งบประมาณลับอย่างไม่โปร่งใส 
  2. ใช้อำนาจโดยมิชอบในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 
  3. มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนลอบสังหารประธานาธิบดี บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ (ข้อนี้รุนแรงที่สุด)

 

ซึ่งกระบวนการถอดถอนในฟิลิปปินส์ต้องใช้เสียง สว. 2 ใน 3 หรือก็คือ 16 เสียง จากทั้งหมด 24 คน และจากผลการเลือกตั้งกลางเทอมที่ออกมาล่าสุด เสียง สว. ฝ่ายประธานาธิบดี บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ ก็ยังไม่สามารถรวมเสียงได้เพียงพอที่จะถอดถอน 

 

ทั้งนี้ การเลือกตั้งกลางเทอมของ สว. ฟิลิปปินส์ จะเลือกทุก 3 ปี จากวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยเลือกครึ่งหนึ่งคือ 12 ที่นั่ง เป็นชุดใหม่ ส่วนอีก 12 ที่นั่งที่เหลือยังเป็นชุดเดิมที่เลือกมาแต่แรก 

 

ซึ่งตอนนี้ในวุฒิสภา เสียงข้างมากยังคงเป็นฝ่าย ซารา ดูเตร์เต แถมยังได้มาเพิ่มอีก 4 ที่นั่ง ฉะนั้น ฝั่งประธานาธิบดี บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ ยังเป็นเสียงข้างน้อย ที่ถึงได้มาเพิ่มอีก 6 ที่นั่งก็ยังไม่พอนั่นเอง 

 

นอกจากนี้ยังมี ‘สว. สายกลางหรืออิสระ’ คืออาจไม่ลงคะแนน No Vote ก็เป็นได้

 

ส่วนการที่ ซารา ดูเตร์เต อยู่ในคดีความเช่นนี้ แต่ก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งหรือลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตามกฎหมายของฟิลิปปินส์ ยกเว้นจะมีคำตัดสินว่าผิดออกมา

 

‘โรดริโก ดูเตร์เต’ กลับสู่การเมืองท้องถิ่น แม้ถูกศาล ICC คุมตัว

 

เฉกเช่นเดียวกับ ‘โรดริโก ดูเตร์เต’ พ่อของเธอ อดีตประธานาธิบดี และยังเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดาเวามากว่าสองทศวรรษ

 

เขาได้รับฉายาว่า ‘The Punisher’ และ ‘Dirty Harry’ จากนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศในช่วง 2016-2022 

 

แต่เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา เขาถูกจับกุมขณะเดินทางกลับจากฮ่องกง และถูกส่งตัวไปยังกรุงเฮก ภายใต้คำสั่งของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC จากข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ใต้นโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้นของเขา มีรายงานการเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยนับพันรายในช่วงดำรงตำแหน่ง

 

แต่แม้อยู่ภายใต้การควบคุมตัว เขายังคงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาได้ตามกฎหมาย แม้ตัวจริงจะไม่สามารถหาเสียงได้ แต่ทีมงานของเขาใช้ภาพตัดต่อ (Cutout) แทนบนเวที มิหนำซ้ำผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการโดยองค์กรเฝ้าระวังการเลือกตั้ง Parish Pastoral Council for Responsible Voting (PPCRV) รายงานว่า โรดริโก ดูเตร์เต ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งล้าน ซึ่งมากกว่าคู่แข่งอันดับสองเกือบ 8 เท่า

 

ส่วนลูกชายคนเล็ก เซบาสเตียน ดูเตร์เต นายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน กำลังมีคะแนนนำในตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีด้วย

 

ขณะที่ลูกชายคนโต เปาโล ดูเตร์เต ก็มีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงหลานชายอีก 2 คน ที่ลงสมัครในการเมืองท้องถิ่น ต่างอยู่ในตำแหน่งผู้นำในการนับคะแนนทั้งนั้น 

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึง ‘อิทธิพลของตระกูลดูเตร์เต’ ที่ยังคงแข็งแกร่งโดยเฉพาะในเมืองดาเวา

 

ซารา ดูเตร์เต บอกกับผู้สื่อข่าวหลังลงคะแนนเมื่อวันจันทร์ (12 พฤษภาคม) ว่าเธอกำลังหารือกับทีมกฎหมายของพ่อ เกี่ยวกับแนวทางที่พ่อของเธอจะสามารถเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีอย่างเป็นทางการได้ แม้จะยังถูกควบคุมตัว ซึ่งเธอบอกว่า ถ้าพ่อของเธอชนะจริง เซบาสเตียน ซึ่งคาดว่าจะได้เป็นรองนายกฯ ก็จะทำหน้าที่ ‘รักษาการ’ ไปก่อน

 

พลังโซเชียลผ่านอัลกอริทึม วัดอำนาจดูเตร์เต

 

จากผลการเลือกตั้งล่าสุดนี้ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ‘พลังทางโซเชียล’ ของกลุ่มผู้สนับสนุนตระกูลดูเตร์เตยังคงใช้โซเชียลมีเดียอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะ TikTok, Facebook และ YouTube ปลุกกระแสเสียงสนับสนุนในพื้นที่ฐานเสียงเดิมอย่างดาเวาและในกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก

 

มีการผลิตคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น คลิปวิดีโอรวมคำพูดเด็ดของ โรดริโก ดูเตร์เต ภาพกราฟิกที่เปรียบเทียบเขากับผู้นำโลกที่ ‘เด็ดขาด’ และเพลงปลุกใจแนวชาตินิยมที่ถูกใช้ในการหาเสียงแบบไวรัล

 

บทวิเคราะห์ของ New Mandala ชี้ว่า การสนับสนุนดูเตร์เตไม่เพียงแต่อาศัยฐานเสียงเก่า แต่ยังอยู่รอดผ่าน ‘อัลกอริทึม’ ด้วยการปล่อยเนื้อหาที่กระตุ้นอารมณ์ ตอบโจทย์แพลตฟอร์มที่เน้นเอ็นเกจเมนต์และการเข้าถึงในวงกว้าง

 

เดิมพันแห่งปี 2028

 

นักวิเคราะห์จาก Asian Institute of Management ชี้ว่า การเลือกตั้งกลางเทอมปีนี้เป็นการกำหนดทิศทางของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีก 3 ปีข้างหน้า คือปี 2028 

 

หากชื่อของ ‘ซารา ดูเตร์เต’ รอดจากการถอดถอน เธอจะกลายเป็นผู้สมัครที่มีโอกาสสูงที่สุด แต่หากไม่รอด ตระกูลดูเตร์เตอาจถูกผลักออกจากเวทีการเมืองระดับชาติอย่างถาวร

 

แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายประธานาธิบดี บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ เอง เส้นทางในการเมืองตอนนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นเหมือนกัน เพราะต้องเผชิญความท้าทายจากคะแนนนิยมที่ลดลง จากรายงานของ Nikkei Asia เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาระบุว่า ความไม่พอใจในนโยบายเศรษฐกิจส่งผลให้ฐานเสียงของประธานาธิบดี บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ เริ่มอ่อนแรงเช่นกัน ถึงตอนนั้นคงต้องดูกันต่อไป 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising