×

อธิบดี ปภ. ลงพื้นที่แม่สาย จี้แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ชี้แม่น้ำสายตื้นเขินจากตะกอนเมียนมา

โดย THE STANDARD TEAM
30.04.2025
  • LOADING...

วันนี้ (30 เมษายน) ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พร้อมด้วย ชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, วรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บริเวณตลาดสายลมจอยและสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลังจากเกิดฝนตกหนักในฝั่งเมียนมา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา

 

จากการตรวจสอบพบว่า ปัญหาสำคัญคือสภาพแม่น้ำสายที่ตื้นเขินอย่างมาก เนื่องจากตะกอนดินจำนวนมหาศาลที่ไหลมาจากพื้นที่ต้นน้ำในฝั่งเมียนมา โดยเฉพาะจากบริเวณเหมืองแร่ ส่งผลให้ลำน้ำไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ แม้จะมีฝนตกเพียงเล็กน้อยก็เกิดน้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เศรษฐกิจได้ง่าย

 

ภาสกรเปิดเผยว่า ปริมาณฝนที่ตกในเมียนมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน วัดได้ประมาณ 60 มิลลิเมตร ซึ่งไม่ถือว่าสูงมาก แต่เนื่องจากลำน้ำสายยังไม่ได้รับการขุดลอก โดยเฉพาะในฝั่งเมียนมา จึงเกิดการเอ่อล้นทะลักเข้าท่วมฝั่งไทย 

 

สำหรับเหตุการณ์เมื่อวานนี้มีปัจจัยเสริมจากการเคลื่อนย้ายแนวกระสอบทรายขนาดใหญ่ (บิ๊กแบ็ก) บริเวณริมสะพานฯ เพื่อเตรียมการปรับปรุงพื้นที่ ทำให้มีช่องว่างให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ตลาดสายลมจอย ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร เป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเร่งปิดกั้นแนวบิ๊กแบ็กและสูบน้ำออกจนสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งระดับน้ำดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อร้านค้ามากนัก

 

อธิบดี ปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตลำน้ำสายเคยกว้างเกือบ 200 เมตร แต่ปัจจุบันแคบลงเหลือไม่ถึง 50 เมตร และยังมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำขวางทางน้ำ การแก้ไขปัญหาระยะยาวจึงจำเป็นต้องเร่งขุดลอกลำน้ำสายเพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้มากขึ้น ขณะนี้ฝ่ายไทย โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้เริ่มดำเนินการขุดลอกแม่น้ำรวกแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 มิถุนายน 

 

ส่วนการขุดลอกแม่น้ำสายในฝั่งเมียนมานั้นยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งได้ประสานผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดท่าขี้เหล็กให้เร่งรัดดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมชลประทาน เพื่อจัดทำแผนขุดลอกและปรับปรุงลำน้ำสายในฝั่งไทยระยะยาว รวมถึงเตรียมจัดเวทีประชาคมรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่

 

ภาสกรยังได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการเตือนภัยว่า ประเทศไทยกำลังจะทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่านเทคโนโลยีเซลล์บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) โดยจะแบ่งการทดสอบเป็น 3 ระยะ คือ วันที่ 2 พฤษภาคม (ระดับเล็ก ณ ศาลากลางจังหวัด), วันที่ 7 พฤษภาคม (ระดับอำเภอ) และวันที่ 13 พฤษภาคม (ระดับจังหวัด) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาการรับสัญญาณร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต่อไป

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising