×

ประคองใจตัวเองอย่างไร เมื่อคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า?

01.07.2023
  • LOADING...
โรคซึมเศร้า

ในวันที่มีคนในครอบครัวเจ็บป่วย ไม่ว่าความเจ็บป่วยนั้นจะเป็นความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ ย่อมส่งผลกระทบต่อสมาชิกคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน จึงต้องมีการปรับตัว ปรับใจ ทั้งการรับมือกับความคิดของตนเอง และการดูแลสมาชิกที่กำลังอยู่ในสภาวะของความเจ็บป่วย 

.
ครอบครัวเป็นได้ทั้งตัวกระตุ้นความเจ็บป่วยและปัจจัยปกป้อง มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเจ็บป่วยด้านจิตใจกับครอบครัว พบว่า การเลี้ยงดูและการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวในวัยเด็กหรือปัจจุบัน ย่อมส่งผลต่อความเจ็บป่วย ในทางตรงกันข้าม ครอบครัวที่เข้าใจและให้การสนับสนุนการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้อาการด้านจิตใจดีขึ้น ดังนั้น ครอบครัวจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความเจ็บป่วย ทั้งในแง่ของการกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยและการช่วยให้อาการดีขึ้น สำหรับใครที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ เราจะพาไปรู้จักวิธีการรับมือและประคองใจตัวเองอย่างมีสติ เมื่อคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า

 

เข้าใจโรคเท่ากับเข้าใจเขา

หลายครั้งจะเห็นได้ว่า เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย ความตื่นตระหนกของคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเชิงกล่าวโทษตนเอง อาทิ “แม่ผิดเองที่กดดันเรื่องเรียนลูกมากเกินไป” หรือการสื่อสารเชิงแปลกแยก อาทิ “ลูกเป็นซึมเศร้าได้อย่างไร ในเมื่อบ้านเราไม่เคยมีใครป่วยเป็นโรคซึมเศร้า” ซึ่งการสื่อสารดังกล่าวอาจเกิดจากสภาวะอารมณ์หลังจากทราบข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยนั้นอย่างไม่ทันตั้งตัว 

 

วิธีรับมือคือ ให้ค่อยๆ ปรับอารมณ์ให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อประคองระดับของสถานการณ์จาก ‘แปลกแยก-ปกติ-ไปต่อ’ ให้ครอบครัวและผู้ป่วยได้เป็นความหวังของกันและกัน 

 

โรคซึมเศร้ามีปัจจัยร่วมจากหลายสาเหตุ ทั้งจากร่างกาย จิตใจหรืออารมณ์ และสังคม ไม่ได้มาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเป็นสาเหตุหลัก ดังนั้น หากสามารถเข้าใจในประเด็นนี้ การกล่าวโทษตนเองว่าผิดพลาด หรือกล่าวโทษผู้ที่กำลังซึมเศร้าว่าอ่อนแอ แม้จะไม่ตั้งใจ ก็จะมีแนวโน้มลดลง และเมื่อเข้าใจว่าซึมเศร้ามีปัจจัยร่วม การวางแผนช่วยเหลือก็จะสามารถครอบคลุมให้ผู้ป่วยผ่านช่วงเวลาของความเจ็บป่วยไปได้อย่างเหมาะสม

 

เข้าใจเขา… ไม่เท่าเราเข้าใจกัน

แม้การเข้าใจ ‘ตัวโรค’ จะมีความสำคัญมากต่อการช่วยเหลือผู้ที่กำลังเจ็บป่วย แต่การเจ็บป่วยด้านจิตใจแตกต่างกับการเจ็บป่วยด้านร่างกายอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นความเจ็บป่วยที่ส่งผลต่อ ‘ความหมาย’ ที่คนคนนั้นกำลังรู้สึกกับตัวเอง ในกระบวนการบำบัดพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าจะมีความคิดเชิงลบต่อตนเอง โดยเป็นความคิดเชิงลบที่เกิดขึ้นได้กับทุกมิติ เช่น ภาพลักษณ์ (Image), ความสามารถ (Performance) และคุณค่า (Value) นอกจากนี้ยังมีความคิดเชิงลบที่มีต่อบุคคลอื่น ต่อโลกใบนี้ และมีความรู้สึกสิ้นหวัง ซึ่งความคิดและความรู้สึกดังกล่าวต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการระบายออกมากกว่าการบอกหรือตัดสิน ครอบครัวที่ทำหน้าที่รับฟัง หากสามารถเข้าใจได้ว่าการคิดลบคือหนึ่งในการแสดงออกของโรค และแสดงการรับฟังอย่างจริงใจ นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิตไปได้แล้ว ยังช่วยให้ครอบครัวประคองใจในฐานะผู้รับฟังอย่างเข้าใจได้อีกด้วย

 

ช่วยเขาเท่ากับช่วยเรา

เมื่อสมาชิกที่เจ็บป่วยมีระดับอาการดีขึ้นหรือแย่ลง ย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตของสมาชิกในครอบครัว อาการซึมเศร้าสามารถดีขึ้นได้จากการสนับสนุนของครอบครัว โดยการให้ผู้ป่วยได้พบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากผู้ป่วยซึมเศร้าหลายรายจำเป็นต้องรับประทานยา การรับประทานยาต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นตามลำดับ การซื้อยารับประทานเองและการหยุดยาคือความเสี่ยง เพราะยาที่ใช้ในการรักษาอาการด้านจิตใจมีความละเอียดอ่อน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 

 

อีกทั้งการชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมตามกำลังและตามแผน (Behavioral Activation) คือการกำหนดล่วงหน้ากับผู้ป่วยว่าจะทำกิจกรรมใดที่คิดว่าพอจะทำได้ระหว่างวัน เป็นกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อนมากนัก หรือไม่ต้องอาศัยกำลังทางกายมากเกินไป เพราะผู้ป่วยซึมเศร้าหลายรายมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย การที่ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมตามที่ตนเองกำหนด โดยมีครอบครัวช่วยกันประคับประคอง จะส่งผลให้สารเคมีในร่างกายคงที่ เกิดความรู้สึกดีกับตนเองว่ายังสามารถลงมือทำบางสิ่งบางอย่างได้ ไม่นอนหลับหรือปล่อยตัวให้อยู่นิ่งเฉยจนเกิดเป็นความคิดลบวกวนกับตนเอง

 

นอกจากจะพยายามรับฟังความรู้สึก แสดงความเห็นอกเห็นใจ พาไปพบแพทย์สม่ำเสมอ และประคับประคองด้วยการพาไปทำกิจกรรมต่างๆ การรู้เท่าทันความคาดหวังต่อการดีขึ้นว่า ‘การดีขึ้นจากการเจ็บป่วยของแต่ละคนมีระดับและระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน การรีบเร่งจากญาติอาจเป็นแรงกดดันที่ส่งผลเสียด้านจิตใจ แม้ว่าจะมาจากความเป็นห่วงก็ตาม’ ก็เป็นสิ่งสำคัญ

 

ช่วยเราเท่ากับช่วยเขา

เราต่างส่งผลต่อกันและกัน ในวันที่แสนธรรมดา การเป็นพ่อ การเป็นแม่ เราต่างแบกรับแรงกดดันของการเป็นพ่อแม่ที่ดีเอาไว้กับตัวเองมากมาย แม้ในวันที่พยายามบอกกับตัวเองว่า 

 

“ความคาดหวังมันอันตราย” 

“ความคาดหวังคือพิษร้าย”

“เราต้องลดความคาดหวังกับตัวเองลง” 

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมและสายตาจากรอบข้างตอกย้ำและเฝ้าคอยสะท้อนถามเราเสมอว่า “เราเป็นพ่อแม่ที่ดีพอแล้วหรือยัง” ยิ่งในวันที่ลูกเจ็บป่วย การเฝ้าถามจากตัวเองถึงตัวเองว่า “พอแล้วยัง ฉันดีพอแล้วยัง พอแล้วหรือยัง ฉันทำมากพอแล้วหรือยัง” คงเป็นเสียงที่ก้องดัง และส่งผลต่อความกดดันและเหนื่อยล้าในแต่ละวันของการเป็นพ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกที่กำลังเจ็บป่วย 

 

ถ้าคำถามเหล่านี้มีคำตอบให้กับวิธีการดูแลและไม่ส่งผลกับพ่อแม่มากนัก ก็คงเป็นคำถามภายในที่ดี แต่ถ้าคำถามเหล่านี้ถาโถมพ่อแม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเกิดเป็นความเศร้า ท้อใจ และหมดหวัง อาจเป็นสัญญาณของการกล่าวโทษตนเอง การแบ่งสันปันส่วนชีวิตในแต่ละวันระหว่างตนเองในฐานะพ่อแม่กับตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่ควรได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับอย่างมีคุณภาพ มีเวลาในการทำงาน มีเวลาพบปะผู้คนในสังคม และมีเวลาสำหรับการได้เคลื่อนไหวออกกำลังกาย เพื่อให้มีกำลังกลับมาประคองใจในยามที่ลูกต้องการ ก็น่าจะดีไม่น้อย 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X