ความเหงา ความเศร้า เกิดจากการแยกห่าง ถูกตัดขาดจากผู้คนหรือสังคมที่เรา ‘ต้องการ’ อาจเป็นความรู้สึกที่คนคิดกับตนเองในภาพรวม เช่น “ไม่มีใครต้องการฉัน” หรือเกิดขึ้นกับบางเหตุการณ์ที่เป็นการแยกจากกัน เช่น ย้ายบ้าน เปลี่ยนงาน หรือแม้กระทั่งการเดินทางที่ต้องห่างจากผู้คนหรือสังคมที่ผูกพัน
แต่ความเหงาอาจไม่ได้เป็นความรู้สึกสามัญของทุกคน เพราะความต้องการทางสังคมหรือความหมายต่อตนเองในมุมมองทางสังคมก็แตกต่างกัน ‘คนที่ไม่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับใคร’ แม้การจากลาหรือเห็นความสัมพันธ์ของใครๆ ก็อาจไม่รู้สึกเหงา แตกต่างกับผู้คนที่มีความต้องการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสูง เมื่อขาดหรือต้องแยกห่างทางสังคมก็ทำให้รู้สึกเหงา และทวีเป็นความเศร้าเมื่อให้ความหมายของการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเหล่านั้นเป็นการแสดงถึงการได้รับคุณค่าในชีวิต และมากกว่านั้นอาจรู้สึกเศร้าเพราะมีความคิดเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่นที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะคนใกล้ตัว ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหงาและความเศร้าให้กับตนเอง แล้วเราจะรับมืออย่างไรหากตกอยู่ในวังวนความรู้สึกแบบนี้?
ความรักคือสิ่งหนึ่งในการยืนยันอัตลักษณ์
ในลำดับขั้นของพัฒนาการทางสังคมมนุษย์พบว่าเราให้ความสำคัญกับความคิดเห็น มุมมอง ปฏิสัมพันธ์จากคนอื่นและสังคม เพื่อตอบสนองความรู้สึกและคุณค่าในตนเอง ตั้งแต่การแสดงความสนใจร่วมกันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การแสดงความสามารถเพื่อรู้สึกพึงพอใจและได้รับการยอมรับ และการมีคนรักเพื่อยืนยันคุณค่าว่า “ฉันสมควรถูกรัก” ดังนั้นแล้วผู้ได้รับความรักจึงได้คุณค่าภายใน เช่น
ได้ความพึงพอใจในคุณค่าต่อตนเองและมุมมองทางสังคม คนรักมักเป็นอีกสิ่งยืนยันความสำเร็จในชีวิต โดยความคิดนี้มาจากรากฐานทางวัฒนธรรม เช่น คำอวยพร “กิ่งทองใบหยก” นอกจากจะมีความหมายตรงไปตรงมาว่าเหมาะสมกันแล้วนั้นยังมีนัยแฝงที่สำคัญว่า “คนรักดีเท่ากับเราดีพอ”
ได้บุคคลสำหรับพึ่งพิงใจในวันที่เหนื่อยล้าและต้องการพื้นที่ปลอดภัย ให้สามารถบ่นระบาย ผ่อนคลาย และเป็นตัวเองได้ หรือแม้กระทั่งในยามสุขก็สามารถแบ่งปันความภูมิใจให้กับคนข้างกายได้ชื่นชมร่วมกัน
แต่การมี ‘คนรัก’ ใช้พลังงานสูง เพราะหากเปรียบคนเราเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ส่วนของการแสดงออกมานั้นเป็นเพียงยอดภูเขาที่ลอยอยู่เหนือน้ำ ส่วนลึกของตัวตนที่สะสมมาตั้งแต่ชีวิตวัยเด็ก รูปแบบการเลี้ยงดู วิธีคิด การตัดสินใจและการแก้ปัญหา การจัดการอารมณ์และการสื่อสาร ไม่อาจแสดงออกมาได้ทั้งหมดในช่วงเวลาที่รู้จักกัน เมื่อต้องการมีความสัมพันธ์ ฐานของภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำทั้งสองลูกย่อมมีการปะทะกัน แตกหักบ้าง เชื่อมต่อกันได้บ้าง อีกทั้ง ‘ความรู้สึกรัก’ เป็นอารมณ์มากกว่าเหตุผล ยิ่งออกแรงให้ภูเขาสองลูกเข้าหากันมากหรือเร็วเท่าไร อาจยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ปะทะกันเร็วและรุนแรงมากเท่านั้น
ความหมายของความรักมักมาพร้อมการแสดงสิทธิ์ ควบคุมให้เป็นไปอย่างที่เชื่อว่า ‘ควรเป็น’ เพื่อประคองให้ความรู้สึกมีคุณค่า มั่นคง และเพื่อประคองให้คนรักอยู่ในกรอบตามนิยามของ ‘ความรัก’ ที่ตนยึดถือเป็นกฎในใจ โดยละเลยที่จะเคารพกฎต่อความรักของอีกฝ่าย ทำให้การมี ‘คนรัก’ เป็นเรื่องไม่ง่าย ท้าทาย และอาจกลายเป็นความต้องการที่รบกวนจิตใจ ในขณะที่หลายคนต้องการ ‘ถูกรัก’ มีความรู้สึก ‘รัก’ แต่ความเหงาและความเศร้าไม่อาจทำร้ายเขาได้ในวันที่ไม่มีคนรัก อาจเพราะการให้นิยามของความรักที่เป็นกลาง ลดการคาดหวัง ละการควบคุม และบริหารความรู้สึกรักระหว่างผู้อื่นและตัวเองได้อย่างสมดุล ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดการกับความคาดหวัง ความรู้สึกเหงา ความรู้สึกเศร้า และเปิดโอกาสให้ตนได้เจอผู้คนที่เหมาะสมกับความรักในแบบเรา
และหากลองเปิดใจพบว่ามีผู้คนไม่น้อยที่มอบความรักให้กับสิ่งที่เชื่อว่าควบคุมได้มากกว่าการให้ความรู้สึกรักกับมนุษย์ที่ผันผวนและไม่แน่นอน เช่น สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ กิจกรรมตามความสนใจ แม้อาจไม่ได้รับการตอบสนองในแบบเดียวกับการมีคนรัก แต่ก็สร้างความอบอุ่นหัวใจได้ไม่น้อย