วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่ ‘ล้ง 1919’ เปิดให้บริการ หลังเปิดให้บริการในฐานะคอมมูนิตี้ ที่ทำให้ย่านเก่าอย่างคลองสานและท่าดินแดงกลับมาอยู่ในสปอตไลต์ของกรุงเทพฯ อีกครั้ง
สถานที่แห่งนี้ในอดีตเคยเฟื่องฟูอย่างสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ในฐานะสถานที่ตั้งของ ‘ฮวง จุ่ง ล้ง’ ท่าเรือกลไฟขนาดใหญ่ที่นำสินค้าจากไทยโดยเฉพาะข้าวส่งไปขายไกลยังสิงคโปร์, ฮ่องกง และจีน ซึ่งนั่นทำให้พื้นที่ฝั่งตรงข้ามตลาดน้อย เยาวราช เป็นอีกชุมชนชาวจีนที่เข้มแข็ง โดยมีความคึกคักของฮวย จุ่ง ล้ง ขนาด 6 ไร่ เป็นศูนย์กลาง
ขณะที่ ‘ล้ง 1919’ จะปิดบริการตั้งแต่ที่ 1 ธันวาคมนี้ เพื่อเคลียร์พื้นที่ส่งมอบให้กับ AWC แต่ในส่วนของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้วยังเปิดให้บริการอยู่
สำหรับ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC ทุ่มงบมากถึง 3,436 ล้านบาท ได้ดำเนินการเช่าที่ดินประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง ‘ล้ง 1919’ จากบริษัท หวั่งหลี จำกัด เป็นเวลา 64 ปี เพื่อสร้าง ‘แหล่งท่องเที่ยวด้านสุขภาพ’ ภายใต้แนวคิด The River Journey เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วโลก โดยมีโปรแกรมการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบที่เน้นไปที่ไลฟ์สไตล์การดูแลสุขภาพที่ผสานกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การชงชา การนวด ซาวน่า และด้านอาหารการกินต่างๆ
โดยโครงการ The River Journey นี้ มีการบริหารงานร่วมกับบริษัทแบรนด์โรงแรมหรูระดับโลกอย่าง The Ritz-Carlton ซึ่งจะเน้นกลุ่มลูกค้าระดับหรูหราที่มีกำลังซื้อสูง โดยมีแผนว่าโครงการจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2569 หรืออีก 5 ปีจากนี้ ซึ่งพื้นที่ในโครงการนี้กว้างถึง 4 แสนกว่าตารางเมตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะถูกสร้างเป็นโรงแรมขนาด 86 ห้อง และเรสซิเดนต์ 56 ห้อง ภายใต้แบรนด์ The Ritz-Carlton รวมทั้งหมดเป็น 142 ห้อง รวมถึงมีการบริการด้านสุขภาพแบบครบวงจร
ขณะที่ บริษัท หวั่งหลี จำกัด ผู้ให้เช่า ตกลงจะส่งมอบการครอบครองพื้นที่เช่าภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และจดทะเบียนการเช่า 30 ปี (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ถึง 31 ธันวาคม 2598) พร้อมกับคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้เช่าต่ออีก 30 ปี (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2599 ถึง 31 ธันวาคม 2628) โดยผู้ให้เช่าตกลงไม่คิดค่าเช่าสำหรับช่วงระยะเวลาพัฒนาโครงการ ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ผู้ให้เช่าส่งมอบการครอบครองพื้นที่เช่าจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
หลายคนรู้จักล้งว่าเป็นบ้านเก่าแก่ของตระกูลหวั่งหลี ทว่าผู้ก่อตั้งฮวย จุ่ง ล้ง ได้แก่ พระยาพิศาลศุภผล ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงสีใหญ่สมัยนั้น ต่อมาเมื่อรัฐบาลก่อตั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทยขึ้น ท่าเรือกลไฟของเอกชนฮวย จุ่ง ล้ง จึงลดบทบาทลงและเปลี่ยนมือมาเป็นของ ตันลิบบ๊วย ต้นตระกูลหวั่งหลี เพื่อใช้เป็นโกดังเก็บสินค้าของตระกูล ก่อนที่จะมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ เปลี่ยนจากที่อยู่อาศัยและโกดังสินค้าเป็น ‘ล้ง 1919’ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และกำลังจะปิดบริการเพื่อเปิดตำนานใหม่อีกครั้ง