หนี้รัฐบาลท้องถิ่นจีนส่งสัญญาณตึงเครียดมากยิ่งขึ้น หลัง LGFV พบยอดค้างชำระหนี้ระยะสั้นสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม
ตามรายงานของ Huaan Securities Co. ซึ่งอ้างข้อมูลจาก Shanghai Commercial Paper Exchange แสดงให้เห็นว่า LGFV 48 แห่งค้างชำระ (Overdue) ตราสารการเงินระยะสั้น (Commercial Paper) ซึ่งโดยทั่วไปมักมีอายุน้อยกว่าหนึ่งปี เพิ่มขึ้นจาก 29 แห่งในเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ Local Government Financing Vehicles (LGFV) คือนิติบุคคลเฉพาะกิจ ที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนพัฒนาและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่วนคำว่าค้างชำระ (Overdue) จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของสมาคมตราสารหนี้ไทย ระบุว่า ยังไม่ถือว่าผิดนัดชำระตามกฎหมายบางประเทศ
นอกจากนี้ Huaan Securities Co. ยังระบุว่า การชำระหนี้ที่ถูกค้างชำระไว้สูงถึง 1.86 พันล้านหยวน (หรือราว 9 พันล้านบาท) ในเดือนกรกฎาคม เทียบกับ 780 ล้านหยวนในเดือนมิถุนายน
การเปิดเผยดังกล่าวเป็นการเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของ LGFV ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับมอบหมายให้สร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ที่อาจใช้เวลาหลายปีในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน
แม้ว่ายังไม่มี LGFV ใดที่ผิดนัดชำระหนี้ในพันธบัตร (Public Bond Default) แต่หน่วยงานต่างๆ ต้องกลับมาตรวจสอบและทบทวนความเสี่ยงในการผิดนัดชำระของ LGFV เหล่านี้อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้กองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลจีนก็เพิ่งแนะให้บริษัทผู้จัดการสินทรัพย์ต่างๆ ขายพันธบัตรบางส่วน รวมถึงพันธบัตรของ LGFV ที่มีความเสี่ยงสูง
หนี้รัฐบาลท้องถิ่นจีนจะผิดนัดชำระหรือไม่?
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ Head of Macro and Wealth Research บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ LGVF ต่างๆ ไม่สามารถรีไฟแนนซ์ได้ หลังจากรายงานต่างๆ ระบุว่า LGVF มีความเสี่ยงสักพักแล้ว ดังนั้น เมื่อ LGVF ออกตราสารหนี้ใหม่แต่ไม่มีดีมานด์ การรีไฟแนนซ์จึงเป็นเรื่องยาก
อย่างไรก็ดี ดร.จิติพล มองว่า ไม่น่าเกิดการผิดนัดชำระ เนื่องจากรัฐบาลจีนน่าจะเข้าไปช่วยรีไฟแนนซ์ในท้ายที่สุด
“การช่วยเหลือของรัฐบาลกลางจีนต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลด้วย เนื่องจาก LGVF ที่มีปัญหาคือ LGVF ที่กู้เกินตัว และนำเงินไปลงทุนในโครงการที่ขาดทุน และตอนนี้ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ได้เงินคืน รัฐบาลกลางจีนจึงอาจต้องปล่อยไปก่อน แล้วค่อยไปอุ้มทีหลัง” ดร.จิติพล กล่าว
นอกจากนี้ ดร.จิติพล ยังกล่าวว่า เป็นไปได้ที่ปัญหาหนี้ดังกล่าวจะฉุด GDP จีนปีนี้ลง เนื่องจาก 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนโตด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อหนี้ อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดรัฐบาลจีนได้ประกาศว่า เศรษฐกิจจีนจะไม่โตแบบเดิมแล้ว โดย Downside อาจเห็น GDP จีนปีนี้โตเพียง 3-4% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้น่าจะได้เห็นคนตกงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น โอกาสที่รัฐบาลจีนจะปล่อยให้ปัญหานี้ดำเนินต่อไปจึงเป็นไปได้ยาก
อ้างอิง: