การถูกมองข้ามความเป็นมนุษย์ของกลุ่มเพศหลากหลายทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการสวัสดิการสังคม สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการสังคมในประเทศไทย ที่ยังก้าวไปไม่ถึงการกำหนดเป้าหมายความมั่นคงของมนุษย์ได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม
เพศหลากหลายในฐานะเป็นกลุ่มชายขอบทางเพศ รัฐไทยจำเป็นต้องคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ย้อนไปในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่เคยระบุในมาตรา 30 ว่า
“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็น ต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้”
แต่ปัจจุบันไม่มีการระบุแบบนี้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งคำว่า ‘เพศ’ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 นั้นได้มีบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่ารวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไว้ด้วย
แต่ทว่าในทางปฏิบัติภาครัฐกลับไม่มีการสำรวจประชากรกลุ่มเพศหลากหลาย หรือไม่มีฐานข้อมูลฐานประชากรที่แน่ชัด รวมถึงการไม่มีนโยบายจากทางภาครัฐในการสนับสนุน คุ้มครอง และรองรับสถานภาพทางเพศด้วย
เอกสาร สด.43 หรือใบตรวจรับรองทหารกองเกิน เป็นเอกสารทางราชการระบุว่ากะเทยเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตถาวร และถูกระบุว่า ‘เป็นโรคจิตวิกลจริต’
LGBT มักถูกเลือกปฏิบัติจากบุคลากรภาครัฐที่ยังคงขาดความรู้ความเข้าใจในตัวตนและวิถีชีวิตของเพศหลากหลาย การรับรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศจึงเป็นผลพวงมาจากการยึดแน่นและติดอยู่ภายใต้วัฒนธรรมความเป็นเพศกระแสหลักแบบหญิงชายตายตัว โดยผู้ที่จัดวางตนเองในกรอบแห่งเพศกระแสหลักจะได้รับการยอมรับและมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้มากกว่าเพศหลากหลาย เกิดช่องว่างหรือการขาดชุดความรู้และการทำความเข้าใจ ผลที่ตามมาคือการขาดบุคลากรทั้งภาครัฐในเรื่องความเข้าใจตัวตนของ LGBT ส่งผลต่อรูปแบบการให้บริการทางสังคมไปจนถึงการสร้างนโยบายที่ขาดมิติความละเอียดอ่อนต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ
การรวบรวมประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ LGBT ระบุอย่างชัดเจนถึงสถานการณ์การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะที่เกิดกับกะเทย/สาวประเภทสอง/คนข้ามเพศ ว่าเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการแต่งกายในการเข้ารับปริญญา การห้ามแต่งกายตามเพศภาวะที่ตนเลือกในสถานศึกษา
นอกจากนั้น บางสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยยังไม่เปิดรับนักศึกษาที่เป็นกะเทยเข้าศึกษา และกรณีเอกสาร สด.43 หรือใบตรวจรับรองทหารกองเกิน เป็นเอกสารทางราชการระบุว่ากะเทยเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตถาวร และถูกระบุว่า ‘เป็นโรคจิตวิกลจริต’ ในเอกสารสำคัญ แม้จะมีกฎหมายให้แก้ไขแล้วแต่ก็ยังพบว่ามีการระบุในเชิงลบอยู่ทุกปี
การละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์กับ LGBT เกิดขึ้นในลักษณะต่างๆ ทั้งการกดขี่ การผลิตซ้ำ และการตีตราให้มีพื้นที่ทางสังคมที่จำกัด
การเลือกรับรู้ของสังคมที่มองว่า LGBT ควรดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามบรรทัดฐานสังคม จนจำกัดวิถีชีวิต และไม่ยอมรับ
สิ่งที่ทำให้เกิดและเรียกว่าเพศชายขอบนั้น เกิดขึ้นมาจากที่ที่คนในสังคมมีมุมมองเรื่องเพศคับแคบ ตั้งอยู่บนฐานของการมีสองเพศเป็นบรรทัดฐาน เพศอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นตามบรรทัดฐานนั้นก็ถูกมองเป็นอื่น
นอกจากนั้น พบว่าการมองเพศหลากหลายในลักษณะภาพเหมารวม และในเชิงลบถือเป็นการเลือกปฏิบัติในระดับทัศนคติ ทั้งที่แนวคิดสิทธิมนุษยชนระบุให้รับรองและคุ้มครองเฉพาะสิทธิในเรื่องของสิทธิพลเมือง เฉพาะคนในรัฐของประเทศชาตินั้นๆ
ต่อมาก็มีการพัฒนาการของสิทธิมนุษยชนที่ถูกตีความในเรื่องสิทธิทางสังคม สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางด้านวัฒนธรรม การขยายความดังกล่าวทำให้เกิดการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมคนที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง คนชรา เด็ก ผู้พิการ รวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย
การขยายความในมิติของสิทธิมนุษยชนจึงทำให้บุคคลที่ถูกทำให้เป็นชายขอบในมิติเพศภาวะได้รับความสนใจในการคุ้มครองมากขึ้น อันเป็นพัฒนาการในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
สำหรับดิฉัน ‘เพศชายขอบ’ ในทัศนะ คือ เพศที่ไม่ได้ถูกจัดวางอยู่ในความคาดหวังของสังคม หรือเพศกระแสหลัก ดังนั้นเพศทางเลือกจึงถูกขีดด้วยเส้นแบ่งด้วยเครื่องเพศ และถูกผลักไสไปอยู่ชายขอบของการให้พื้นที่ของการยอมรับ จึงเรียกได้ว่าเป็นเพศชายขอบ ซึ่งวัดจากการยอมรับและการปฏิบัติของคนในสังคม ขอย้ำว่า สิ่งที่ทำให้เกิดและเรียกว่าเพศชายขอบนั้น เกิดขึ้นมาจากที่ที่คนในสังคมมีมุมมองเรื่องเพศคับแคบ ตั้งอยู่บนฐานของการมีสองเพศเป็นบรรทัดฐาน เพศอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นตามบรรทัดฐานนั้นก็ถูกมองเป็นอื่น
หากหลักการสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักการสากลยืนยันถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวมาโดยกำเนิดของมนุษย์ คำถามสำคัญคือสิทธิดังกล่าวนั้นหมายรวมถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงความเป็นเพศของตนเอง หรือความสามารถเลือกวิถีชีวิตทางเพศได้เองใช่หรือไม่
ภาวะความเป็นอื่นนี้เองจึงทำให้คนที่มองว่าตัวเองเป็นเพศกระแสหลักก็จะรู้ว่าสิ่งที่แสดงออกนั้นถูกต้อง ส่วนคนที่เป็นเพศกระแสรอง/ทางเลือก หรือหลากหลายทางเพศ ก็จะรู้สึกตัวว่ากำลังทำผิด รู้สึกผิด ประกอบกับสังคมก็มองว่าผิดไปจากสิ่งที่กำหนดไว้แบบสองเพศ พื้นที่ในการแสดงออกความเป็นเพศจึงมีข้อจำกัด เงื่อนไข และนำไปสู่การไม่สามารถแสดงออกถึงเป็นตัวเองได้เต็มที่ มีการปกปิด แอบซ่อน และไม่กล้าเผชิญกับการแสดงตัว รวมไปถึงการรับรู้ถึงความไม่ปลอดภัยในการแสดงตนในฐานะที่เป็นเพศชายขอบ
หากหลักการสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักการสากลยืนยันถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวมาโดยกำเนิดของมนุษย์ คำถามสำคัญคือสิทธิดังกล่าวนั้นหมายรวมถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงความเป็นเพศของตนเอง หรือความสามารถเลือกวิถีชีวิตทางเพศได้เองใช่หรือไม่
ด้วยเหตุนี้ การมีสิทธิที่จะกำหนดเจตจำนงความเป็นเพศของตนเองจึงเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนอีกประเด็นหนึ่งที่สังคมควรที่จะเรียนรู้ รณรงค์ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ขณะนี้ดิฉันรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่สังคมไม่ยอมรับบุคคลเพศหลากหลายเป็นเสมือนประชากรทั่วไป และสังคมเองก็ไม่พยายามที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ และยังเข้าใจผิดในเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเพศชายขอบในหลายประเด็น ทั้งเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ การแสดงออกทางเพศ รวมทั้งเรื่องสิทธิและการคุ้มครองเมื่อประสบกับปัญหาการตีตรา อคติ และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์มีอำนาจวินิจฉัยกะเทยให้ตกอยู่ในภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือไม่ก็ทางจิตใจที่ ‘ผิดปกติ’ ต้องได้รับการรักษา
หากวิเคราะห์กรณีการถูกละเมิดสิทธิของ LGBT ในสังคมไทย พบว่าองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์มีอิทธิพลและบทบาทเป็นอย่างยิ่ง โดยได้ครอบงำสิทธิในการกำหนดเจตจำนงความเป็นเพศ
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์มีอำนาจวินิจฉัยกะเทยให้ตกอยู่ในภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือไม่ก็ทางจิตใจที่ ‘ผิดปกติ’ ต้องได้รับการรักษา
เหตุนี้จึงมีผู้คนจำนวนมากเชื่อตามวาทกรรมทางการแพทย์ องค์ความรู้นี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของกะเทย เป็นต้นเหตุแห่งการถูกเลือกปฏิบัติ การถูกละเมิดและลิดรอนสิทธิ รวมทั้งปัญหาการเป็นเหยื่อของความรุนแรงในทุกรูปแบบ ยิ่งเน้นย้ำว่าสังคมไทยยังไม่มีการยอมรับเพศชายขอบอย่างแท้จริง หากแต่เป็นไปเพียงการรับรู้ว่ามีตัวตนเท่านั้น ยังก้าวไปไม่ถึงการยอมรับและการส่งเสริมเรื่องสิทธิ
หลักฐานก็คือ การที่นโยบายต่างๆ ยังไม่ได้สอดรับกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่เป็นเพศชายขอบเลย แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติออกมาคุ้มครองแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในสังคม และสถาบันทางสังคมต่างๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข แรงงาน ก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนต่อการปฏิบัติกับคนเพศทางเลือกเลย อาทิ พื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน การแต่งกาย การแต่งงาน การจ้างงาน เป็นต้น
หากกล่าวถึงระบบการให้บริการทางสวัสดิการต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ พบว่า สำหรับสวัสดิการสังคมด้านอื่นๆ ยังไม่พบหลักฐานหรือการศึกษาวิจัยที่ชัดเจนทั้งในทางนโยบายและในทางปฏิบัติ
กล่าวได้ว่าความรู้ในการทำงานกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และข้อมูลที่เป็นหลักฐานในเชิงสถิติหรือรายงานที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อการปฏิบัติงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งที่มีการเคลื่อนไหวของ NGO ทั้งในระดับปฏิบัติคือการรวบรวมประเด็นและลุกขึ้นมารียกร้องเอง เช่น การเปลี่ยนคำหน้านาม กฎหมายแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน รวมทั้งการเคลื่อนไหวในระดับนโยบาย เช่น กรณีใบ สด.43 การเกณฑ์ทหารของกะเทย
ส่วนการขยับของฝั่งภาครัฐมีน้อยมาก หากเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องด้วยกลไกในระบบของราชการยังไม่สามารถรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง งานส่วนใหญ่จึงเป็นงานของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเท่านั้นเอง ซี่งก็ไม่เพียงพอและตอบสนองต่อปัญหาได้ทันท่วงที
จากนี้สังคมไทยจะมีแนวโน้มการยอมรับความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้น แบบทีละเรื่องอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดดในด้านสิทธิ แต่ในทางกลับกันในด้านทุนนิยม บริโภคนิยม การท่องเที่ยวจะถีบตัวไปไวมากเพื่อตอบโจทย์ของ LGBT
ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยสมควรที่จะได้วางรากฐานการสร้างความรู้เรื่องเพศที่กว้างขวางมากขึ้น และให้พื้นที่ทางสังคมกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในทุกบริบทและทุกมิติชนชั้นของสังคม
รวมทั้งการใช้กลไกทางกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิของ LGBT และการคิดนโยบายภาครัฐให้เกิดขึ้นจริง เพราะอะไรจึงต้องคิดเรื่องนี้
เพราะมีคนรออยู่นั่นเอง
Photo: Pichamon Wannasan