×

จาก ‘ของต้องห้าม’ สู่ ‘ของมันต้องมี’ วิวัฒนาการตัวละคร LGBTQIA+ ในละครทีวีไทย

16.06.2023
  • LOADING...
LGBTQIA+

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • มาตาลดา เป็นหนึ่งในละครที่โดดเด่นในเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายหรือ Pride Month ด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กผู้หญิงที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อที่เป็นนางโชว์ ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ละครครอบครัวเกย์แนวใสๆ จรรโลงใจแบบนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ออกอากาศ เพราะถ้าโฟกัสที่ตัวละครข้ามเพศ เกย์ หรือเลสเบี้ยนในละครไทย ก็เคยผ่านยุคที่ถูก Stereotype หรือเหมารวม ไปจนถึงการถูกแบนไม่ให้ปรากฏตัวในสื่อมาแล้วด้วยเหมือนกัน 
  • จริงๆ แล้วตัวละคร LGBTQIA+ ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมตั้งแต่ปี 2516 อย่างเช่น ประตูที่ปิดตาย, รากแก้ว, ทางสายที่สาม, ใบไม้ที่ปลิดปลิว ฯลฯ แล้วออกมาสู่หน้าจอทีวีตั้งแต่ยุคเริ่มต้นคือในปี 2499-2530 อย่างเช่นตัวละครทอมขาโหดจากเรื่อง ขบวนการคนใช้ (2520) ตัวละคร อีอ๊อด ใน สงครามพิศวาส (2526) ที่แจ้งเกิด ไก่-วรายุฑ มิลินทจินดา ในวงการทีวี
  • รักแปดพันเก้า (2547) สร้างมิติใหม่ให้คนดูได้รู้จักรักใสๆ ระหว่างชายกับชายจากบท จอน-ที จนกลายเป็นต้นแบบของซีรีส์วายไทยในยุคต่อมา จนกระทั่งในช่วงปี 2549 ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นเทรนด์ที่แทบจะมีในละครทุกเรื่อง แม้จะยังวนเวียนอยู่กับภาพลักษณ์เดิมๆ แต่ก็ทำให้เรื่องรักร่วมเพศค่อยๆ กลายเป็นเรื่องปกติในสายตาคนดู

หมายเหตุ: ในบทความนี้จะใช้คำเรียกผู้มีความหลากหลายทางเพศตามยุคสมัยของละครแต่ละเรื่องที่ออกอากาศ 

 

มาตาลดา เป็นหนึ่งในละครที่โดดเด่นในเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายหรือ Pride Month ด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กผู้หญิงที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อที่เป็นนางโชว์ ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ละครครอบครัวเกย์แนวใสๆ จรรโลงใจแบบนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ออกอากาศ เพราะถ้าโฟกัสที่ตัวละครข้ามเพศ เกย์ หรือเลสเบี้ยนในละครไทย ก็เคยผ่านยุคที่ถูก Stereotype หรือเหมารวม ไปจนถึงการถูกแบนไม่ให้ปรากฏตัวในสื่อมาแล้วด้วยเหมือนกัน 

 

 

จริงๆ แล้วตัวละคร LGBTQIA+ ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมตั้งแต่ปี 2516 อย่างเช่น ประตูที่ปิดตาย, รากแก้ว, ทางสายที่สาม, ใบไม้ที่ปลิดปลิว ฯลฯ แล้วออกมาสู่หน้าจอทีวีตั้งแต่ยุคเริ่มต้นคือในปี 2499-2530 อย่างเช่นตัวละครทอมขาโหดจากเรื่อง ขบวนการคนใช้ (2520) ตัวละคร อีอ๊อด ใน สงครามพิศวาส (2526) ที่แจ้งเกิด ไก่-วรายุฑ มิลินทจินดา ในวงการทีวี ส่วนใหญ่มักนำเสนอผู้มีความหลากหลายทางเพศในแง่ลบ และเหมารวมบุคลิกลักษณะเพียงด้านเดียว เช่น หากชอบผู้ชายก็มักตุ้งติ้ง วี้ดว้าย ในขณะที่เลสเบี้ยนมักมีภาพลักษณ์ฉุนเฉียว อารมณ์รุนแรง จนดูเหมือนสังคมไทยในยุคนั้นรู้จักเพียง ทอม ดี้ กะเทย หากจะพูดถึงผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกันจริงๆ ก็มักจะนำเสนอไปในทางหลบซ่อน ไม่ได้รับการยอมรับ และจบลงด้วยโศกนาฏกรรมเสมอ 

 

จนมาถึงในช่วงปี 2530-2540 อัตลักษณ์แบบชายรักชายในรูปแบบของเกย์เริ่มเด่นชัดมากขึ้น พร้อมๆ กับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของเกย์ในด้านลบ จนในปี 2537 กระทรวงวัฒนธรรมออกกฎกระทรวงเพื่อจัดระเบียบกลุ่มคนรักร่วมเพศ ห้ามนักแสดง ผู้จัดละคร พิธีกร ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศออกโทรทัศน์ เพื่อป้องกันพฤติกรรมลอกเลียนแบบ แต่ก็ยังมีการพูดถึงเลสเบี้ยนบ้างในทางอ้อม อย่างเช่นตัวละคร นุช ใน ดาวแต้มดิน (2538) หรือ คุณหญิงศรี ใน คือหัตถาครองพิภพ (2538) อย่างไรก็ตาม หลังปี 2540 ความกลัวเรื่องพฤติกรรมลอกเลียนแบบเริ่มเบาบางลง ทำให้มีละครที่มีตัวบุคคลหลากหลายทางเพศออกมาจำนวนมาก เช่น ชายไม่จริงหญิงแท้ (2541), รักเล่ห์เพทุบาย (2542), สะพานดาว (2542), เมืองมายา (2543) ฯลฯ ซึ่งตัวที่พลิกเกมจริงๆ คือตัวละคร กองทัพ จาก รักเล่ห์เพทุบาย ที่แนะนำให้ผู้ชมระดับแมสรู้จักเกย์ในรูปแบบที่ต่างออกไป และแจ้งเกิด ชาย-ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ ในฐานะนักแสดงขวัญใจสาวๆ จากการรับบทเกย์ 

 

ในยุคนี้ รักแปดพันเก้า (2547) สร้างมิติใหม่ให้คนดูได้รู้จักรักใสๆ ระหว่างชายกับชายจากบท จอน-ที จนกลายเป็นต้นแบบของซีรีส์วายไทยในยุคต่อมา จนกระทั่งในช่วงปี 2549 ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นเทรนด์ที่แทบจะมีในละครทุกเรื่อง แม้จะยังวนเวียนอยู่กับภาพลักษณ์เดิมๆ แต่ก็ทำให้เรื่องรักร่วมเพศค่อยๆ กลายเป็นเรื่องปกติในสายตาคนดู เมื่อผนวกกับหน่วยงานภาคประชาชนร่วมตรวจสอบสื่อเพื่อลดอคติและการตีตรา ก็ช่วยสร้างการรับรู้ใหม่ๆ ต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ให้กับสังคม

 

 

จริงๆ แล้วก่อนหน้า มาตาลดา มีความพยายามที่จะสอดแทรกเกย์ในฐานะพ่อเข้าไปในสถาบันครอบครัวมาก่อน ทั้งบท อารักษ์ อดีตนางโชว์ที่ต้องเลี้ยงลูกชายของเพื่อนนางโชว์ที่หนีไปแต่งงานกับฝรั่งจาก พระจันทร์สีรุ้ง (2552) โรส จาก มาลีเริงระบำ (2557) พ่อที่ต้องปกปิดชีวิตอีกด้านว่าเป็นกะเทยแต่งหญิง และที่ล้ำไปอีกขั้นคือตัวละคร เจ๊เพียง ใน อุ้มรักเกมลวง (2563) เกย์หนุ่มหน้าตาดี การงานดี ผู้วางแผนจะสร้างครอบครัวสมัยใหม่กับเพื่อนสนิท ที่นับเป็นความกล้านำเสนอค่านิยมใหม่ๆ รวมทั้งลดการเหมารวมว่าคนเป็นเกย์หรือกะเทยมักจะประกอบอาชีพเพียงไม่กี่อย่างในละครไทย 

 

ในปี 2557 ความสำเร็จของ Love Sick The Series ว่าด้วยเรื่องความรักใสๆ ของเด็กชายสองคน จุดกระแสให้ซีรีส์วายในไทย ทำให้ผู้ผลิตรายใหม่ๆ และรายใหญ่ๆ หันมาสนใจคอนเทนต์แนว Boy Love ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงในสังคม LGBTQIA+ แต่ทำให้มุมมองเรื่องความรักของคนเพศเดียวกันกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น รวมถึงซีรีส์วัยรุ่นชื่อดังอย่าง Hormones วัยว้าวุ่น ก็สอดแทรกเรื่องราวความรักที่หลากหลายผ่านคู่ ภู-ธีร์ และ ดาว-ก้อย หลังจากนั้นก็มีซีรีส์ที่หันมาโฟกัสเรื่องราวการใช้ชีวิตของเกย์จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เช่น Gay OK Bangkok (2560) ที่ว่าด้วยความหลากหลายของชีวิตกลุ่ม LGBTQIA+ ในกรุงเทพฯ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ (2559) ว่าด้วยชีวิตของกลุ่มเกย์สาวที่มีความทุกข์ร้อนไม่ต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่มองปัญหาเหล่านั้นให้กลายเป็นเรื่องตลก

 

 

ในขณะที่จักรวาลของซีรีส์วายเองก็ขยายวงออกไปและเริ่มหันมาพูดในประเด็นซีเรียสขึ้นอย่างเช่น แปลรักฉันด้วยใจเธอ (2563) ซีรีส์ Coming of Age ว่าด้วยการต่อสู้ของตัวละครเพื่อยอมรับรสนิยมทางเพศของตัวเอง และยังเปิดมุมมองใหม่ๆ เรื่องการยอมรับของครอบครัวที่มีลูกหลาน LGBTQIA+ ผ่านพ่อแม่ของ เต๋-โอ้เอ๋ว นอกจากนี้ละครไทยกระแสหลักยังโอบรับกลิ่นอายของซีรีส์วายผ่านเรื่องราวความรักของคนเพศเดียวกันอย่างเช่น ซ่อนเงารัก (2563) เรื่องราวของฝาแฝดชายหญิงที่เติบโตท่ามกลางความแค้นของผู้เป็นแม่ และประสบความสำเร็จจนทำให้ช่อง 3 ผลักดันละคร LGBTQIA+ เรื่อง คุณหมีปาฏิหาริย์ (2565) มาออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์ 

 

 

ตามมาด้วย รากแก้ว (2565) ละครหลังข่าวที่เนื้อหาหลักว่าด้วยเรื่องเลสเบี้ยนเรื่องแรกของไทย และในปีนั้นเองช่อง one31 ก็ประสบความสำเร็จจากละคร คุณชาย (2565) กับเรื่องราวรักต้องห้ามสมัยสงครามโลกระหว่างนักฆ่ากับคุณชายจากตระกูลใหญ่ที่ไม่ได้จบลงแบบโศกนาฏกรรม โดยก่อนหน้านั้น ใบไม้ที่ปลิดปลิว (2562) ก็เคยสร้างปรากฏการณ์ทอล์กออฟเดอะทาวน์ด้วยเรื่องราวของผู้หญิงข้ามเพศมาแล้ว

 

ต้องยอมรับว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของ LGBTQIA+ ในละครไทยถูกพัฒนาให้มีความแปลกใหม่หลากหลายมากขึ้น แต่ถ้ามองในแง่เนื้อหาก็ยังคงเป็นเรื่องของการดิ้นรนเพื่อการยอมรับอยู่ดี สะท้อนให้เห็นว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในสังคมไทยที่จะยอมรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในฐานะคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising