×

โดดเดี่ยว-กังวล-เปราะบาง ‘LGBTQIA+ สูงอายุ’ กับภาวะที่สวัสดิการผู้สูงอายุถดถอย

18.08.2023
  • LOADING...
LGBTQIA สูงอายุ

HIGHLIGHTS

  • ประเทศไทยได้เข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุ หากแต่สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุถดถอยลงและไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุหลายคนต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามความชราภาพ
  • LGBTQIA+ สูงอายุต้องเผชิญกับความยากลำบากยิ่งกว่า ต้องโดดเดี่ยว กังวล และเปราะบางมากกว่า ทั้งจากการไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว สังคมในอดีต ไม่ได้เข้าถึงงานที่มั่นคงรายได้ดี การไม่ได้รับสวัสดิการจากการไม่มีสมรสเท่าเทียม บ้านพักคนชราเพื่อ LGBTQIA+ จึงมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการของประชาชนในหลายประเทศ
  • การมีอยู่ของบ้านพักคนชรา LGBTQIA+ ไม่ได้หมายความว่า LGBTQIA+ ต้องการสิทธิพิเศษเหนือกว่าชายหญิงรักต่างเพศ หรือต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษกว่า หากแต่เพราะถูกเลือกปฏิบัติ ผลักไสให้มีคุณภาพชีวิตแย่กว่า มั่นคงน้อยกว่า มีโอกาสในการดำรงชีวิตที่ดีน้อยกว่าตั้งแต่เกิดยันแก่

ละคร มาตาลดา อวสานไปแล้ว ละครเรื่องนี้ถือว่าเปิดพื้นที่ให้เราได้เห็น Chosen Family และ LGBTQIA+ สูงอายุ ท่ามกลางซีรีส์และละคร LGBTQIA+ และ Y มากมายที่พูดถึงวัยรุ่น แม้จะเป็น LGBTQIA+ สูงอายุที่รายได้ดี เป็นเจ้าของกิจการนางโชว์ชื่อดัง มีลูกน้องบริวาร มีเงินมากพอที่จะฝากลูกน้องไปซื้อทองมาบ่อยๆ ที่เป็นเรื่องยากมากในโลกนอกละคร

 

ประเทศไทยได้เข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ขึ้นไป ปัจจุบันมีการเฉลี่ยอายุของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี แต่ในปี 2568 อายุของคนไทยโดยประมาณจะอยู่ที่ 85 ปี ยิ่งมีอายุยาวนานขึ้น 

 

ปัจจุบันอายุมัธยฐานของประชากรไทยอยู่ในวัย 39 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ (จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 25 ปี ในปี 2533, 29 ปี ในปี 2543, 35 ปี ในปี 2553 และ 39 ปี ในปี 2563) และเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก อันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ในอาเซียน อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าสวัสดิการและการดูแลผู้สูงอายุนั้นยังไม่เพียงพอทั่วถึง ขณะเดียวกันค่าครองชีพทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น ทำให้เงินเก็บหลังเกษียณไม่เพียงพออีกต่อไป สร้างความยากลำบากในการเข้าถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ลำพังผู้สูงอายุจำนวนมากมีเงินออมน้อยหรือไม่มีเลย มีงบประมาณจำกัดสำหรับการดำรงชีวิต ทั้งค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่าที่พัก เบี้ยผู้สูงอายุก็น้อยนิด (ขณะที่ยิ่งสูงอายุค่าใช้จ่ายยิ่งสูงขึ้น เพราะค่ารักษาพยาบาลและค่าเครื่องอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต) และไม่ถ้วนหน้า เพราะตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ได้เปลี่ยนเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยพิจารณาที่รายได้ของผู้สูงอายุว่าจะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ซึ่งเท่ากับว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ ‘ถ้วนหน้า’ อีกต่อไป ทำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะไม่ได้รับเงินทุกคนแล้ว ทั้งๆ ที่สวัสดิการผู้สูงอายุต้องถ้วนหน้าเช่นเดียวกับสวัสดิการโดยรัฐอื่นๆ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

 

การที่รัฐบาลรักษาการเปลี่ยนเกณฑ์เช่นนี้ เท่ากับว่าทำลายระบบสวัสดิการให้กลายเป็นเวทนานิยม เปลี่ยนสิทธิพึงได้ที่รัฐต้องบริการประชาชน กลายเป็นความเอื้ออาทรที่รัฐมองพลเมืองเป็นคนอนาถา พึ่งพิงรัฐ มากกว่าจะเป็นเจ้าของรัฐ ผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยต้องไปพิสูจน์ความยากจน ภาวะพึ่งพิงที่ลดทอนคุณค่าความเป็นคน และกระบวนการพิสูจน์ความยากจนสร้างค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นให้กับทั้งรัฐและผู้ที่ยื่นคำขอเบี้ยยังชีพ

 

ยิ่งผู้สูงอายุที่เป็น LGBTQIA+ ยิ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากเพิ่มขึ้น เพราะ LGBTQIA+ เบบี้บูมเมอร์หลายคนไม่ได้มีลูกหลาน อยู่ตัวคนเดียว ห่างเหินจากครอบครัว อันเป็นผลพลอยร้ายจากการไม่มีสมรสเท่าเทียม และอคติตีตราด้วยเหตุแห่งเพศสภาพเพศวิถีตามบริบทยุคสมัย การไม่มีสมรสเท่าเทียมทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพได้ และการถูกเลือกปฏิบัติ กีดกัน ไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม ทำให้ไม่ได้เข้าถึงงานที่มั่นคงรายได้ดี ไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ

 

LGBTQIA+ สูงอายุมีโอกาสมีครอบครัวหรือมีลูกน้อยกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ใช่ LGBTQIA+ ได้รับการดูแลจากสมาชิกในครอบครัวน้อยกว่า บางคนหย่าจากคู่สมรสแบบรักต่างเพศ แน่นอนด้วยสภาวะเช่นนี้ LGBTQIA+ วัยเกษียณย่อมมีแนวโน้มที่จะโดดเดี่ยว กังวล และเปราะบางมากกว่า ร้ายไปกว่านั้น LGBTQIA+ บางคนต้องออกจากบ้านที่เกิดและเติบโตมาเพราะถูกรังเกียจ ไม่ยอมรับ ตัดขาดจากพ่อแม่พี่น้อง บางคนใช้ชีวิตกับคู่ชีวิตที่ไม่ได้มีสมรสเท่าเทียม ซึ่งแน่นอนว่าเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ เหมือนคู่สมรสชายหญิง หลายคนเลือกที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเองระหว่างเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน

 

ด้วยเหตุนี้ LGBTQIA+ สูงอายุหลายคนจึงอยากมีที่พักอาศัยที่ปลอดภัยและสบายใจที่เรียกว่า ‘บ้าน’ สำหรับ LGBTQIA+ โดยเฉพาะ เพราะที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมเป็นรากฐานที่สำคัญของสุขภาพ และถือได้ว่าเป็นความกังวลหลักของผู้สูงอายุหลายคน

 

SAGE ซึ่งเป็นศูนย์ทรัพยากรแห่งชาติสำหรับ LGBTQIA+ สูงอายุของสหรัฐอเมริกา รายงานว่ามีผู้สูงอายุ LGBTQIA+ เกือบ 4 ล้านคนในสหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคนภายในปี 2030 จากการสำรวจ มีถึง 48% ของคู่รักเพศเดียวกันที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่จากการหาบ้านพักวัยเกษียณ 23% ของคนข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติในการหาบ้านเพื่ออยู่อาศัย และ 34% ของ LGBTQIA+ วัยเกษียณมีความกังวลว่าจะต้องหลบซ่อนอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองเพื่อให้ได้อยู่บ้านพักคนชรา การมีบ้านสำหรับ LGBTQIA+ สูงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของ LGBTQIA+ รวมทั้งต่อ Chosen Family ภายใต้สังคมที่จำกัดพื้นที่ 

 

ในอีกกรณีของ LGBTQIA+ สูงอายุที่ฟิลิปปินส์ มี Home for the Golden Gays (HGG) ในเมืองปาไซ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรของฟิลิปปินส์ที่ให้การสนับสนุนและดูแลผู้สูงอายุ LGBTQIA+ สมาชิกในองค์กรประมาณ 40 คน ส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นกะเทยและเกย์สาว พวกเธอถูกเรียกกันว่า ‘The Lolas’ (Lola เป็นภาษาฟิลิปปินส์ แปลว่า ย่า) HGG ก่อตั้งในปี 1975 เมื่อ จัสโต จัสโต คอลัมนิสต์ชาวฟิลิปปินส์ สมาชิกสภาเมืองปาไซ และนักกิจกรรม LGBTQIA+ ใช้บ้านของตัวเองเป็นสถานที่อยู่อาศัยของบรรดาเกย์และกะเทยสูงอายุ ให้ใช้ชีวิต ทำมาหากิน สังสรรค์ จิกกัด ปลอบใจ ตามประสาครอบครัว อย่างไรก็ตาม เมื่อจัสโตเสียชีวิตในปี 2012 เพียง 1 วันให้หลัง สมาชิกบ้านเกย์ทองก็ถูกขับไล่โดยครอบครัวของจัสโต

 

บรรดา Lolas ต้องระเห็จกลับบ้านญาติ ญาติก็ไม่ได้ต้อนรับนัก ต่างต้องเผชิญความยากลำบากที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน บ้างก็กระจายอยู่ตามท้องถนนเป็นคนไร้บ้าน ไม่มีที่พักพิง มีเงินเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย 

 

พวกเธอจึงพยายามระดมทุนสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ถาวร จัดงานแดร็กโชว์และโครงการเผยแพร่ชุมชนอย่างน้อยเดือนละครั้ง รับเงินจากผู้บริจาคและเอกชนบ้าง พอจะทำให้ครอบคลุมค่าอุปโภคบริโภคและค่ารักษาพยาบาลตามความชราภาพของสมาชิก 

 

สมาชิกบางคนทำงานเป็นพ่อค้าแม่ขายหรือคนทำความสะอาดถนนเพื่อหารายได้เข้ากลุ่ม ในสภาวะโครงสร้างที่มีความเหลื่อมล้ำสูง สวัสดิการสังคมและสวัสดิการโดยรัฐยังไม่ดีพอ พวกเธอยังต้องได้รับการอุปถัมภ์ช่วยเหลือ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เหมือนชะตากรรมของบ้าน Home for the Golden Gays ที่เกิดขึ้นจากบุคคล ไม่ใช่สวัสดิการโดยรัฐ

 

อันที่จริงการมีอยู่หรือควรมีบ้านพักคนชรา LGBTQIA+ ไม่ได้หมายความว่า LGBTQIA+ ต้องการหรือเรียกร้องอะไรพิเศษเหนือกว่าชายหญิงรักต่างเพศ หรือต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษกว่า 

 

หากแต่พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ ผลักไสให้มีคุณภาพชีวิตแย่กว่า มั่นคงน้อยกว่า มีโอกาสในการดำรงชีวิตที่ดีน้อยกว่าตั้งแต่เกิดยันแก่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X