×

สมรส ‘ยัง’ ไม่เท่าเทียม คู่รัก LGBTQ เตรียมเดินหน้าสู้ต่อเพื่อความเสมอภาค นักวิชาการชี้ คำวินิจฉัยศาลยังคลุมเครือ แต่ไม่ปิดประตูตาย

โดย THE STANDARD TEAM
18.11.2021
  • LOADING...
lgbtq สมรส

วานนี้ (17 พฤศจิกายน) หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ถึงมุมมองเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลว่า ผลการพิจารณายังมีให้เห็นเพียงหนังสือประชาสัมพันธ์แค่ 8 บรรทัดเท่านั้น และที่สำคัญคดีนี้เหมือนหลายคดีก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยกลางตัวจริงออกมาให้เห็นในวันที่ศาลวินิจฉัย ทำให้ประชาชนที่รอฟังคำวินิจฉัยไม่อาจทราบถึงเหตุผลที่ให้ได้โดยละเอียด

 

“สำหรับตัวผมมีความคิดว่า ประเด็นของวันนี้คือเรื่องการสมรสในเพศเดียวกัน ผมคงจะตีกรอบการสมรสในเพศเดียวกันว่า การที่ศาลบอกแบบนี้มันไม่ได้รวมถึงประเด็นเรื่องคู่ชีวิต แต่น่าจะเป็นการเปิดช่องให้รัฐสภา รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันเรื่องการสมรสในเพศเดียวกันได้ เพื่อให้เป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย” รศ.อานนท์ กล่าว

 

นอกจากนี้ รศ.อานนท์ อธิบายว่า การผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน ณ ปัจจุบัน มีอยู่ 2 โมเดลใหญ่ๆ คือ การตัดสินใจของรัฐสภาในการออกกฎหมายรับรองและคำวินิจฉัยของศาล หรือศาลสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 

“เมื่อย้อนมาดูเมืองไทย ความพยายามในการผลักดันกฎหมายของคู่ชีวิตในเพศเดียวกันยังไม่ได้ประสบความสำเร็จ และไม่แน่ใจว่าจะมีการบรรจุเป็นวาระหรือยัง แต่ที่แน่ๆ ยังไม่มีการบรรจุขึ้นเป็นวาระที่ 1 ของรัฐสภาเลย ทั้งที่ประเด็นนี้มีการพูดถึงอย่างยาวนานในบ้านเรา” รศ.อานนท์ กล่าว

 

รศ.อานนท์ กล่าวเสริมอีกว่า การที่ระบบของเมืองไทยไม่ได้สร้างให้เกิดการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นนี้ ทำให้หลายคนที่สนับสนุนกฎหมายนี้ฝากความหวังไว้ที่ศาลว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ พร้อมยกโมเดลในเคสแบบนี้ที่เกิดขึ้นกับต่างประเทศและน่าสนใจ ดังนี้

 

  • สหรัฐอเมริกา: ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ที่ตัดสินเมื่อปี 2015 ว่าการที่บุคคลในเพศเดียวกันไม่สามารถสมรสกันได้จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ หลังจากนั้นจึงเกิดการสมรสเพศเดียวกันได้ทันที 

 

  • ไต้หวัน: เกิดขึ้นในปี 2017 ศาลในไต้หวันตัดสินว่า การสมรสในเพศเดียวกันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระบบกฎหมายของไต้หวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐสภาไต้หวันต้องไปออกกฎหมายมาให้เสร็จภายใน 2 ปี 

 

  • ออสเตรเลีย: ศาลรัฐธรรมนูญในออสเตรเลียได้ตัดสินว่า ประมวลแพ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ และในระยะเวลาปีเศษๆ มีการให้ไปแก้กฎหมาย และถ้าแก้กฎหมายเสร็จ การสมรสเพศเดียวกันก็สามารถจดได้ทันทีโดยอัตโนมัติ

 

อย่างไรก็ตาม หลังมีคำวินิจฉัยออกมาแบบนี้ ทำให้บุคคลหลายฝ่ายรวมถึงนักวิชาการ ออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าว เช่น ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า 

 

“#สมรสที่ยังไม่เท่าเทียม เรา ‘โชคดี’ ที่เราได้ ‘สมรส’ กับคนที่เรารัก อยากใช้ชีวิตครอบครัวด้วย และได้รับสถานะที่กฎหมายรับรอง

 

“‘เสียดาย’ ที่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่แม้จะรักกันเพียงใด แต่ไม่มีสิทธิได้รับสถานะความเป็นคู่สมรสและความเป็นครอบครัวตามกฎหมายเช่นเดียวกับเรา เพียงเพราะเขามีเพศกำเนิดเดียวกัน 

 

“เมื่อความรักระหว่างคนเพศกำเนิดเดียวกันยังคงเป็นความรักที่ถูกกีดกันตามกฎหมาย เมื่อคนสองคนที่รักกันแต่มีเพศกำเนิดเดียวกันยังคงไม่มีสิทธิได้รับสถานะตามกฎหมาย เฉกเช่นคนที่มีเพศกำเนิดแตกต่างกัน การที่ ‘ชายกับชาย’ และ ‘หญิงกับหญิง’ ไม่สามารถสมรสกันตามกฎหมายเช่นเดียวกับชายและหญิง 

 

“จะเรียกว่า ‘บุคคลเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน’ และ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคของบุคคลได้รับความคุ้มครอง’ ตามรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

 

“ยิ่งเป็นบทบัญญัติในหมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไปของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เพียง 5 มาตรา และเป็นมาตราที่ต่อจากมาตราว่าด้วยอำนาจอธิปไตยด้วยแล้ว บทบัญญัติดังกล่าวจึงหาใช่ข้อความที่เป็นเพียงบททั่วไปธรรมดาไม่ แต่ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญที่รับรองไว้สำหรับทุกกรณี โดยไม่ต้องมีกำหนดเรื่องใดเป็นการเฉพาะ และเป็นหลักการที่บทบัญญัติใดของกฎหมายใด (รวมทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งว่าด้วยสภาพ สิทธิ และสถานะของบุคคล) จะขัดหรือแย้งมิได้ 

 

“นอกจากนั้นการที่ต้องตรากฎหมายอื่นมารองรับสิทธิและหน้าที่ของ ‘บุคคล’ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็แสดงชัดว่า ยอมรับว่ากฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันไม่คุ้มครอง ‘บุคคล’ อย่างเท่าเทียม

 

“ทั้งๆ ที่ความเท่าเทียมตามกฎหมายสร้างได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการตรากฎหมาย ด้วยการยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่ยังไม่เท่าเทียมและที่ยังไม่คุ้มครองความเท่าเทียม”

 

ขณะเดียวกัน เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง ในฐานะผู้ยื่นคำร้องขอสิทธิสมรสเท่าเทียมอันเป็นที่มาของคดีนี้ บอกกับ THE STANDARD NOW ถึงทิศทางหลังมีคำวินิจฉัยของศาลว่า หลังจากนี้ก็ยังคงต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพราะอย่างที่ทราบว่าวิธีการหลายๆ อย่างในสังคมยังไม่เอื้ออำนวยให้คนเพศเดียวทำอะไรได้มากนัก เช่น การเซ็นอนุมัติผ่าตัดก็ยังเป็นหน้าที่ของพ่อ-แม่ คนในครอบครัวตามหลักกฎหมาย 

 

ตนเองรู้สึกเสียใจที่กฎหมายยังไม่ผ่าน เพราะก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องกับหลายศาล ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน, ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลเยาวชน โดยใช้อำนาจของเยาวชนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายนี้ควรให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะความเป็นหญิง-ชาย ไม่ได้เป็นเพียงเพศแค่ 2 เพศ แต่มันคืออัตลักษณ์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ควรมีความเสมอภาคและมีกฎหมายใช้แบบไม่แบ่งแยกจากเพศหญิง-ชาย 

 

“หลังจากนี้จะเดินหน้าสู้ต่อไป และอาจต้องปรึกษากับทนายความและมูลนิธิจะไปในทิศทางไหน เพราะคำวินิจฉัยที่ออกมายังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ซึ่งมันทำให้ส่วนตัวยังมีความหวัง เพียงแต่อาจจะต้องดูอีกทีว่ายังมีแนวทางไหนให้เราได้ไปต่อ” เพิ่มทรัพย์กล่าว

 

ในช่วงท้ายของรายการ รศ.อานนท์ ได้ระบุถึงประเด็นการสมรสเท่าเทียมจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และในแง่ของอุปสรรคที่ต้องเผชิญว่า ส่วนตัวมีความเชื่อว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในบริบทสังคมไทยภายใต้บริบทความเป็นจริงของโลกใบนี้ เมื่อมองถึงความต้องการของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคม หรือความเป็นธรรมที่ควรจะก่อตั้งเรื่องความเสมอภาคของสถาบันการสมรส รวมถึงการมองออกไปในหลายประเทศที่มีแนวโน้มจะรับรองในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

 

ส่วนเรื่องที่ประชาชนต้องช่วยกันจับตาหลังจากนี้คือ ต้องดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มในรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร รวมถึงความเห็นส่วนตัวของตุลาการทุกท่านด้วย อีกทั้งต้องจับตารอดูการผลักดันของรัฐสภา รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะในส่วนท้ายของข่าวประชาสัมพันธ์จากศาลได้ให้ข้อสังเกตว่า ให้เป็นเรื่องของรัฐสภาไปดำเนินการต่อไป นั่นแสดงให้เห็นว่าประเด็นนี้ยังไม่ถูกปิดประตูตาย 

 

รศ.อานนท์ กล่าวต่อไปว่า สุดท้ายคือเรื่องโลกทัศน์ของการสมรสเพศเดียวกันของผู้พิพากษาตุลาการในประเทศอื่น โดยมีการหยิบยกคำพิพากษาของศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาในปี 2015 ที่ระบุว่า 

 

ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวใดจะลึกซึ้งมากกว่าการสมรส ซึ่งอุดมไปด้วยความรักและความซื่อสัตย์ การอุทิศตนและการเสียสละ และการเป็นครอบครัว ในโลกของคนสมรสคนสองคนจะกลายสถานะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่แต่ละคนเคยเป็นมา อีกทั้งการสมรสจะเป็นการบรรจุความรัก ความยืนยงแม้หลังความตาย คงเป็นเรื่องเข้าใจผิดว่าชายและหญิงเหล่านั้น (หมายถึงกลุ่ม LGBTQ) ไม่เคารพเรื่องการสมรส แต่คำร้องของพวกเขาเหล่านั้นแสดงถึงการเคารพแนวคิดต่างๆ เคารพอย่างยิ่งในการที่จะแสวงหาความอิ่มใจในตัวพวกเขา ความหวังที่จะไม่ถูกตัดสินให้ชีวิตตกอยู่ในความอ้างว้าง หรือถูกกีดกันจากการเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดของอารยธรรม เขาฟ้องร้องหาความเท่าเทียมในสายตาของกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญอเมริการับรองสิทธิเหล่านั้นให้พวกเขาแล้ว

 

“ดังนั้นตรงนี้เองการที่เราไม่ได้เห็นรายละเอียดในเรื่องของเหตุผล (จากข่าวประชาสัมพันธ์จากศาล) ในเรื่องก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้โดยศาลรัฐธรรมนูญไทย ก็หวังว่ารัฐสภา รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะคงหยิบประเด็นเหล่านี้ไปสู่การผลักดันต่อไป” รศ.อานนท์ กล่าวปิดท้าย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising