หากมองหาเครื่องใช้ไฟฟ้าสักชิ้น หนึ่งในแบรนด์ที่นึกขึ้นได้ในทันที ด้วยโลโก้ที่มีตัว L และ G สีแดงตัดกับขาวที่เป็นซิกเนเจอร์ ดูเหมือนน้องมีตาเคลื่อนไหวได้ พยักหน้า หมุนและขยิบตา คงคุ้นหน้าคุ้นตากันดีว่านี่คือแบรนด์ LG (엘지 전자)
แบรนด์ที่อยู่กับคนไทยมานานหลายปี แต่หากพูดถึงต้นกำเนิด LG ปักธงเริ่มต้นที่ปี 1947 ด้วยการก่อตั้งธุรกิจอุตสาหกรรมเคมีในนาม Lak Hui Chemical Industrial Corporation โดย Koo In Hwoi ผู้ก่อตั้ง
และรู้หรือไม่ว่า ผลิตภัณฑ์ตัวแรกสุดของบริษัทแห่งนี้คือ ‘ครีมลัคกี้’ (Lak Hui Cream) เครื่องสำอางของชาวเกาหลี
กระทั่งปี 1958 ก็เปลี่ยนมาเปิดเป็นบริษัท Goldstar มาเพื่อรุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เตาไมโครเวฟ จนประสบความสำเร็จ จนถึงปี 1995 เปลี่ยนชื่อให้สั้นและง่ายในนาม LG พร้อมเปิดตัวโลโก้ใหม่ เรียกได้ว่า LG เติบโตมากับยุคแห่งการบุกเบิกอุตสาหกรรมเคมีและอิเล็กทรอนิกส์ในเกาหลีโดยแท้
เวลากว่า 7 ทศวรรษ จวบจนปัจจุบัน LG ถือเป็นแบรนด์สัญชาติเกาหลีใต้ที่มีลูกค้าทั่วโลก เป็นเจ้าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ต้นๆ เป็นบริษัทนวัตกรรมยักษ์ใหญ่ระดับโลก
วันนี้ THE STANDARD WEALTH มีโอกาสเดินทางไปยังกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เยือนบ้านหลังใหญ่ของ LG ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตึก LG Twin ย่านธุรกิจ Yeouido-dong กับการค้นหาคำตอบของก้าวต่อไป เมื่อ LG จะเป็นมากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า
มุมทำงานของพนักงาน LG บนตึกสูง LG Twin ย่านธุรกิจ Yeouido-dong
จากโรงงานบุกเบิก ‘ผลิตวิดีโอและเครื่องเสียง’ วันนั้น สู่โรงงานอัจฉริยะในวันนี้
การเดินทางเริ่มต้นด้วยการเยือนธุรกิจ LG PRI ที่ตั้งอยู่ใน LG Digital Park เมืองพย็องแท็ก ซึ่งห่างจากกรุงโซลราว 2 ชั่วโมง
โรงงานแห่งนี้ได้จัดตั้งส่วนธุรกิจโรงงานอัจฉริยะภายในสถาบันวิจัยวิศวกรรมการผลิต (PRI) และเป็นโรงงานที่เริ่มต้นนำเอาเทคโนโลยีการสร้างโรงงานอัจฉริยะและโซลูชันการดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ สร้างขึ้นในปี 1984 เพื่อผลิตวิดีโอและเครื่องเสียง
ปัจจุบันธุรกิจนี้ไม่ได้นำเสนอแค่โซลูชันอีกต่อไปแล้ว หากลูกค้าต้องการโรงงานเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิต LG ก็พร้อมจัดวางระบบโรงงานให้อย่างครบวงจร โดยจะออกแบบไปจนถึงก่อสร้าง ปรับปรุง อัปเกรด ซึ่งมีติดต่อมาแล้วหลายสิบราย
โดยราคาก่อสร้างคร่าวๆ จะใช้งบประมาณลงทุนราวๆ 150 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโลกในอุตสาหกรรมอนาคตจะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง AI ชิปเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ดังนั้น LG จะนำเอาจุดแข็งที่มีมาต่อยอดเทคโนโลยีในโรงงาน
LG Smart Park ได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงงาน Lighthouse Factory ที่สะท้อนโลกแห่งอนาคต
อีกโรงงานไม่ใกล้ไม่ไกลกันมากนัก คือโรงงาน LG Smart Park เมืองชางวอน ถือเป็นศูนย์กลางแห่งอนาคตของการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านส่วนอีกแห่ง คือ LG Smart Park ได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงงาน Lighthouse Factory โดย World Economic Forum (WEF) ในปี 2022
เป็นโรงงานผลิตที่ชี้ให้เห็นถึง ‘โลกแห่งอนาคต’ ซึ่งสามารถผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมากถึง 58 รุ่นบนสายการผลิตเดียว มีระบบโลจิสติกส์แบบสามมิติที่ใช้พื้นที่คลังสินค้าน้อยกว่าแบบดั้งเดิมถึง 30%
นอกจากใช้แพลตฟอร์ม AI ขั้นสูง ในอดีตบุคลากรต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์ด้วยตนเองเพื่อมองหาปัญหาหรือความผิดปกติ แต่ด้วยระบบอัจฉริยะนี้ช่วยลดปัญหาหรือความผิดปกติลงถึง 50% และลดอัตราข้อบกพร่องอีก 30% เมื่อเห็นการทำงานจริงๆ แล้วเรียกได้ว่าบางไลน์ผลิต ‘แทบไม่ต้องใช้แรงงานคน’ เลยก็ว่าได้
ปัจจุบัน LG ขยายไลน์อัพเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้มี ‘ความอัจฉริยะอันมีเสน่ห์’ (Affectionate Intelligence) มากถึง 11 หมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, เครื่องอบผ้า Styler, เครื่องฟอกอากาศ, หุ่นยนต์ดูดฝุ่น, ตู้เย็น, เตาไฟฟ้า, เครื่องล้างจาน, เครื่องกรองน้ำ และทีวี
นอกจากนี้ด้วยแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงออกมาเป็นเครื่องปลูกพืชอัจฉริยะหรือ LG tiiun ที่ช่วยให้การปลูกผักเองในบ้านเป็นเรื่องง่าย
ตามไปดูธุรกิจที่ ‘มากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า’ ที่ว่านั้นมีอะไรอีกบ้าง
LG ยกธงขาวธุรกิจโทรศัพท์มือถือ หันมาลงสนาม EV
วันถัดมาได้เยี่ยมชมกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า LG ได้พิจารณาจากสภาวะตลาดและกลยุทธ์โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บริษัทตัดสินใจยุติกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือและแผงโซลาร์เซลล์ และหันมาทุ่มสรรพกำลังไปยังพื้นที่ที่มีการเติบโตสูงเพื่ออนาคตแทน
โดย LG มุ่งไปที่เทรนด์โลกเปลี่ยนไปสู่พลังงาน การผลิตแบตเตอรี่ เจาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทระดับโลกหันมาลงสนามหลายราย ซึ่งแน่นอนว่าได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเห็นแนวโน้มการบริโภคทั่วโลกจึงทำธุรกิจเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่ง LG มีเป้าหมายที่จะนำเสนอโซลูชันแบบครบวงจรที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ใช่เพียงแค่การจำหน่ายเครื่องชาร์จอย่างแบรนด์ ‘Volt UP’
นอกจากกรุงโซล LG ขยายธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา
THE STANDARD WEALTH สังเกตเห็นตามท้องถนนกรุงโซลเต็มไปด้วยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ จึงไม่แปลกใจกับสมญานามที่ว่า ‘เกาหลีใต้เป็นดาวรุ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า’ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอุปกรณ์ชาร์จรถ EV ดีที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งต้องเครดิตให้กับนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ LG เห็นโอกาส จึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ 4 รายการในเกาหลีใต้ผ่านบริษัทในเครือ HiEV Charger ปัจจุบัน LG ขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และจะขยายตลาดไปยังทวีปยุโรปและเอเชียในปีหน้า แง้มๆ ว่าไทยเองก็กำลังสนใจ
นอกจากนี้ LG ยังวางแผนที่จะเริ่มสร้างฐานการผลิตเพิ่มเติมภายในปีนี้ เพื่อมุ่งเป้าไปยังตลาดอเมริกาเหนือ ซึ่งในส่วนของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก็มุ่งเน้นให้เติบโตและขยายกลุ่มธุรกิจ B2B ด้วยเช่นเดียวกัน
LG จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า
Valentin Janiaut, Leading LG’s Vision in Mobility Software for the SDV Era ที่ฉายภาพถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคตกับบทบาทของเทคโนโลยียานยนต์ โดยมุ่งเน้นไปที่ยานยนต์ซอฟต์แวร์ (SDV) เพราะ LG จะไม่ได้เป็นแค่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อีกต่อไปแล้ว แต่กำลังก้าวไปข้างหน้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า
“ไม่แน่ว่าในอนาคต หากคุณซื้อรถยนต์สักคันหนึ่ง มีโอกาสสูงมากที่ภายในรถคันนั้นจะมีผลิตภัณฑ์ของ LG ทั้งหมด รวมถึงแบตเตอรี่” Valentin กล่าว
LG AlphaWare และ webOS เกมมิ่ง
อีกหนึ่งธุรกิจของ LG ที่น่าสนใจมาก คือการพัฒนาซอฟต์แวร์ LG AlphaWare การขยายนิยามของยานยนต์ในอนาคต และยกระดับความคาดหวังต่อวงการยานยนต์
โดย LG AlphaWare จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้ยานยนต์ที่ควบคุมด้วยซอฟต์แวร์ (SDV) กลายเป็นพื้นที่อาศัยบนล้อ โดยสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับที่ได้รับจากการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในบ้าน ว่าง่ายๆ ก็คือ ‘ขับขี่ในรถก็สบายเหมือนอยู่บ้าน’
นอกจากนี้ LG ยังพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ (ACP) ซึ่งหลายคนอาจคุ้นกับระบบ webOS ที่ใช้กันบนสมาร์ททีวีเป็นส่วนใหญ่ โดย LG ได้พัฒนาระบบนี้ซึ่งมีอยู่ในรถยนต์แบรนด์ดังหลายรุ่น แบรนด์หรู Genesis ของ Hyundai ก็ใช้ระบบ webOS ของ LG ด้วย
อีกทั้งอนาคตจะขยายบริการ LG Channels ในรถยนต์ และมีแผนเพิ่มตัวเลือกเนื้อหาด้วย
LG พัฒนา AI บน webOS เตรียมขยายฐานธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสื่อความบันเทิง เกม และ EV
การเดินทางครั้งนี้ยังมีโอกาสได้ร่วมงานครบรอบ 10 ปีของการเปิดตัว webOS บนสมาร์ททีวีของ LG ซึ่งต้องบอกว่า webOS มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่ของ LG โดยเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคมาเป็นบริษัทโซลูชันอัจฉริยะ
ด้วยการลงทุนเชิงกลยุทธ์มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านวอนเกาหลีใต้ (740 ล้านดอลลาร์) โดย LG ตั้งเป้าพัฒนาแพลตฟอร์ม AI webOS ในกว่า 180 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีแอปให้เลือกกว่า 4,000 แอป ที่มีทั้งความบันเทิง การออกกำลังกายที่บ้าน การศึกษา และการเล่นเกม สำหรับไฮไลต์สำคัญของปีนี้คือการเป็นแพลตฟอร์มเล่นเกมขั้นสูง
“ปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้มีเกมให้เลือกเล่นประมาณ 4,500 เกมบนคลาวด์ยอดนิยม เช่น GeForce NOW และ Amazon Luna อีกด้วย”
ไขรหัสลับ ‘ก้าวต่อไปของ LG’
ยังมีอีกธุรกิจที่ LG ซุ่มทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโซลูชันการรักษาทางการแพทย์ทางไกลในอเมริกาเหนืออย่าง LG NOVA หรือโซลูชันหุ่นยนต์อัตโนมัติ เช่น CLOi ServeBot, LG CLOi CarryBot รวมถึงแพลตฟอร์มสื่อ เกม และความบันเทิงต่างๆ และยังมองอนาคตการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์
LG จัดตั้งองค์กรที่มีภารกิจเฉพาะในการพัฒนาชิป AI สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
หากดูจากวิชัน LG ที่ได้ประกาศในการเปลี่ยนแปลงจากสถานะ ‘แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านชั้นนำระดับโลก สู่การเป็นบริษัทโซลูชันเพื่อชีวิตสมาร์ท’ (Smart Life Solution Company) สิ่งที่เห็นตลอดทริปก็ถือว่ามาถูกทาง
เพราะอนาคตบริษัทแม่ตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมาย ‘Triple Seven’ ซึ่งครอบคลุมถึงอัตราการเติบโตเฉลี่ยและกำไร 7% หรือมากกว่า รวมถึงปรับเพิ่มอัตราส่วนมูลค่าของกิจการกับกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย หรือ EV/EBITDA อยู่ที่ 7 เท่า ด้วยเป้าหมายเพิ่มยอดขายจาก 65 ล้านล้านวอนในปีที่แล้วสู่ 100 ล้านล้านวอนภายในปี 2030
ที่สำคัญคือน่าสนใจว่า LG จะใช้กลยุทธ์ตลาดและลูกค้าเจาะกลุ่ม ‘คนรุ่นใหม่’ ปรับและเปลี่ยนผ่านไปสู่
- โมเดลธุรกิจบริการที่ใช้แพลตฟอร์มเป็นฐาน
- เร่งพัฒนาในด้าน B2B
- การจัดหาเครื่องจักรแห่งการเติบโตใหม่บนพื้นฐานของความได้เปรียบในการแข่งขัน และภายในปี 2030 คาดการณ์ว่าจะช่วยดันในแง่ของยอดขายและกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50%
LG ปรับกลยุทธ์ ก้าวสู่การเป็นบริษัท ‘Smart Life Solution’ อย่างเต็มรูปแบบ
ขณะเดียวกันบริษัทก็วางแผนที่จะลงทุนเพิ่มมากกว่า 50 ล้านล้านวอนภายในปี 2030 เข้าพอร์ตโฟลิโอ ทั้งเครื่องจักรใหม่และการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) มากกว่า 25 ล้านล้านวอน ลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า 17 ล้านล้านวอน และการลงทุนเชิงกลยุทธ์ 7 ล้านล้านวอน
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ LG ประมาณ 500-700 ล้านชิ้นที่ได้รับการใช้งานทั่วโลก มีการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและทีวีได้เกือบ 100 ล้านเครื่องทุกปี
ท้ายสุด THE STANDARD WEALTH พูดคุยกับ ‘อำนาจ สิงหจันทร์’ ผู้จัดการอาวุโส แผนกการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ร่วมเดินทางในทริปนี้ บอกว่า ปีนี้เห็นการปรับตัว การเปลี่ยนแปลง ที่เร็ว ทันสมัย ของบริษัทแม่ไม่น้อย ซึ่ง LG Thailand จะนำไปปรับใช้
ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศการทำงานที่น่าอยู่ ซึ่งออฟฟิศ LG Thailand เพิ่งย้ายบ้านหลังใหม่มาอยู่ที่โครงการ One Bangkok นี่จะเป็นการเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ในการทำงาน อีกทั้งยังเห็นการปรับตัวของสินค้าไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะท้ายที่สุด
“โลกเปลี่ยน ไม่ว่าธุรกิจใด สำเร็จแค่ไหน ก็ต้องปรับตัว หากไม่ปรับ เท่ากับอยู่กับที่”
อย่างสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี นอกจากเครื่องปรับอากาศที่ขายดีในไทย ยังมีธุรกิจ EV, webOS ที่น่าจะมีศักยภาพ เครื่องเสียงที่เหมาะกับปาร์ตี้ของคนไทย หรือ LG StanbyMe Go 27” ถือเป็นหนึ่งสินค้าที่ตอบโจทย์ความบันเทิงสำหรับนักเดินทาง เหมาะกับวัยรุ่น Gen Z ที่ชื่นชอบการแคมปิ้ง
รวมถึง LG Styler ShoeCare ไอเท็มที่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์สำหรับคนรักรองเท้า สามารถตั้งโปรแกรมในการช่วยถนอมรองเท้า คุมอุณหภูมิ ทำความสะอาด กำจัดแบคทีเรีย ได้ในเวลาเดียวกัน ว่าง่ายๆ คือยังมีอีกหลายโปรดักต์ที่น่าสนใจแต่ยังไม่ได้นำเข้าหรือทำตลาดในไทย
โดยเฉพาะสถานีชาร์จ EV ที่ไทยเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก ขณะนี้จึงมองไปถึงแผนการนำสถานีชาร์จ EV ของ LG เข้ามาในไทย โดยอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อกฎหมาย
อำนาจกล่าวทิ้งท้ายว่า โปรดักต์ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว LG Thailand ก็จะทำให้ดียิ่งขึ้น แม้มีสินค้าแบรนด์อื่นที่เข้ามาทำราคาถูกแข่งขัน เรายืนยันว่าเราอยู่ในกลุ่มที่เน้นคุณภาพ เราจะรักษาแบรนด์และมาร์เก็ตแชร์ที่ดีในไทยต่อไป
ที่แน่ๆ ปีหน้าเราตั้งเป้าโต 10% มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท “เมื่อดูบรรยากาศทางเศรษฐกิจโลกและไทย น่าจะดีขึ้น ยอดขายน่าจะทะลุเกินเป้าหรือมากกว่าปีนี้แน่นอน”
อ้างอิง: