นาทีนี้คงไม่มีละครเรื่องไหนร้อนฉ่ามหาประลัยไปกว่า ‘เพลิงบุญ’ ทางช่อง 3 อีกแล้ว และถ้าวัดกันที่การแสดง ก็ต้องถือว่านักแสดงทุกคนทำหน้าที่ได้สมบทบาท
ถือเป็นมาสเตอร์พีซของ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ที่ทำให้เราเห็นว่าเธอควรได้รับการพูดถึงในความสามารถมากกว่าเรื่องผู้ชายของเธอ ส่วน เบลล่า-ราณี แคมเปน ก็มีบทที่ทำให้เห็นพัฒนาการ ซึ่งต่อให้คนอิจฉาที่เธอเป็นแฟนพี่เวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) สุดหล่อแค่ไหน ก็ยังต้องชมว่าเธอแสดงเป็น พิมาลา ได้โง่จนคนดูอิน ส่วนพี่ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ก็น่าสนใจ ตรงในช่วงเวลาห่างกันไม่กี่เดือน พี่ป้องรับบทสามีที่นอกใจภรรยา 2 เรื่องติดกัน คือ เสน่หา DIARY ตอน กับดักเสน่หา (ที่ไปฟีเจอริงกับคารามายด์) และละครเรื่อง เพลิงบุญ ถ้าลากไปไกลกว่านี้คือพี่จะฟันคอเมียตัวเองจนเป็นผีตามมาทวงแค้นอีกรอบแน่ๆ พี่ป้องโคตรเป็นภัยต่อมนุษย์เมียจริงๆ ให้ตายเถอะ!
เมื่อละครเรื่อง เพลิงบุญ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปะทะกันของผู้หญิงสองคนในนามการแย่งผู้ บทความนี้จะขอวิเคราะห์ภาพลักษณ์ของผู้หญิงในละครเรื่องนี้ และแตะๆ ไปถึงภาพลักษณ์ของผู้ชายด้วย เพื่อที่จะบอกว่าละครเรื่องนี้กำลังส่งสารอะไรกับเราบ้าง
1) จุดจบของผู้หญิงแรด ผู้หญิงดี และผู้ชายชั่ว
ไม่ต้องรอให้ละครจบ เราก็รู้ว่าใจเริงจะต้องมีชีวิตที่ฉิบหายวายป่วง ในขณะที่ผู้ชายที่น่ารังเกียจอย่างพี่ฤกษ์จะได้รับการให้อภัยจากภรรยา อะไรที่แล้วก็แล้วไป
เอาจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่อง เพลิงบุญ แต่ละครที่มีเส้นเรื่องของผู้ชายนอกใจก็เป็นแบบนี้ ทั้ง เมียหลวง, น้ำเซาะทราย, กับดักเสน่หา ฯลฯ ผู้ชายชั่วจะได้รับการให้อภัยให้มีชีวิตใหม่ ผู้หญิงดีจะให้อภัย ผู้หญิงแรดก็ตายอย่างอเนจอนาถหรืออยู่อย่างไม่มีใคร
เออว่ะ ทำไมเป็นผู้ชายนี่มันดีจริงนะ แรดก็ได้ เดี๋ยวเมียก็ให้อภัย ชีวิตดีจริงๆ เลยเว้ยเฮ้ย! เพราะฉะนั้น มีเมียน้อยไปเถอะ อย่างไรผู้หญิงก็ต้องทน
ส่วนจุดจบของผู้หญิงน่ะเหรอ ถ้าเลือกเป็นผู้หญิงที่ดีก็ต้องอยู่กับผัวเลว ทนเอาหน่อย ถ้าเลือกเป็นผู้หญิงเลวก็ต้องมีอันบรรลัยไปข้างหนึ่ง
ระหว่างทนทุกข์กับผัวเลวกับอยู่แบบไม่เหลือใคร ผู้หญิงมีทางเลือกเท่านี้เองหรือ
2) มีผัวคือนิพพาน
พิมาลา นางเอกแสนดี (แต่โง่) ซึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้กับใจเริงนั้น ละครพยายามสร้างให้เห็นว่า นี่ไง นางเอกที่เข้มแข็ง นางมาต่อปากต่อคำกับใจเริงได้แล้ว นางไม่อ่อนแออีกต่อไป พิมที่แสนดียังอยู่ แต่พิมที่โง่ได้ตายไปแล้ว! อาหารคลีนก็แซ่บได้นะคะ!
แต่วิธีการต่อสู้ของพิมาลาคือการเลือกปะทะกับใจเริง แต่ไม่แก้ปัญหาที่ผู้ชาย ครั้นลุกขึ้นมาขอหย่าก็ทำไม่สำเร็จ เพราะพี่ฤกษ์ไปอาละวาดที่อำเภอว่า “ผมไม่หย่า!” แล้วไง…แม่อาหารคลีนของเราก็เลยหย่าไม่ได้ หมาเลยไหมล่ะ
ถามว่าทีนี้พอหย่าไม่ได้ พิมาลาเลือกทำอะไร? นางเลือกฟ้องหย่าเพื่อเอาชีวิตที่ดีคืนมาไหม? …ไม่ นางไม่ทำอะไรนอกจากรอผัว กับคอยต่อสู้กับใจเริงไปวันๆ
อาหารคลีนอย่างพิมาลาจึงเป็นอาหารคลีนที่เต็มไปด้วยวิตามินแต่ทิ้งไว้นานจนไม่เหลือคุณค่าอะไร
ในละคร ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาปกป้องชีวิตของตัวเองหลังจากต้องทนทุกข์จากการไม่ให้เกียรติของสามีและเลือกสู้ด้วยการขอหย่าจะไม่มีวันสำเร็จ เพราะเพียงสามีบอกว่า ไม่! ผมไม่หย่า! นางก็ทำอะไรต่อไม่ได้ นางไม่สู้ต่อ กลับบ้านค่ะ!
เออนั่นสิ ถ้ามีสามีเยินๆ แบบนี้ จะมีเพื่อ?! ทั้งๆ ที่พิมก็มีพร้อมทุกอย่าง
แต่ละครกำลังบอกผู้หญิงที่ไม่มีความสุขหรือที่กำลังต่อสู้เพื่อชีวิตของตัวเองว่า อภัยให้สามีเถอะ จะดีจะชั่วก็ผัวเรา อยากหย่าแต่ผัวไม่ยอมหย่าเราก็ทำอะไรไม่ได้ สู้ไปก็เหนื่อยเปล่าๆ อย่างไรมีผัวก็ดีกว่าหย่า มีผัวเฮงซวยแบบพี่ฤกษ์ก็ยอมวะ!
ที่สุดแล้ว การมีผัว ต่อให้ทุกข์ทรมานและเขาไม่ให้เกียรติเราแค่ไหน ก็ยังดีกว่าการหย่าร้างเพื่อไปเริ่มชีวิตใหม่
ตลอดทั้งเรื่องเราจึงเห็นทั้งพิมาลาหรือใจเริงต่อสู้เพื่อจุดหมายเดียวกัน ไม่ใช่เพื่อการมีความสุข เพื่อการดำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่คือการสู้เพื่อให้ตัวเองมีผัว! ใจเริงต้องการเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของพี่ฤกษ์ ส่วนพิมาลาต้องการคงสถานะการเป็นภรรยาที่ถูกกฎหมายไว้ ไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหน คำว่า ‘ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย’ คือสิ่งที่ต้องเทิดไว้เหนือหัว ไม่หย่าก็ได้วะ!
มันจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะมีละครที่ผู้หญิงตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตัวเองเมื่อสามีไม่ให้เกียรติเราขนาดนี้ แล้วตัวละครต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง หย่าเสร็จก็มีชีวิตใหม่ที่ดี มีความสุขลั้ลลา ไม่ต้องมาปวดหัวกับผัวไม่รักดี
ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงผู้หญิงแบบนี้มีให้เห็นทั่วไป แต่ในละคร พวกเธอต้องยอมตายทั้งเป็นเพื่อการมีผัว
เพราะการมีผัวคือนิพพาน ละครทำให้เห็นแบบนั้น
3) ผู้หญิงด้วยกันเองอยากให้ผู้หญิงเป็นแบบไหน
หลายครั้งเราถูกสังคมบอกว่าเราอยู่ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ มีความไม่เท่าเทียมทางเพศอยู่ ด้วยเหตุนี้การมองโลกผ่านสายตาของผู้หญิง หรือการสะท้อนมุมมองของผู้หญิงน่าจะทำให้เราเห็นว่า แล้วผู้หญิงมองโลกแบบไหน?
สิ่งที่น่าคิดสำหรับ เพลิงบุญ รวมไปถึงวรรณกรรมและความบันเทิงของไทยเรื่องอื่นๆ ก็คือ ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้ก็คือผู้หญิง ผู้จัดละครเรื่องนี้ก็คือผู้หญิง นักแสดงนำเรื่องนี้ก็เป็นผู้หญิง ผู้หญิง และผู้หญิง
แต่ผู้หญิงที่อยู่ในละครหรือในบทประพันธ์กลับเป็นผู้หญิงที่อ่อนแอ มีศูนย์กลางของชีวิตอยู่ที่ผู้ชายและการมีผัว ไม่สามารถดำรงชีวิตได้โดยปราศจากผู้ชาย ขณะเดียวกัน กลับให้ผู้ชายในเรื่องได้มีอำนาจเหนือกว่า มีทางออกในชีวิตที่ดีกว่า
น่าสนใจตรงที่ผู้หญิงด้วยกันกำลังสร้างภาพผู้หญิงออกมาแบบนี้
ซึ่งผมคงต้องถามผู้หญิงแล้วล่ะว่า นี่คือผู้หญิงอย่างที่คุณอยากเป็นจริงๆ ใช่ไหม
คุณเชื่อไหมว่า ผู้หญิงต้องทนกับการมีสามีที่นอกใจเราไปเรื่อยๆ
คุณเชื่อไหมว่า ผู้ชายไม่ยอมหย่าแล้วเราจะต้องยอมแพ้เพราะไม่มีทางสู้
คุณเชื่อไหมว่า ผู้หญิงจะโง่ขนาดเปิดบ้านต้อนรับให้แฟนเก่าของสามีมาอยู่ในบ้านได้ หรือไม่มีคอมมอนเซนส์ขนาดที่ไม่รู้เลยหรือว่าคนไหนจริงใจหรือไม่
คุณเชื่อไหมว่า ถ้าผู้ชายไม่รักเราแล้ว เราจะชนะใจเขาได้ด้วยการกินกุ้งเป็นกิโลฯ ทั้งที่ตัวเองแพ้กุ้ง จะได้แพ้กุ้งจนผู้ชายต้องมาช่วย
คุณเชื่อไหมว่า ผู้หญิงกำหนดชีวิตตัวเองได้
คุณเชื่อไหมว่า ผู้หญิงมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เพราะว่าผู้ชายอย่างผมเชื่อว่าผู้หญิงมีคุณค่า แม้ว่าผู้หญิงคนไหนจะไม่เห็นว่าผู้หญิงด้วยกันมีคุณค่าก็ตาม และผมหวังว่า ผู้หญิงอีกหลายคน ผู้ชายอีกหลายคน จะเชื่ออย่างผม