การช่วยชีวิตนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย กลายเป็นเหตุการณ์หยุดโลกที่ทำให้คนทั้งโลกหายใจเป็นเรื่องเดียวกัน (ลุ้นฟุตบอลโลกยังไม่เท่าส่งกำลังใจลุ้นทีมหมูป่าฯ เลย) ผมอยากชวนคุณมาถอดบทเรียนจากถ้ำหลวงว่า เราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง และจะนำกลับไปใช้กับชีวิตเราได้อย่างไร
ถ้าเราสามารถนำบทเรียนจากถ้ำหลวงไปใช้ได้ ไม่เพียงแต่น้องๆ เหล่านั้นที่ได้ออกจากถ้ำมาพบแสงสว่าง แต่พวกเราด้วยเหมือนกันที่ได้ออกจากถ้ำที่มืดมน
ทุกชีวิตมีคุณค่าและควรค่าแก่การรักษาไว้ อะไรทำให้คนทั้งโลกร่วมมือกันทุ่มเทชีวิตทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาชีวิตคน 13 คน ถ้าไม่ใช่เพราะศรัทธาในสิ่งเดียวกันคือ ‘คุณค่าของการมีชีวิตอยู่’ ผมเชื่อว่าทุกคนที่เข้าไปช่วยก็คงคิดแบบนี้เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นเราคงไม่พยายามที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาชีวิตของพวกเขาขนาดนี้ สิ่งที่ทีมช่วยเหลือทุกคนทำมันสร้างแรงบันดาลใจให้เรารู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของการเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง และการไม่ดูดายต่อความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์
ผมว่านั่นแหละครับคือความดีงามของมนุษย์ ช่วยชีวิตให้ได้ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน คนกำลังเดือดร้อนอยู่ตรงหน้า เราจะเลือกที่จะตัดสินเขา หรือเลือกที่จะช่วยเหลือเขาให้ปลอดภัยก่อน จะชี้นิ้วตัดสินหรือยื่นมือช่วย มันคือนิ้วมือเดียวกันเลยครับ
บทเรียนของน้องคือตำราของเรา
ผมคิดว่าสิบกว่าวันในถ้ำนั้นเป็นบทเรียนราคาแพงที่น้องๆ ได้รับ และคงเปลี่ยนวิธีการมองโลกของน้องๆ ไปตลอดกาล บทเรียนนี้คำพูดใดๆ ก็สอนไม่ได้ มันเกิดขึ้นอยู่ในใจของคนที่เจอเข้ากับตัว ไม่เพียงแต่กับน้องๆ เท่านั้น ผมคิดว่าพวกเราคนนอกถ้ำก็ควรกลับมาคิดว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง
ผมเองก็อยากรู้ว่าน้องๆ อยู่ในนั้นกันอย่างไร ในเวลานั้นคิดอะไรกันบ้าง ดูแลกันอย่างไร ฯลฯ ผมคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้มีค่ามากพอที่สักวันหนึ่งเมื่อโตขึ้น ถ้ามีโอกาส น้องๆ ควรจะได้ถ่ายทอดให้พวกเราฟังเป็นบทเรียนเมื่อถึงเวลาที่สมควรและด้วยวิธีการที่เหมาะสม ผมก็เชื่อเหลือเกินว่าจะมีอีกหลายคนที่จะเปลี่ยนชีวิตจากบทเรียนของน้องๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องกำลังสอนให้เรารู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ทำให้เรากลับไปกอดคนที่เรารักให้แน่นกว่าเดิมเมื่อยังมีโอกาส เพราะเราไม่เคยรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตเราบ้าง และเมื่อไรจะเป็นกอดสุดท้ายของเรา น้องๆ สอนให้เราไม่สิ้นศรัทธาในชีวิต เพราะระหว่างที่อยู่ในถ้ำอันมืดมิด อย่างเดียวที่ทำให้เราไม่ยอมถอดใจก็คือ เชื่อว่าจะต้องรอด เชื่อว่าปัญหาใดๆ นั้นถ้าอดทนได้นานพอจะมีทางออก และสอนไปถึงว่าถ้าเราประมาทเพียงนิดเดียว มันอาจพาชีวิตของเราและคนอื่นไปอยู่ในจุดเสี่ยงต่อความเป็นความตายได้
เวลาฟังบทเรียนชีวิตของคนที่ผ่านวิกฤตมาได้ ผมคิดว่าไม่เพียงแต่ตัวเขาที่เปลี่ยนไปตลอดกาล แต่ตัวเราด้วยที่ได้รับประโยชน์จากพวกเขา
จำ จอร์แดน เบลฟอร์ต นายหน้าค้าหุ้นในตำนานที่เป็นที่มาของภาพยนตร์ The Wolf of Wall Street ที่ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ แสดงได้ไหมครับ ครั้งหนึ่งเขาเคยมีชีวิตพังพินาศจากการฉ้อโกงและฟอกเงิน เหล้ายา เซ็กซ์ ฯลฯ สุดท้าย เขากลายเป็นคนสอน FBI ให้รู้กลโกง เขาชี้ให้เห็นช่องโหว่ที่น่ากลัวของตลาดหุ้น เขากลายเป็นคนสอนศิลปะการขายที่สามารถโน้มน้าวใจคนได้อย่างมหัศจรรย์ เขานำบทเรียนความผิดพลาดของตัวเองมาเป็นประโยชน์ให้คนอื่น บทเรียนจากถ้ำหลวงจากน้องๆ ก็เช่นกัน
เราควรจะทำให้เด็กเหล่านี้รู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ผมอยากชวนให้ทุกคนคิดกันครับว่า เราอยากให้เขารู้สึกผิดไปตลอดชีวิตกับบทลงโทษของสังคม หรืออยากให้เขารู้ซึ้งถึงความรักและใช้ชีวิตต่อไปมอบสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่น ให้สมกับที่เขาเคยได้รับการช่วยเหลือครั้งยิ่งใหญ่มาก่อนกันละครับ
ผมว่าเราควรทำให้น้องๆ ซาบซึ้งถึงน้ำใจของคนทั่วโลกที่เห็นความหมายของชีวิตพวกเขา มากกว่าจะทำให้น้องต้องรู้สึกผิดกับคนทั้งโลก เพราะพอรู้ซึ้งแล้วว่ามีคนเห็นคุณค่าของชีวิตพวกเขาขนาดนี้ มีหรือที่ต่อไปพวกเขาจะมองเห็นคนอื่นๆ ว่าไร้ค่า มีหรือที่เขาจะดูดายไม่ช่วยเหลือคนอื่นที่เดือดร้อน มีหรือที่เขาจะไม่คิดถึงผลกระทบใดๆ ในทุกครั้งที่พวกเขาทำอะไรก็ตาม มีหรือที่เขาจะลืมทุกคนที่ช่วยเขามา มีหรือที่เขาจะปล่อยให้แต่ละวันผ่านไปโดยไร้ค่าอีก มีหรือที่เขาจะรู้สึกว่าชีวิตคนเรานี่มันไม่มีความหมายอะไรเลย
ถ้าจะถามว่า แล้วน้องๆ ทีมหมูป่าฯ ควรได้รับอะไรจากเหตุการณ์นี้ ผมนึกถึงเรื่องของชนเผ่า Babemba ในแอฟริกาใต้ครับ
วัฒนธรรมของชนเผ่า Babemba คือ ถ้ามีคนทำผิด เขาจะพาคนคนนั้นมายืนตรงกลางวงกลางหมู่บ้าน แล้วเชิญทุกคนในหมู่บ้านมายืนรอบล้อมคนคนนั้น โดยให้แต่ละคนพูดถึงสิ่งที่ดีที่คนคนนั้นเคยทำมาในชีวิต อาจจะเป็นความประทับใจใดๆ ที่เคยได้รับมาก็แล้วแต่ พูดออกมาดังๆ ทีละคนจนกว่าจะหมด ทุกครั้งที่พูดถึงความดีให้คนทำผิดฟัง มันเป็นการตอกย้ำให้คนทำผิดรู้ว่า ความดีที่เขาเคยทำต่างหากคือสิ่งที่มีค่าและตราตรึงอยู่ในใจทุกคน ยิ่งฟังก็ยิ่งช่วยให้เขารำลึกได้ว่าเนื้อแท้นั้นเขาเป็นคนดี หาได้เป็นคนเลวแต่อย่างใดเพียงเพราะทำผิดครั้งเดียว พิธีกรรมนี้จะดำเนินไปหลายวัน และสุดท้ายจะมีการเฉลิมฉลองให้อดีตคนทำผิดคนนั้นจะได้รับการต้อนรับกลับเข้าเผ่าอีกครั้งในฐานะคนที่พร้อมจะเริ่มต้นใหม่
มนุษย์ทำผิดพลาดได้ทุกคน และทำเรื่องที่ดีได้เช่นกัน แต่มันอยู่ที่ว่าเราเชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์แค่ไหนว่าเขามีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตัวเองขึ้นได้ ถ้าเราเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์มากพอ และมีกระบวนการหล่อหลอมเขาด้วยความรัก เราจะได้มนุษย์ที่มีความดีงามกลับมาทำประโยชน์ให้คนอื่นได้เหมือนกัน
Case Study ชั้นดีของการสื่อสารในภาวะวิกฤต
ผมทำงานด้านพีอาร์มาหลายปี นี่เป็นกรณีศึกษาของการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยได้เห็นมา และพวกเราควรเรียนรู้
Crisis Management เป็นเหมือนฝันร้ายของนักประชาสัมพันธ์ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ควบคุมได้ยาก และถ้าบริหารไม่ดีก็อาจทำให้องค์กรนั้นพังไม่เป็นท่า ขณะเดียวกันถ้าพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ นี่แหละคือโอกาสในการทำประโยชน์มหาศาล ทำให้คนรักและเชื่อมั่นในแบรนด์มากกว่าเดิม ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤตภายใต้การนำของ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เฉียบขาดมาก
เวลาเกิดวิกฤต จะต้องมีการมอบหมายว่าใครมีอำนาจในการสื่อสาร ไม่ใช่ ‘ทุกคน’ จะสามารถสื่อสารออกไปได้ เพราะนั่นอาจทำให้สารที่ต้องการสื่อสะเปะสะปะ ไม่ถูกต้อง และต้องอาศัยการสื่อสารที่เป็นทางการเท่านั้นเพื่อขจัดความเข้าใจผิด เวลาที่องค์กรเจอวิกฤต จะมีการสั่งห้ามพนักงานสื่อสารใดๆ เพื่อป้องกันสารที่ถูกบิดเบือนออกไป เพราะฉะนั้นจะต้องเลือกคนหนึ่งคนในการทำหน้าที่สื่อสารในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะ ในกรณีของถ้ำหลวงนี้ คนที่กุมการสื่อสารคือ ผู้ว่าฯ
แทนที่จะปล่อยให้นักข่าวไปไล่ถามคนนั้นคนนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะถามถูกคนไหม หรือคนตอบจะตอบได้หรือเปล่า ผู้ว่าฯ จะเป็นคนสื่อสารเองทั้งหมด โดยการสื่อสารที่ออกมาเป็นการรายงานความคืบหน้าในการทำงานด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย มีแผนภาพประกอบให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน มี Press Release สรุปให้นักข่าวพร้อม ขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยให้นักข่าวบุกไปสัมภาษณ์ในเวลาที่ไม่สมควร นั่นคือเลือกที่จะสื่อสารเมื่อจำเป็นเท่านั้น และเลือกการสื่อสารที่เป็นทางการ ทุกคนรู้เท่ากันหมด เข้าใจตรงกันหมด และทุกครั้งที่สื่อสารมีความคืบหน้ามาอัปเดตเสมอ และสื่อด้วยความมั่นใจแต่ไม่ทะนงตน ไม่ตื่นตระหนก เต็มไปด้วยพลัง ทำให้คนดูข่าวจึงรู้สึกมั่นใจ มีกำลังใจไปด้วย
เช่นเดียวกัน หลังจากที่คนดูข่าวเผชิญข่าวลือมากมาย เจ็บกันมาไม่รู้กี่ครั้ง กลายเป็นว่าตอนหลังเรารออย่างเดียวว่าท่านผู้ว่าฯ จะพูดว่าอะไร นั่นแปลว่าท่านสร้างความมั่นใจให้ประชาชนมากพอที่จะรอฟังท่าน และจะไม่เชื่ออะไรก็ตามจนกว่าท่านจะเป็นผู้แถลงออกมา
สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากการให้ข่าวของผู้ว่าฯ ทุกครั้งก็คือ ท่านไม่ได้มองนักข่าวว่ามาสร้างความวุ่นวายกับคนทำงาน แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้นักข่าวกลายเป็นทีมเดียวกัน และกลายเป็นสื่อที่สามารถนำสารที่ถูกต้องชัดเจนที่สุดออกไปเผยแพร่ได้ต่อ เราจึงไม่เห็นการอาละวาดสื่อ เห็นการอธิบายชัดเจนชนิดที่ไม่ต้องรอให้สื่อไล่บี้หาความ ที่สำคัญไม่เพียงแค่พูด แต่ท่านทำงานให้เราดูไปด้วย เราจึงเห็นว่าทุกสิ่งที่ท่านพูดก็คือสิ่งที่ท่านและทีมงานทุกคนทำตรงกัน และในขณะที่ทุกคนกำลังยกย่องท่าน ท่านต่างหากที่ผายมือมอบเครดิตให้เกียรติคนทำงานทุกคน ไม่เทกเครดิตไปคนเดียว
แต่พีกสุดไม่ใช่ตอนที่ท่านแถลงว่าเจอเด็กๆ แล้วนะครับ แต่เป็นตอนที่ท่านบอกว่า “วันนี้ทุกคนมีความสุขที่ค้นหาจนพบ เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ทีมงานและสื่อมวลชนและทุกภาคส่วนร่วมมือกันทุกๆ เรื่องที่ขอไป ผมอยากให้ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้มีสภาพให้ความร่วมมือในสภาพที่เห็นกันในวันนี้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะรุ่งเรือง” ผู้นำที่มีศิลปะการสื่อสารเป็นแบบนี้แหละครับ
ถ้ำหลวงคือสนามสอบของสื่อ ควรรู้ อยากรู้ และพลังของทวิตเตอร์
เวลาที่มีเหตุการณ์หยุดโลกที่ทุกคนพุ่งความสนใจไปเรื่องเดียวกันแบบนี้ คือเวลาที่จะได้เห็นการทดสอบทางวิชาชีพของสื่อ ใครเป็นตัวจริงดูได้จากเหตุการณ์นี้
เหตุการณ์ถ้ำหลวงครั้งนี้ทำให้เห็นว่า สนามข่าวไม่ได้แข่งกันที่ความไวแล้ว แต่แข่งกันที่ความถูกต้องและความลึกของข่าว จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกๆ ของการค้นหามีข่าวลือออกมามากมาย โดยเฉพาะประเด็นว่าเจอเด็กแล้ว ซึ่งเรียกว่ามีออกมารายวัน แม้กระทั่งสื่อใหญ่หลายรายก็มีการนำเสนอข่าวออกไป มีการตัดคลิปสั้นๆ ออกมามากมายโดยไม่รู้ต้นตอที่มาและก็นำไปตีความต่างๆ มากมาย สุดท้ายเมื่อข่าวไม่จริงมันก็ค่อยๆ คัดกรองความน่าเชื่อถือว่าเราจะฟังข่าวจากแหล่งไหนดี ผมคิดว่าจากเหตุการณ์นี้ ประชาชนต้องการสื่อที่นำเสนอข่าวที่ถูกต้องมากกว่าสื่อที่ไวแต่ผิด
นอกจากความถูกต้องแล้ว เรายังได้เห็นกึ๋นของคนทำข่าวในการคัดสรรประเด็นว่าเรื่องอะไรบ้างที่ประชาชน ‘ควรรู้’ จากเหตุการณ์เดียวเราได้เห็นการเจาะประเด็นและแตกประเด็นตั้งแต่หน่วยซีลมีหน้าที่อะไร เราควรทำอย่างไรถ้าติดอยู่ในถ้ำ การเชื่อมโยงตำนานความเชื่อเข้ากับวิถีการสร้างสังคมอุษาคเนย์ ทำไม Power Gel จึงเป็นอาหารมื้อแรกของเด็กทั้ง 13 คน ในประเทศไทยมีถ้ำไหนอีกบ้างที่เราควรรู้จัก ย้อนดูเหตุการณ์การติดถ้ำที่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ ยันการอธิบายสภาพทางธรณีวิทยาของถ้ำหลวงและพื้นที่โดยรอบ ฯลฯ ซึ่งให้ประโยชน์กับคนรับข่าวสาร
นอกจากสิ่งที่ประชาชนควรรู้แล้ว หลายข่าวชั้นดีก็มาจากสิ่งที่ประชาชน ‘อยากรู้’ ด้วย ที่ผมชอบอีกอย่างหนึ่งคือการทำสกู๊ปรวมข่าวลวงที่เกิดขึ้น นัยว่าถ้าข่าวไหนที่เราได้อ่านได้ดูมาแล้วตรงกับสกู๊ปนี้แปลว่ามั่วชัวร์ อย่าได้แชร์ นี่ก็เป็นอีกวิธีการนำเสนอข่าวที่แปลกดี (แต่ก็ท้าทายจริตคนที่ไม่อ่านให้ถ้วนถี่เหมือนกัน) ไปจนถึงการทำสกู๊ปรวมคำถามที่พวกเราสงสัยและนักข่าวไปหาคำตอบมาให้ เช่น หน่วยซีลห้ามเปิดเผยหน้าตาจริงไหม ตกลงห้ามสื่อไลฟ์จริงหรือเปล่า มนุษย์อยู่ได้โดยไม่กินอาหารนานแค่ไหน ฯลฯ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดการสำรวจความเคลื่อนไหวของคนเสพข่าวว่ามีข้อสงสัยอะไรบ้างที่ปรากฏในโซเชียลแล้วนักข่าวไปหาคำตอบมาให้ ซึ่งทั้งเรื่องที่ประชาชนควรรู้และอยากรู้นั้น สุดท้ายแล้วนักข่าวต้องเป็นคนตอบเองว่าจะนำเสนออะไรและอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่สุด
แน่นอนว่ามันอาจจะมีบางเรื่องที่ประชาชนอยากรู้ แต่รู้แล้วไม่เกิดประโยชน์หรือไปล้ำเส้นแหล่งข่าว ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องนำเสนอ เช่น ไม่ใช่เรื่องที่นักข่าวควรไปถามพ่อแม่ของเด็กว่าเตรียมใจไว้บ้างไหม มีอะไรที่อยากจะบอกกับน้องบ้าง ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเค้นดราม่าเบอร์นั้นออกมาขายข่าว ต่อให้มันจะเป็นเรื่องที่ดันมีประชาชนบางส่วนอยากจะรู้ก็เถอะ หรือต่อให้ประชาชนจะอยากรู้ว่าข้างในถ้ำเขาทำงานกันอย่างไร ลำบากแค่ไหน แต่การเข้าไปถ่ายทำขณะเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงานกันก็ไม่ใช่วิธีที่เป็นประโยชน์เท่าไร
ขณะเดียวกันเราจะเห็นการโหนกระแสที่ดูไม่เข้าท่าเท่าไร เช่น เพจสอนแต่งหน้าบางเพจนำเสนอวิธีการแต่งหน้าถ้าติดอยู่ในถ้ำหลวง แต่งหน้าอย่างไรให้ติดทนนานแม้อยู่ในถ้ำหลายวัน ใช่ครับว่าการทำคอนเทนต์ที่อิงกับสิ่งที่คนกำลังสนใจอยู่ทำให้เราหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเหตุการณ์นั้นและพาเอ็นเกจเมนต์เราสูงไปด้วย แต่เมื่อไรก็ตามที่เราโหนกระแสไม่ถูกกาลเทศะ เมื่อนั้นเราก็จะถูกกระแสตีกลับไปด้วย ความรับผิดชอบต่อสังคมน่าจะเป็นสิ่งที่คนทำคอนเทนต์คำนึงถึงมากกว่าการหาวิธีดึงเอ็นเกจเมนต์หรือทำให้ตัวเองดัง
ข้อสังเกตต่อมาคือนี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นพลังของทวิตเตอร์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (ถ้าไม่นับเรื่องติ่งเกาหลีและนางงามจักรวาล) ข่าวที่ไวที่สุดมาจากทวิตเตอร์ ซึ่งเราได้เห็นว่าพลังของตัวอักษรที่จำกัดนั้นทำให้ผู้สื่อสารต้องคัดมาเฉพาะใจความสำคัญในการสื่อสารจริงๆ สื่อไหนที่ใช้ทวิตเตอร์ได้ไวและรักษาความถูกต้องไว้ได้ก็จะกุมหัวใจคนเสพข่าวสารไปด้วย
อยากได้ความไวให้ไปอ่านทวิตเตอร์ อยากได้ความลึกให้ไปอ่านข่าวจากเว็บที่น่าเชื่อถือ อย่าเชื่อคลิปสั้นๆ ที่ตัดมาในไอจี อย่าวางใจสิ่งที่คนแชร์ต่อๆ กันมา และตั้งคำถามทุกครั้งก่อนจะแชร์หรือเชื่ออะไร สำคัญที่สุดคืออย่าผูกขาดความเชื่อถือไว้ที่แหล่งข่าวเพียงแหล่งเดียว แต่รู้จักกรองข่าวสารรอบตัว เราก็จะรู้เท่าทันข่าวสาร
ภาพประกอบ: Tanya S.