โฆษกของการแข่งขันสิงคโปร์กรังด์ปรีซ์ 2024 เปิดเผยผ่าน The Straits Times เกี่ยวกับการคาดการณ์จำนวนแฟนกีฬาที่เข้าชมการแข่งขันฟอร์มูลาวันที่สิงคโปร์ในปีนี้ ว่ามีโอกาสจะสูงเท่ากับปี 2023 ด้วยจำนวนราว 250,000 คน
ขณะที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (Ministry of Trade and Industry: MTI) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการแข่งขันสิงคโปร์กรังด์ปรีซ์ครั้งแรกเมื่อปี 2008 อีเวนต์นี้สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้สิงคโปร์ไปแล้ว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 66,000 ล้านบาท
สิงคโปร์กรังด์ปรีซ์นับเป็นหนึ่งในเรซที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชีย ด้วยการเป็นสนามแรกในศึกฟอร์มูลาวันที่จัดการแข่งขันตอนกลางคืน หรือไนต์เรซ และยังเป็นอีเวนต์แบบโรดเรซ หรือแข่งขันบนถนนภายในเมืองผ่านแลนด์มาร์กสำคัญต่างๆ มากมาย
สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์สำคัญของการแข่งขันรายการนี้ และเป็นความท้าทายสำหรับนักแข่งไปพร้อมๆ กัน โดยมีหลายคนที่ยกให้ Marina Bay Street Circuit เป็นสนามที่ท้าทายที่สุดในฤดูกาล เนื่องจากเป็นสนามที่มีขนาดแคบและแซงกันได้ยาก
เมื่อปี 2023 สื่อกีฬาชื่อดังทั้ง Sky Sports และ ESPN ต่างก็ยกให้สิงคโปร์กรังด์ปรีซ์เป็นเรซยอดเยี่ยมประจำปี 2023
แต่ความสำเร็จของสิงคโปร์กรังด์ปรีซ์มีหลากหลายปัจจัยที่น่าศึกษา ก่อนที่เราจะปักธงว่าไทยควรมีการแข่งขันฟอร์มูลาวันในประเทศ
จุดได้เปรียบของสิงคโปร์
ภาพ: Getty Images
อย่างที่ทราบกันดีว่าสิงคโปร์เป็นฮับทางธุรกิจแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งธนาคารโลกเคยนิยามสิงคโปร์ว่าเป็น ‘สถานที่ที่ง่ายที่สุดในโลกที่จะทำธุรกิจ’ และเป็นศูนย์กลางทางการเงิน รวมไปถึงการขนส่งด้วย
ปัจจัยดังกล่าวทำให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญและมีองค์ประกอบทางอุตสาหกรรมที่พร้อมต่อยอดการทำธุรกิจและการลงทุน รวมทั้งยังมีประสบการณ์ในการจัดอีเวนต์ระดับสากลมาแล้วมากมาย
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีโรงแรมและร้านอาหารชั้นนำที่พร้อมสำหรับการจัดอีเวนต์ระหว่างการแข่งขัน เช่น การแถลงข่าวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศึกฟอร์มูลาวันที่จะเกิดขึ้นปีละครั้ง
แถมด้านตัวรายการสิงคโปร์กรังด์ปรีซ์เอง ยังทำงานใกล้ชิดกับสายการบิน Singapore Airlines ที่ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตเรซนี้ด้วยการเสนอแพ็กเกจที่มีทั้งเที่ยวบิน โรงแรม และบัตรแกรนด์สแตนด์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอีกด้วย
แต่จุดที่ได้เปรียบที่สุดของสิงคโปร์คือตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ โดยมีการเปิดเผยตัวเลขว่า แฟนกีฬาฟอร์มูลาวันกว่า 40% เป็นแฟนกีฬาจากอังกฤษและออสเตรเลีย รวมถึงแฟนฟอร์มูลาวันในภูมิภาคก็มีเรซนี้เป็นสนามที่ใกล้ที่สุดและใช้เวลาเดินทางสั้นที่สุดที่จะเดินทางไปชมการแข่งขันได้ในแต่ละปี
ซึ่งนอกจากฟอร์มูลาวันแล้ว สิงคโปร์ยังเคยเป็นเจ้าภาพยูธโอลิมปิกเกมส์ 2010 และจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาทางน้ำชิงแชมป์โลกในปี 2025 นอกจากนี้พวกเขายังจัดการแข่งขันรักบี้ 7 คนเวิลด์ซีรีส์เป็นประจำทุกปี และสนามกีฬาแห่งชาติของสิงคโปร์ยังได้เป็นแลนด์มาร์กที่จะจัดฟุตบอลอุ่นเครื่องจากสโมสรระดับโลกเป็นประจำทุกปีอีกด้วย
การจัดอีเวนต์เหล่านี้มาตลอดทำให้พวกเขามีความพร้อม และประสบการณ์ที่พร้อมจัดมหกรรมระดับโลกอย่างฟอร์มูลาวันได้อย่างไม่มีปัญหานั่นเอง
การสนับสนุนของภาครัฐสิงคโปร์
ภาพ: Getty Images
นอกจากการแข่งขันระดับโลกที่เกิดขึ้นทุกปีแล้ว ทางรัฐบาลสิงคโปร์ก็มีแผนต่อเนื่องที่ต้องการให้อีเวนต์นี้ประสบความสำเร็จ ด้วยการจัดกิจกรรมระดับโลกอื่นๆ ที่ส่งเสริมฟอร์มูลาวัน อาทิ คอนเสิร์ต โดยปีนี้จะมีวง BABYMONSTER จากเกาหลีใต้ มาแสดงด้วย
อีกปัจจัยที่ส่งผลในแง่บวกต่อการจัดสิงคโปร์กรังด์ปรีซ์คือ การร่วมแรงร่วมใจจากคนในประเทศที่ยอดเยี่ยม สังเกตได้จากการปิดถนนที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนภายในประเทศ เพื่ออีเวนต์ระดับโลกรายการนี้ที่จัดขึ้นเป็นประจำในทุกปี
เมื่อเปรียบเทียบกับอินเดียนกรังด์ปรีซ์ อีเวนต์ที่รัฐบาลอินเดียจัดให้เป็นอีเวนต์บันเทิงไม่ใช่อีเวนต์กีฬา จนทำให้ทีมต้องจ่ายภาษีบันเทิง หรือ Entertainment Tax เพิ่มเติม ซึ่งสุดท้ายเมื่อพวกเขาไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ ทำให้อินเดียนกรังด์ปรีซ์ไม่ได้กลับเข้าสู่โปรแกรมของฟอร์มูลาวันอีกเลย
ขณะที่สิงคโปร์กรังด์ปรีซ์สามารถจัดการแข่งขันโรดเรซใจกลางเมืองได้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของสิงคโปร์ ในทางกลับกัน สนามฟอร์มูลาวันของเกาหลีใต้ที่ Korea International Circuit ที่เมืองยอนกัม กลายเป็นจุดอ่อน เนื่องจากหากเดินทางด้วยรถไฟ สนามแห่งนี้อยู่ห่างจากกรุงโซลถึง 5 ชั่วโมง ส่วนแผนการลงทุนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามของโคเรียนกรังด์ปรีซ์ก็ล้มเหลว เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ
การรับมือกับอีเวนต์ระดับโลกที่มีความเสี่ยงสูง
ภาพ: Getty Images
ฟอร์มูลาวันคือการแข่งขันรถยนต์ที่มีความเร็วสูงที่สุดในโลก ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจึงมีสูงและมีได้ทุกเมื่อ ซึ่งเมื่อปี 2023 สิงคโปร์ก็ได้รับการยกย่องจากสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) ว่าเป็นทีมเจ้าหน้าที่ที่ดีที่สุด และได้รับรางวัล FIA Volunteers and Officials Awards จากการที่เจ้าหน้าที่ของสิงคโปร์กรังด์ปรีซ์เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือการแข่งขันได้ถึง 17 ครั้งตลอดสุดสัปดาห์ รวมถึงการช่วยเหลือ Lance Stroll ที่ประสบอุบัติเหตุชนกับ Esteban Ocon จนต้องออกจากการแข่งขันเนื่องจากปัญหาเกียร์ รวมทั้งเหตุการณ์การชนของ George Russell ในรอบสุดท้ายด้วย
“ฉันภูมิใจมากกับทีมงานและทีมกู้ภัยของเรา ซึ่งเป็นอาสาสมัคร 50 คน และทำงานอย่างหนักและทุ่มเท รวมทั้งเสียสละเวลาส่วนตัว จนเราได้รับรางวัลนี้” Janette Tan ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการแข่งขันของสิงคโปร์กรังด์ปรีซ์ กล่าวยกย่องทีมงานกว่า 900 คน
“กว่า 90% ของเจ้าหน้าที่กลับมาช่วยเราทุกปี และฉันรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ร่วมงานกับทีมที่มีแพสชันในทุกๆ ปี” Janette Tan กล่าว
การบริหารจัดการเวลาแข่ง
ปัจจัยสำคัญของการจัดไนต์เรซของสิงคโปร์ นอกจากเรื่องสภาพอากาศและความสวยงามของแลนด์มาร์กต่างๆ ในตอนกลางคืนแล้ว ยังเป็นเรื่องของนาฬิกาชีวิตของนักแข่งและทีมงานฟอร์มูลาวันที่ต้องเดินทางไปทั่วโลกตลอดทั้งปี
โดยการแข่งขันเริ่มต้นเวลา 20.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสิงคโปร์ และจบลงในเวลา 22.00 น. ซึ่งอาจจะแปลกเมื่อเปรียบเทียบกับเรซอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรป แต่เมื่อเราแปลงเวลาดังกล่าวให้เป็นเวลาในยุโรปจะตรงกับเวลา 14.00 น. ทำให้ทีมงานทั้งหมดยังคงทำงานเวลาเดียวกับที่ยุโรป
ทำให้ตารางชีวิตของทีมงานฟอร์มูลาวันในสุดสัปดาห์ที่ไปแข่งที่สิงคโปร์ พวกจะต้องปรับเวลาเข้านอนตอน 05.00 น. และตื่นช่วงบ่าย กินข้าวเช้าช่วงเวลา 15.00-16.00 น. และกินข้าวเที่ยงเวลา 20.00 น. แม้จะฟังดูแปลกๆ แต่ทีมงานและนักแข่งจะไม่ต้องกังวลกับปัญหาอาการเจ็ตแล็ก หรือต้องปรับตัวตามเวลาท้องถิ่นเหมือนสนามอื่นๆ นั่นเอง
นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับนักแข่งและทีมงานแล้ว การแข่งขันไนต์เรซยังเป็นสิ่งที่สิงคโปร์กรังด์ปรีซ์ทำเพื่อตอบโจทย์แฟนกีฬาทั่วโลกด้วย เพราะถึงเวลาแข่งขันที่ใกล้เคียงกับการแข่งขันที่ยุโรป แฟนกีฬาทั่วโลกก็ไม่จำเป็นต้องปรับเวลามากเพื่อชมเรซที่สิงคโปร์
หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ก็เหมือนกับการแข่งขันพรีเมียร์ลีกที่เลือกแข่งช่วงบ่าย เพื่อให้แฟนบอลในเอเชียได้รับชมการแข่งขันแบบถ่ายทอดสดโดยไม่ต้องกินเวลานอนของพวกเขาเยอะขึ้นนั่นเอง
จากกาตาร์ 2022 และปารีส 2024 สู่สิงคโปร์กรังด์ปรีซ์ มีอีเวนต์เมื่อพร้อม
‘เมื่อการจัดการแข่งขันทำได้ดี สิ่งเดียวที่ทุกคนจะพูดถึงคือการแข่งขันที่เกิดขึ้น’
นั่นคือคำนิยามที่หลายคนกล่าวถึงเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพครั้งแรก รายการนี้ถูกยกให้เป็นทัวร์นาเมนต์ที่จัดการแข่งขันได้ดีที่สุดครั้งหนึ่งในบรรดาการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้งหมดด้วยหลายปัจจัย เช่น สนามที่มีความพร้อมและการจัดการที่มีความปลอดภัยตลอดทัวร์นาเมนต์
ด้านโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ที่เพิ่งจบไป ทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกก็ไม่ต่างกัน โดยจุดเด่นจุดหนึ่งที่ THE STANDARD SPORT สังเกตได้คือ ความพร้อมในการจัดอีเวนต์ระดับโลกของกรุงปารีส เพราะพวกเขามีประสบการณ์ในการจัดอีเวนต์ชั้นนำของโลกเป็นประจำทุกปี เช่น การจัดเฟรนช์โอเพน 1 ใน 4 เทนนิสระดับแกรนด์สแลมของฤดูกาล รวมไปถึงงาน Paris Fashion Week ทำให้ทั้งสถานที่และเจ้าหน้าที่พร้อมรองรับอีเวนต์ระดับโลกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ขณะที่สิงคโปร์กรังด์ปรีซ์ ซึ่งจะแตกต่างจากทั้งฟุตบอลโลกและโอลิมปิก เพราะนี่เป็นอีเวนต์ที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี และความท้าทายในแต่ละปีก็จะแตกต่างออกไป ทั้งความนิยมของกีฬาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกฎการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ดังนั้นนอกจากศักยภาพแล้ว ความพร้อมและการปรับตัวก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างกัน
ประเทศไทยวันนี้ที่มีการพูดคุยกันว่าจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟอร์มูลาวัน แน่นอนว่าถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศในการดึงดูดแฟนกีฬาในภูมิภาค ที่ปัจจุบันมีเพียงสิงคโปร์กรังด์ปรีซ์ที่เป็นเรซที่ใกล้ที่สุดและเป็นตัวเลือกแรก รวมทั้งอีเวนต์นี้ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า ไทยเองก็เป็นเจ้าภาพอีเวนต์กีฬาระดับโลกได้ทุกปีเช่นเดียวกัน
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราเองต้องตอบคำถามสำคัญหลายอย่างที่ถอดบทเรียนมาจากประสบการณ์ของสิงคโปร์กรังด์ปรีซ์ให้ได้ก่อนว่า…
- ไทยแลนด์กรังด์ปรีซ์จะจัดที่ไหน เป็นโรดเรซหรือสเตเดียม
- ไทยแลนด์กรังด์ปรีซ์มี Ecosystem สำหรับธุรกิจอีเวนต์ระดับโลกที่พร้อมแบบสิงคโปร์แล้วหรือไม่
- ภาครัฐและเอกชนพร้อมแค่ไหนสำหรับการสนับสนุนอีเวนต์ระดับโลกอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
- เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการลงทุนมหาศาลครั้งนี้ ที่ต้องเสียสละทั้งเวลา งบประมาณ และการบริหารจัดการ ที่ต้องพร้อมปรับตัวตลอดเวลาเป็นประจำทุกปี
ไม่เช่นนั้นฝันของการมีฟอร์มูลาวันของประเทศไทยในอนาคตอาจมีผลลัพธ์ไม่ต่างกับเอเชียนอินดอร์ในปีนี้ก็ได้
อ้างอิง:
- https://www.skysports.com/ฟอร์มูลาวัน/news/12433/13017512/ฟอร์มูลาวัน-2023-awards-best-race-best-martin-brundle-moments-biggest-surprise-and-shocks-plus-lots-more
- https://www.formula1.com/en/latest/article/5-reasons-we-love-the-singapore-grand-prix.3vG029KA9fR86QzlRz3diq
- https://www.straitstimes.com/sport/formula-one/singapore-formula-1-grand-prix-hailed-as-best-race-of-2023-by-international-media
- https://www.motorsport.com/ฟอร์มูลาวัน/news/analysis-why-the-singapore-gp-is-a-success-story/642968/
- https://shorts.growthx.club/p/why-formula-1-failed-in-india