×

‘เชียงใหม่’ น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 50 ปี ปัญหาอยู่ตรงไหน บทเรียนครั้งนี้สะท้อนอะไร

09.10.2024
  • LOADING...
เชียงใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อพูดถึงเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของไทยคงต้องยกให้  ‘เชียงใหม่’ ยิ่งเข้าสู่ช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงสิ้นปีซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน ยิ่งมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาสัมผัสบรรยากาศฤดูหนาว แวะมาเยือนวัฒนธรรมท้องถิ่นดินแดนล้านนา 

 

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเชียงใหม่ (Gross Provincial Product หรือ GPP) มีมูลค่ารวมทั้งหมด 239,739 ล้านบาท ขณะที่รายได้ประชากรต่อหัวเฉลี่ย (GPP per Capita) อยู่ที่ 133,306 บาท 

 

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีประชากรที่มีมากกว่า 1.79 ล้านคน และถือเป็นจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศไทย รองจากกรุงเทพฯ และเป็นจังหวัดที่มีส่วนกระตุ้นเม็ดเงินต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อย

 

 

ทว่าภาพบรรยากาศปลายฝนต้นหนาวในปีนี้ ด้วยความเร็วและน้ำไหลเชี่ยว สถานการณ์มวลน้ำมหึมาไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ กระสอบทรายที่กั้นป้องกันการท่วมตลาดวโรรสหรือกาดหลวง และตลาดต้นลำไย เทศบาลนครเชียงใหม่ ที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ย่านการค้าขายสำคัญ โดยเฉพาะย่านถนนช้างคลานที่ถือว่าเป็นย่านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเรือนประชาชนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง 

 

ย่านเศรษฐกิจถูกน้ำท่วมหนักในจุดที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อนตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม ระดับน้ำที่สถานีตรวจวัด P.1 สะพานนวรัฐ ขึ้นถึง 5.28 เมตร นับเป็นระดับน้ำสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำลายทุกสถิติน้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ เรียกว่ากระทบหนักสุดในรอบ 50 ปี!

 

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เชียงใหม่’ ปัญหาอยู่ที่ไหน บทเรียนครั้งนี้สะท้อนอะไร เราเรียนรู้อะไรจากวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้ ?

 

THE STANDAED WEALTH สัมภาษณ์ สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์ผลกระทบจากน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งนี้ว่า สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ปีนี้ ‘ถือเป็นวิกฤตขั้นสุดในรอบหลายสิบปี’ โดยหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 2,960 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.02% ของ GDP (บนสมมติฐานว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายภายใน 7 วัน) 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์น้ำท่วมยืดเยื้อถึง 15 วัน ประเมินว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 4,232 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 40% จากประมาณการเดิม ซึ่งภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 220,469 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 77,164 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ 143,305 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 10 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ เชียงดาว, แม่แตง, แม่ริม, เมืองเชียงใหม่, สารภี, หางดง, สันป่าตอง, ดอยหล่อ, จอมทอง และฮอด โดยอำเภอเมืองเชียงใหม่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

 

ขณะที่ประเมินผลกระทบแยกตามภาคเศรษฐกิจจะพบว่า ภาคการเกษตรเสียหายมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 1,846 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 62.4% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 1,098 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม เสียหาย 15 ล้านบาท ตามลำดับ 

 

ห่วงช่วงไฮซีซันกระทบท่องเที่ยวไทย ต่างชาติยกเลิกไฟลต์บิน

 

สนั่นระบุอีกว่า “สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มีความรุนแรงและเกิดขึ้นในช่วงไฮซีซันของจังหวัดเชียงใหม่ จึงส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งได้รับผลกระทบ”

 

ไม่ว่าจะเป็นบริเวณถนนท่าแพและพื้นที่ใกล้เคียง ขณะที่เส้นทางการคมนาคมบางจุดถูกตัดขาดหรือมีได้รับความเสียหายทั้งทางถนนและรถไฟ ส่งผลให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวเป็นไปด้วยความยากลำบาก 

 

“คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะมีความกังวลและอาจเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทาง ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ปีนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” 

 

อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์น้ำลดระดับและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รัฐบาลควรเร่งเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะย่านการค้า การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ให้กลับฟื้นตัวได้ทันในช่วงไฮซีซันของปีนี้

 

ขณะเดียวกัน หอการค้าไทยจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสินค้าราคาประหยัดช่วยเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในพื้นที่ เช่นเดียวกับหอการค้าจังหวัดเชียงรายที่จะจัดงานหอการค้าแฟร์ ซึ่งส่วนนี้คงจะเปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับประชาชน

 

“ส่วนด้านการท่องเที่ยว หอการค้าไทย หอการค้าในพื้นที่ และ ททท. จะช่วยประชาสัมพันธ์และเร่งโปรโมตพื้นที่ท่องเที่ยวที่กลับมาเปิดได้ตามปกติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างชาติ เพื่อรองรับช่วงไฮซีซันที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย” สนั่นกล่าว 

 

จากเชียงราย…ถึงเชียงใหม่ 

 

เราได้หารือกับหอการค้าเชียงใหม่ โดยระดมความคิดเห็นและนำเสนอข้อเสนอในการฟื้นฟู เยียวยา และแผนการจัดการน้ำ ผ่านมายังหอการค้าไทย เช่นเดียวกับพื้นที่เชียงราย 

 

“ในระยะสั้น ขอให้มีการตรวจสอบระบบน้ำประปาให้สามารถใช้งานได้ตามปกติและสำรองน้ำประปาให้เพียงพอต่อการฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมทั้งให้ความสำคัญและความเท่าเทียมในการช่วยเหลือ เยียวยา โดยใช้ช่องทางในการได้รับการชดเชยช่องทางเดียวให้เบ็ดเสร็จเพื่อลดความซ้ำซ้อน”

 

 

นอกจากนี้อยากให้จัดทำแผนและงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งการลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูปลอดอัตราดอกเบี้ยและปลอดระยะเวลาชำระหนี้ 1 ปี และการจัดสรรพื้นที่ทำกินใหม่ เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการให้กลับมาฟื้นตัวได้ 

 

ส่วนในระยะยาว สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการจัดระบบเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงกับสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับการจัดการของประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก

 

สะท้อนการจัดการกับปัญหาน้ำท่วมรัฐบาล  

 

สนั่นระบุว่า ในส่วนของรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาและมาตรการที่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในการฟื้นฟูกิจการไปบ้างแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง

ดังนั้น อยากให้รัฐบาลเร่งเข้าไปสำรวจและประเมินความเสียหายของภาคธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเพิ่มเติมในส่วนของมาตรการฟื้นฟูในระยะสั้น เพื่อให้จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือกลับมาเป็นปกติในช่วงไฮซีซันได้ทันท่วงที

 

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนมุมมองไปถึงแผนการบริหารจัดการกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเริ่มเกิดขึ้นถี่และขยายวงกว้างมากขึ้น

 

“ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการบรรเทาความเสียหายและเยียวยาประชาชนในส่วนนี้ปีละกว่าแสนล้านบาท” สนั่นกล่าว

 

ดังนั้น รัฐบาลควรมีการทบทวนและวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นระบบอย่างจริงจัง โดยหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลรื้อฟื้นแผนการวางระบบบริหารจัดการน้ำในอดีตที่รัฐบาลได้เคยนำเสนอไว้ และเร่งผลักดันโครงการที่สามารถดำเนินการได้ก่อนผ่านงบประมาณปี 2568 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับภาคธุรกิจและประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที ส่วนในระยะกลาง-ยาว เสนอให้รัฐบาลจัดเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดการบูรณาการมากขึ้น 

 

 

หอการค้าเชียงใหม่รับ วิกฤตสุดรอบ 50 ปี

 

THE STANDARD WEALTH พูดคุยกับ ‘ปรกฤษฎิ์ สายหัสดี’ กรรมการเลขาธิการหอการค้าเชียงใหม่ ถึงสถานการณ์ในขณะนี้ว่า ณ วันนี้ น้ำที่ท่วมสูงในหลายจุดได้ลดลงแล้ว หลังท่วมสูงตลอดหลายวันที่ผ่านมา แต่ยังเหลือดินโคลนหนากว่า 20 เซนติเมตร ทั่วพื้นที่ต้องตักทิ้งและทำความสะอาด ขณะที่ย่านตลาดวโรรสพบว่าน้ำที่ท่วมบริเวณโดยรอบลดลงแล้วเช่นกัน แต่ในตัวตลาดโดยเฉพาะชั้นใต้ดินยังถูกน้ำท่วมขังสูง และต้องปิดให้บริการเพื่อสูบน้ำออก สภาพโดยรอบตลาดมีแต่ดินโคลน เศษขยะ และข้าวของที่เสียหาย

 

“น้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายหนักที่สุดในรอบ 50 ปี โดยปีนี้ต้องยอมรับว่ามวลน้ำไหลเข้าท่วมตัวเมืองอย่างรวดเร็ว ‘แบบตั้งตัวไม่ทัน’ แม้จะเตรียมการป้องกันไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังได้รับความเสียหายหนัก”

 

แม้ครั้งล่าสุดที่เคยเกิดน้ำท่วมสูงช่วงปี 2553-2554 เท่าที่เคยมีมา ระดับน้ำสูงถึง 4 เมตร และระดับการเตือนภัย 4.2 เมตร ปีนี้มีการปรับตัวเลขเตือนภัย ซึ่งปีนี้ก่อนหน้านั้นสัญญาณที่เข้ามาแรกๆ คือรู้ในทันทีว่ารอบนี้หากระดับเกินจุดเดิมคือท่วมแน่ เช่น พื้นที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ถนนช้างคลาน เริ่มมีน้ำเอ่อล้นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงได้หารือกับหอการค้าเชียงรายล่วงหน้า ว่าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้วิกฤตแน่นอน  

 

ประเมินเศรษฐกิจเสียหาย 600 ล้านบาท หวั่นกระทบท่องเที่ยวช่วงไฮซีซัน

 

“ผมประเมินว่าไม่น่าต่ำกว่า 600 ล้านบาท เพราะรอบนี้สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ร้านคาเฟ่ ขนข้าวของย้ายไม่ทัน และกระทบพื้นที่ที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่าสถานีบริการน้ำมัน ธุรกิจในตัวเมือง ตลาด ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร โรงพิมพ์ ร้านกาแฟ เสียหายหนัก ย่านเศรษฐกิจกระทบหมดเลย”

 

นอกจากนี้สิ่งที่น่าห่วงและจะเสียหายมากตามมาคือ การยกเลิกไฟลต์บิน การท่องเที่ยวเสียหาย ยิ่งในขณะนี้เป็นช่วงที่เข้าสู่ไฮซีซัน ช่วงปลายปี ณ ตอนนี้อาจจะต้องคุยจริงจัง โดยจะหารือสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวเบื้องต้น หารือแบงก์ชาติ และหารือตัวเลขเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้มันเกินการเยียวยา 

 

บทเรียนครั้งใหญ่ของชาวเชียงใหม่

 

มวลน้ำปีนี้มาเยอะ ต้องเรียนว่าหน่วยงานประกาศแจ้งเตือนประชาชนแล้ว เพียงแต่ชาวบ้านหลายคนอาจจะประมาท ชะล่าใจ เมื่อน้ำมาตอนตี 4-5 คือมารวดเดียวเลย ทุกคนไม่ทันตั้งตัว

 

“บทเรียนที่เห็นชัดครั้งนี้คงจะต้องหันมาบูรณาการร่วมกัน เพราะมวลน้ำที่หลายๆ คนประเมินอาจจะประมาทไป ต่อไปนี้ต้องทำให้ตระหนัก รู้เร็ว รับมือเร็ว ตั้งหลักกันนิดหนึ่งถึงขั้นตอน กระบวนการ การประกาศและอาจจะต้องทบทวนกันถึงระบบการเตือนภัยว่าที่มีอยู่นั้นช้า-เร็วหรือไม่ ถึงเวลาที่จะต้องมาดูการเตือนภัยอย่างจริงจัง”

 

อย่างไรก็ตาม รอบนี้เห็นเลยว่าทุกหน่วยงานทำงานร่วมกัน อีกสิ่งสำคัญคือ ประเด็นที่ดูเหมือนจะไกลตัวอย่างโลกร้อน นำมาสู่สภาพอากาศที่แปรปรวน ปัจจัยเรื่องน้ำ ทุกคนต้องเริ่มให้ความสำคัญ 

 

ขณะเดียวกัน มีการกล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำของโรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ ที่เป็นกระแสไวรัล ต้องชื่นชมว่าทางโรงแรมมีการบริหารจัดการพนังกั้นน้ำเป็นปกติทุกปี มีการวางระบบเป็นอย่างดี จึงสามารถควบคุมได้ทันท่วงที สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาเป็นกรณีศึกษา 

 

 

หรืออย่างคูเมืองเชียงใหม่ก็มีภูมิปัญญาเดิมของชาวบ้าน เอกชนและรัฐต้องมาเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำร่วมกัน กับโรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ ที่ต้องทำกำแพง นำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมาใช้ สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาถอดบทเรียน มานั่งคุย นอกเหนือจากการปรับตัวอย่างไร ต้องนำกรณีศึกษาเหล่านี้มาคุยกันเพื่อวางแผนระยะยาว

 

แหล่งข่าวผู้ประกอบการร้านอาหารนิมมานฯ เชียงใหม่ บอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่า น้ำท่วมปีนี้มาเร็วและมวลน้ำมาเยอะกว่าปกติ และการรับมือของชาวบ้านยังไม่รวดเร็วพอ ที่เป็นผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนหลักๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ปีนี้เนื่องจากมวลน้ำมาเร็วและแรง ประชาชนไม่ทันตั้งตัว ทำให้พื้นที่ย่านการค้าจึงกระทบหนัก 


แม้ได้รับข้อความแจ้งเตือนเข้ามาทางโทรศัพท์ล่วงหน้า ทว่าการประเมินการแจ้งเตือนน้ำแบบระดับเมตรอาจจะเป็นการแจ้งเตือนสื่อสารที่เข้าใจยาก ชาวบ้านบางคนยังไม่เข้าใจ ชะล่าใจ

 

ทั้งนี้ ในอนาคตรัฐเองก็ต้องเข้ามาช่วยจัดการบริหารให้เร็วและมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนเองก็ให้ความช่วยเหลือได้เร็ว หลังจากนี้น้ำลดแล้วจึงอยากให้เร่งฟื้นฟูพื้นที่ เพราะจะเป็นช่วงไฮซีซันของเชียงใหม่ และน่าเห็นใจประชาชนและคนที่ลำบากจริงๆ น้ำท่วมครั้งเดียวทำให้รายได้หายไปในพริบตา

 

“ปีนี้ถือเป็นบทเรียนร่วมกัน ซึ่งครั้งนี้น่าจะเป็นน้ำท่วมใหญ่ในตัวเมืองเชียงใหม่ในรอบหลายสิบปี แต่ไม่ว่าจะในรอบปีไหน ความเสียหายทางใจก็ไม่อาจประเมินได้”

 

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising