ช่วงเวลานี้ ข่าวที่สามารถทำให้คนไทยทั้งประเทศสนใจได้มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นกรณีนักกีฬาฟุตบอลทีมเยาวชน (ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย) และโค้ช รวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ซึ่งเป็นถ้ำที่มีชื่อเสียงของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถออกมาได้ มีปฏิบัติการช่วยเหลือจากหลายฝ่ายต่อเนื่องกว่า 10 วัน จนกระทั่งทีมดำน้ำได้เข้าไปพบกับทั้ง 13 ชีวิต เมื่อค่ำวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
นับว่าเป็นข่าวดีที่ทั้ง 13 ชีวิตนั้นรอดปลอดภัย แม้ว่าจะต้องประสบภัยในถ้ำยาวนานกว่า 10 วัน
ทว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนต่อการจัดการ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีมาตรปรับปรุงต่อไป นั่นก็คือ มีความไม่พร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดของประเทศไทย รวมทั้งได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือต่างๆ ที่ยังไม่พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีของหน่วยงานต่างๆ ก่อนการเกิดเหตุ
ใต้เสียงชื่นชม ใต้ทีมเวิร์ก คือโอกาสแห่งการเรียนรู้
จริงอยู่ที่ว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 13 ชีวิตในครั้งนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่มีความร่วมมือในการกู้ภัยช่วยเหลือกันเป็นทีมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักวิชาการหลายแขนง ทหาร ตำรวจ และจิตอาสาทั้งหลาย อีกทั้งยังต้องขอชื่นชมท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่มีความสามารถในการบริหารงานและบัญชาการได้อย่างดีเยี่ยม
แต่ว่าการทำงานกันเป็นทีมนั้นไม่ควรเริ่มหลังจากภัยพิบัติได้เกิดแล้ว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ต้องมีการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลทางด้านแผนที่ ข้อมูลจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องถ้ำ หรือข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานที่ต่างๆ ให้กันและกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ และสามารถติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วที่สุดเมื่อเกิดภัยพิบัติ ไม่ใช่เพียงการรอผู้มีอำนาจมาตัดสินใจให้เพียงฝ่ายเดียว เพราะอาจจะล่าช้าไม่ทันการณ์
ที่ผ่านมาการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยลักษณะดังกล่าวยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งที่เราเองเคยประสบกับภัยพิบัติและวิกฤตมากมายที่ต้องใช้การทำงานกันเป็นทีม กระนั้นหลายๆ หน่วยงานก็ยังคงทำงานกันอย่างกระจัดกระจาย
อาจเรียกได้ว่านี่เป็นบทเรียนอีกครั้ง สำหรับทุกหน่วยงานที่ควรจะต้องตระหนักถึงการทำงานแบบบูรณาการในทุกภาคส่วนและในทุกสถานการณ์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมแม้ว่าจะยังไม่มีสถานการณ์วิกฤตก็ตาม
วางแผนอย่างบูรณาการ ใช้ฐานแห่งบทเรียนที่มีเป็นทางต่อยอด
นอกจากการทำงานอย่างบูรณาการแล้ว ประเทศไทยควรมีการวางแผนเชิงนโยบายในอนาคตให้มากขึ้น การวางแผนและกำหนดนโยบายตลอดจนแนวทางการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะคาดคะเนหรือพยากรณ์เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องอิงพื้นฐานข้อมูลและข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ที่มีอยู่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ เพื่อที่จะสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่รอให้เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นก่อน
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการเตรียมพร้อมดังเช่น นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ เพื่อมาทดแทนเศรษฐกิจน้ำมันในอนาคต หรือการที่ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์มีการวิจัยและพัฒนาอาวุธเพื่อป้องกันประเทศจากการถูกรุกราน ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีความเป็นไปได้ต่ำ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นไปได้นี้ เพราะเขาตระหนักว่าหากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้
บริบทถ้ำหลวง สะท้อนการจัดการ ชัดเจนคือ ภาวะ “ผู้นำ”
ในส่วนของบริบทถ้ำหลวง ความเป็นไปได้ที่จะมีคนไปติดอยู่ในถ้ำ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนมีความเป็นไปได้สูง อีกทั้งปัญหาการติดอยู่ภายในถ้ำในประเทศไทยก็เคยเกิดขึ้นแล้ว
แต่นอกจากกฎหมายที่ระบุว่า เมื่อจังหวัดได้ประกาศภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้รับหน้าที่ให้บัญชาการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกล่าวกันตามข้อเท็จจริง คนไทยอาจจะไม่ได้ข่าวดีเช่นนี้หากผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความสามารถและกล้าที่จะตัดสินใจ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เอง ยังต้องมีการจัดทำระเบียบการในการจัดการความเสี่ยง (เช่น การติดป้ายเตือนภัย หรือ การปิดพื้นที่ถ้ำในช่วงฤดูฝน เป็นต้น) การลดความเปราะบาง (เช่น การให้ความรู้ต่อประชาชนที่เกี่ยวข้อง) หรือการพัฒนาแนวทางและการเพิ่มศักยภาพในการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมเลย อีกทั้งมีการวางแผนเพื่อให้รู้ว่าหากเกิดวิกฤตใครจะต้องมีหน้าที่อะไร และใครที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรเข้าไปปฏิบัติงานโดยพลการ เหล่านี้ต้องมีการกำหนดกติกากันล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงหาทางป้องกัน
ถึงเวลาแล้ว ที่ไทยควรบรรจุการป้องกันตัวจากภัยต่างๆ ในแบบเรียน
ท้ายที่สุด การที่เด็กๆ และโค้ชทั้ง 13 ชีวิต ได้เลือกที่จะเข้าไปในถ้ำหลวง ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความลึก มีความซับซ้อน และเข้าไปในช่วงฤดูฝนที่ฝนตกหนัก สามารถก่อให้เกิดน้ำท่วมในถ้ำได้ตลอดเวลา จนกลายเป็นผู้ประสบภัย
หลายๆ คนอาจจะมุ่งไปโทษว่าเด็กนั้นดื้อ หรือทำไปด้วยความคึกคะนอง แต่ผู้เขียนกลับมองว่าการกระทำเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ตระหนักรู้ต่อความเสี่ยง และความเปราะบางของตนเอง เราจะโทษว่าเด็กนั้นดื้อเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะจากที่ติดตามข่าวผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เองก็ยังไม่เข้าใจถึงลักษณะทางกายภาพ ภูมิประเทศ บรรยากาศ ระบบนิเวศ และความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ของตัวเอง
ทำไมถึงไม่มีการกันไม่ให้คนเข้าไปในถ้ำในช่วงฤดูฝน และที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นก็คือมีข่าวออกมาหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศว่า ได้ทำการปิดถ้ำหลังจากเกิดเหตุการณ์การนี้ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าหากไม่เกิดเหตุการณ์ดังที่เกิดกับทั้ง 13 ชีวิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับถ้ำต่างๆ ทั่วประเทศก็จะยังคงไม่ให้ความสนใจต่อความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง นั่นก็เพราะว่าคนในพื้นที่ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้มากที่สุดเกี่ยวกับพื้นที่ของตนเอง และควรมีความสามารถในการจัดการกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึงการลดความเสี่ยงภัย
ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่การป้องกันตัวเองจากภัยต่างๆ ในพื้นที่ของตัวเอง เช่น การหลีกเลี่ยงการเข้าถ้ำหรือน้ำตกในช่วงฤดูฝน หรือวิธีง่ายๆ อย่างการว่ายน้ำ หรือการพายเรือในพื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำ คลอง และทะเล ควรจะถูกนำไปบรรจุอยู่ในแบบเรียนของไทยเช่นเดียวกับการที่ประเทศญี่ปุ่นสอนวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว