วงการธุรกิจคาด อีแจยง รองประธาน Samsung Electronics อาจได้รับการนิรโทษกรรมจากประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และอาจขึ้นรับตำแหน่งประธานบริษัทต่อจากบิดาผู้ล่วงลับ แนะจับตาประกาศในวันชาติเกาหลีใต้ 15 สิงหาคมนี้
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า อีแจยง รองประธานบริษัท Samsung Electronics อาจเป็นผู้บริหารของบริษัทเกาหลีใต้คนล่าสุดที่ได้รับการนิรโทษกรรมจากประธานาธิบดี และอาจเป็นการปูทางให้อีแจยงสืบทอดตำแหน่งประธานบริษัทต่อจากบิดาผู้ล่วงลับไปแล้ว ขึ้นแท่นผู้นำบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ และร่วมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งรวมถึงวิกฤตขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก
รายงานข่าวระบุว่า ประธานาธิบดียุนซอกยอลอาจเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพประจำปีของเกาหลีใต้ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ด้วยการนิรโทษกรรมตามธรรมเนียม โดยในวันนี้ (9 สิงหาคม) กระทรวงยุติธรรมเริ่มประชุมเพื่อพิจารณาการให้นิรโทษกรรม และหลังการพิจารณา รมว.ยุติธรรมจะรวบรวมรายชื่อบุคคลที่ให้ประธานาธิบดีอนุมัติและได้รับการยืนยันจากคณะรัฐมนตรี
สิ่งที่คนให้ความสนใจมากสุดคือ ในการนิรโทษกรรมครั้งนี้ อีแจยงซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีติดสินบนตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วจนปัจจุบันรวมเป็นเวลา 19 เดือน จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและยานยนต์ แต่ด้านมืดของความสำเร็จนั้นคือการคอร์รัปชันและอาชญากรรมที่เกิดจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ควบคุมโดยครอบครัวชนชั้นสูง
ซึ่งในกลุ่มชนชั้นสูงหลายคน รวมถึงพ่อของอีแจยง ซึ่งก็คือ อีกอนฮี ประธานบริษัท Samsung ผู้ล่วงลับไปแล้ว ล้วนได้รับการนิรโทษกรรมในท้ายที่สุด เนื่องจากความเป็นชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้นำถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของอีแจยงนั้น มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน ซึ่งจากการทำแบบสำรวจโดย National Barometer Survey พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 3 ใน 4 เห็นด้วยกับการให้อภัยชายที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศผู้นี้
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมกล่าวว่า การนิรโทษกรรมจะช่วยให้อีแจยงนำทัพธุรกิจของ Samsung ได้คล่องตัวขึ้น และปูทางให้เขารับตำแหน่งประธานของ Samsung ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างตั้งแต่อีกอนฮี ผู้เป็นพ่อ ถึงแก่กรรมในปี 2020 และแม้ว่าอีแจยงถูกคุมขังเมื่อปีที่แล้ว แต่ประวัติอาชญากรรมของเขาก็ทำให้เขาบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างจำกัด
ทั้งนี้ บริษัท Samsung ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อีแจยงจะได้รับการนิรโทษกรรม
ขณะที่นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทโบรกเกอร์จากต่างประเทศแห่งหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า การได้รับการนิรโทษกรรมของอีแจยงเป็นประเด็นทางการเมืองเท่านั้น เพราะมันเป็นประโยชน์ส่วนตัวสำหรับอีแจยง แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว ฮันด็อกซู นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ได้แสดงความคิดเห็นระหว่างการถาม-ตอบในรัฐสภาว่า เขาจะเสนอให้ประธานาธิบดีพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมอีแจยง
ความเป็นไปได้ที่อีแจยงจะได้รับการนิรโทษกรรมนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมชิปทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิป ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการระบาดใหญ่ของโควิดที่ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาชิป เช่น สมาร์ทโฟน และรถยนต์
นอกจากนี้ ทางสหรัฐฯ ก็กำลังกดดันให้เกาหลีใต้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่รวบรวมผู้ผลิตชิป นักออกแบบ และซัพพลายเออร์ จากสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น เข้าไว้ด้วยกัน ขณะเดียวกัน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดจากการที่จีนเตรียมเปิดศึกกับไต้หวันก็กำลังเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับภาคอุตสาหกรรมนี้
ทั้งนี้ Samsung เป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 40% ของตลาดโลกสำหรับชิป DRAM ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและเซิร์ฟเวอร์ และมีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 30% สำหรับชิปหน่วยความจำ NAND แฟลช ซึ่งใช้ในสมาร์ทโฟนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ
และตลอดปีมานี้ ท่ามกลางราคาหุ้นที่ร่วงลงมากกว่า 20% Samsung ได้พยายามติดต่อกับ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. เพื่อสร้างความร่วมมือภาคการผลิต ซึ่งทั้งสองบริษัทมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ ในการรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก รวมถึงการตอบโต้จีนซึ่งกำลังลงทุนอย่างจริงจังในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง
ผู้สังเกตการณ์ในวงการธุรกิจกล่าวว่า ความพยายามผลักดันให้อีแจยงได้รับการนิรโทษกรรม คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2009 ซึ่งประธานาธิบดีอีมยองบัคได้ให้นิรโทษกรรมแก่ อีกอนฮี ประธาน Samsung คนก่อน เพื่อให้มาช่วยผลักดันให้เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ที่พยองชาง ทั้งนี้ อีกอนฮีถูกสั่งพักงาน จำคุก 3 ปี ฐานเลี่ยงภาษีในปี 2008
ในมุมกลับกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนในเกาหลีใต้จะยินดีให้อีแจยงได้รับการนิรโทษกรรม โดยบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ The Hankyoreh ระบุไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า ผลกระทบเชิงลบของการให้นิรโทษกรรมนักธุรกิจมีมากเกินไปที่จะนับ มันเป็นการบ่อนทำลายความยุติธรรม และทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศเกาหลีใต้ในเวทีโลก
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP