การเลือกตั้งทั่วไปสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 14 ของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2020 ผ่านพ้นไปแล้วด้วยความราบรื่น แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งก็เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ นั่นคือชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรค People’s Action Party (PAP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ โดยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตลอดทั้ง 14 ครั้งของการเลือกตั้งทั่วไปที่มีการจัดขึ้นมาในประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 1965
แต่สิ่งที่เราจะต้องมาจับตาดูกันต่อจากนี้ จะมีเรื่องที่น่าสนใจอะไรบ้าง อ่านบทวิเคราะห์ไปพร้อมกันครับ
1. แม้การเลือกตั้งครั้งนี้พรรค PAP จะได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดก็จริง แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อนับคะแนนรวมที่มีการเลือกตั้งจากบัตรเลือกตั้งทุกใบ (Popular Vote) กลับพบว่าคะแนนนิยมต่อพรรค PAP ลดต่ำลง โดยได้รับคะแนนเลือกตั้งเข้ามา 1,524,781 เสียงสนับสนุน หรือคิดเป็นร้อยละ 61.24 ของผู้มาใช้สิทธิ์ 2.49 ล้านคน หรือคะแนนความนิยมลดลงกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าในปี 2015 ประมาณร้อยละ 8.62 ซึ่งถือเป็นคะแนนนิยมต่อพรรค PAP ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี (นับจากปี 2011) แต่ถึงกระนั้นก็ตาม พรรค PAP ก็ยังได้ที่นั่ง ส.ส. รวม 83 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 105 ที่นั่ง
2. ในขณะที่พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นลำดับที่ 2 คือพรรค Workers’ Party ซึ่งนำโดยผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภาคือ ปริทัม ซิงห์ ซึ่งเป็นทนายความชาวสิงคโปร์เชื้อสายปัญจาบี ได้คะแนนนิยม (Popular Vote) ในแต่ละเขตเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 10.74 ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่ทำให้เราเห็นว่าพรรคการเมืองทางเลือกที่เป็นตัวเลือกทางการเมืองให้กับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสิงคโปร์เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น แต่พรรค WP ก็ได้ ส.ส. ไปเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น
3. ในความเป็นจริง พรรค PAP ควรจะได้รับที่นั่ง ส.ส. มากกว่า 83 ที่นั่ง แต่ด้วยรัฐธรรมนูญของประเทศกำหนดให้ ส.ส. ทั้ง 105 คนมีที่มาจาก 3 รูปแบบ นั่นคือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 93 ที่นั่ง วาระ 5 ปี ร่วมกับ ส.ส. ประเภท Non-Constituency Member of Parliament (NCMP) อีก 2 ที่นั่ง และ ส.ส. ที่มาจากการแต่งตั้ง (Nominated Member of Parliament (NMP) อีก 10 ที่นั่ง (คัดสรรและเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี มีวาระ 2.5 ปี และมีสิทธิอำนาจหน้าที่ต่ำกว่า ส.ส. สองประเภทแรก) ที่ว่า PAP ควรจะได้รับจำนวน ส.ส. มากกว่านี้ เนื่องจาก PAP ต้องสละ 2 ที่นั่งที่ชนะการเลือกตั้งให้กับพรรคที่แพ้การเลือกตั้ง แต่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดที่เป็นอันดับที่ 2 (The Best Performing Losers) เข้ามาทำหน้าที่ ส.ส. ในแบบ NCMP อีก 2 ที่นั่ง โดยสิทธินี้จะไปตกอยู่กับพรรคการเมืองใหม่ที่มีนโยบายกลาง-ซ้าย และตั้งขึ้นในปี 2019 ในนาม Progress Singapore Party (PSP)
4. การเลือกตั้งครั้งนี้มีแนวทางการเลือกตั้งที่ปรับรูปแบบไปในหลายๆ ด้าน ซึ่งประเทศไทยคงจะต้องเรียนรู้และต้องนำมาปรับใช้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นการเลือกตั้งในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นทำให้การจัดหน่วยเลือกตั้งมีรูปแบบของการเว้นระยะ (Social Distancing) อย่างชัดเจน มีการเพิ่มหน่วยเลือกตั้ง เพื่อทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ต่อหน่วยเลือกตั้งลดลงจากประชากร 3,000 คนต่อ 1 หน่วยเลือกตั้ง เป็นประชากร 2,400 คนต่อ 1 หน่วยเลือกตั้ง มีการปรับขยายเวลาการเลือกตั้งออกไปจาก 08.00-19.00 น. เป็น 08.00-20.00 น. และมีการลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าจะมีการกำหนดช่วงเวลาให้มาลงคะแนน และจะได้ต่อคิวในแถวเฉพาะผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นแถวที่สั้นกว่า และเนื่องจากสิงคโปร์เข้าสู่สถานะสังคมสูงวัยเต็มขั้นไปก่อนหน้าประเทศไทย ดังนั้นจึงมีการกำหนดช่วงเวลาและแถวพิเศษให้กับผู้สูงวัย โดยแถวพิเศษสำหรับผู้สูงวัยนี้จะจัดขึ้นในระหว่างช่วงเวลา 08.00-12.00 น.
5. แน่นอนว่าตอนนี้เราได้ตัวผู้นำสิงคโปร์ชัดเจนแล้วนั่นคือ ลีเซียนลุง หัวหน้าพรรค PAP ที่ยังคงจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศสิงคโปร์ต่อไป และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านก็คือ ปริทัม ซิงห์ จากพรรค Worker แต่ทุกสายตากลับไปจับจ้องที่ว่าที่ผู้นำคนต่อไปของประเทศแทน และเขาผู้นั้นก็คือ เฮงสวีเกียต
เฮงสวีเกียต เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1961 ปัจจุบันอายุ 59 ปี เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นตำรวจ จากนั้นก็ได้รับทุนรัฐบาลสิงคโปร์ไปเรียนต่อต่างประเทศ เขาจบปริญญาตรีและโททางด้านเศรษฐศาสตร์จาก Christ’s College มหาวิทยาลัย Cambridge และไปเรียนปริญญาโทอีกครั้งด้านรัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration) จาก John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัย Harvard แล้วก็กลับมาทำงานในกระทรวงการศึกษาของสิงคโปร์ ก่อนที่จะไปทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวให้กับ ลีกวนยู บิดาของประเทศสิงคโปร์ในปี 1997
จากนั้นเขาก็มาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงในกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Trade and Industry: MTI) ในปี 2001 ก่อนที่จะไปทำหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศ (Managing Director of the Monetary Authority of Singapore: MAS) ในระหว่างปี 2005-2011 และนำพาสิงคโปร์ผ่านวิกฤตการณ์การเงินโลก Sub-Prime Crisis ไปได้อย่างราบรื่น จนในปี 2011 เขาได้รับรางวัล Asia-Pacific Central Bank Governor of the Year
นอกจากงานด้านค้า การอุตสาหกรรม สู่งานดูแลนโยบายการเงินของประเทศแล้ว เฮงสวีเกียตได้ลงสู่สนามการเมือง และชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขต Tampines Central GRC มาตั้งแต่ปี 2011 แล้วก็กลับมาสู่งานที่สำคัญที่สุดอีกกระทรวงหนึ่งของสิงคโปร์ นั่นคือการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา ในระหว่างปี 2011-2015 ก่อนที่จะย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี 2015-2019 โดยงานสำคัญในฐานะรัฐมนตรีคลัง คือการวางแผนปฏิรูปให้สิงคโปร์ต้องปรับขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 9 ภายในปี 2025 เพื่อรองรับกับรายจ่ายของประเทศที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น และอีกงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งขึ้น เขาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ The Future Economy ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับประเทศที่รวบรวมเอาหัวกะทิจากทุกภาคส่วนของประเทศสิงคโปร์มาร่วมกำหนดทิศทางว่า ในทศวรรษหน้าสิงคโปร์จะต้องเดินหน้าต่อไปในทิศทางไหน อย่างไร
ทุกฝ่ายจับตามองว่า เฮงสวีเกียต น่าจะเป็นตัวตายตัวแทนของ ลีเซียนลุง ผู้ซึ่งน่าจะวางมือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังอยู่ในตำแหน่งครบวาระ (2020-2025)และผู้นำสิงคโปร์คนปัจจุบันก็ส่งสัญญาณชัดเจนเช่นกัน เพราะในการปรับตำแหน่งในพรรค PAP เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2018 เฮงสวีเกียตได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการบริหารงานกลางของพรรค PAP (1st Assistant Secretary General to the PAP’s 35th Central Executive Committee (CEC)) และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019 ก็มีการปรับคณะรัฐมนตรีของประเทศ โดย เฮงสวีเกียต ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี (Deputy Prime Minister) และมีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ตลอด 5 ปีต่อจากนี้ทุกสายตาจะจับจ้องไปที่บทบาทของเฮงสวีเกียต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเฮงสวีเกียตจะมีประวัติการเรียนและประสบการณ์ทำงานชั้นยอด แต่ก็มีจุดผิดพลาดเช่นกัน และกลายเป็นประเด็นที่ค่อนข้างเปราะบางอย่างยิ่งในสังคมสิงคโปร์ด้วย นั่นคือครั้งหนึ่งเขาเคยไปกล่าวในวงเสวนาของนักศึกษามหาวิทยาลัย Nanyang University of Technology (NUT) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสิงคโปร์ในเวทีโลก โดยเขาไปกล่าวในทำนองที่ว่า คนสิงคโปร์อาจจะยังไม่พร้อมที่จะมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย หรือใครก็ตามที่ไม่ได้เป็นชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน ซึ่งแน่นอนว่าการกล่าวในทำนองนี้ถือเป็นการสร้าง Social Division และ Racial Tensions ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมของประเทศสิงคโปร์ ที่เน้นดึงทรัพยากรบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายให้สามารถทำงานและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น