×

สส. อยุธยา ก้าวไกล แนะถอดบทเรียนภัยพิบัติในอดีต เตรียมพร้อมดูแลประชาชนภาคกลาง-อยุธยา หลังสถานการณ์น้ำเหนือเริ่มมากขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
03.10.2023
  • LOADING...
ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์

วานนี้ (2 ตุลาคม) ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส. พระนครศรีอยุธยา เขต 1 ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยระบุว่า ปัจจุบันจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือแสดงให้เห็นถึงภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกที่คาดการณ์ได้ยากนั้น ทำให้การบริหารน้ำต้องเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ ในปี 2566 นี้เห็นได้ชัดแล้วว่า ฝนจำนวนมากมาตกอยู่ในเดือนกันยายนเสียเป็นส่วนใหญ่ หลังจากเกิดความแล้งมาสักระยะในพื้นที่ภาคกลาง

 

โดยในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ปริมาณน้ำในเขื่อนบริเวณภาคเหนือ เช่น เขื่อนแม่งัด และในภาคอีสาน มีระดับน้ำที่สูง ในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดของภาคเหนือก็แสดงให้เห็นว่าบางเขื่อนน้ำเริ่มล้นออกมา จำนวนฝนที่ตกลงมานั้นส่วนใหญ่แล้วอยู่ท้ายเขื่อน ส่งผลหนักอย่างน้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงอย่างมาก

 

ปัจจุบันมีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานถึงจำนวนการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งเริ่มระบายที่ระดับมากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตร จำเป็นต้องเฝ้าระวังพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในทุกพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น อยุธยาของเรา เพราะมีโอกาสสูงที่จะมีจำนวนน้ำอีกมากที่ระบายมาจากภาคเหนือ ขณะนี้ควรมีการเตรียมการรับมือเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องลำบากเหมือนปีก่อนๆ จำเป็นต้องมีการถอดบทเรียนและพร้อมรับมือสภาพอากาศและภัยพิบัติที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ

 

“สิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องพัฒนาเพิ่มเติมคือ การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในยามเกิดภัยพิบัติ และมีแผนเตรียมการรับมือที่พร้อมสำหรับกรณีที่เกิดผลกระทบรุนแรงกับประชาชนอย่างสูงไว้ด้วย โดยมีหลายอย่างที่ผมได้ประสบจากการลงพื้นที่น้ำท่วมอยุธยาที่ผ่านมา”

 

  • ควรเตรียมพื้นที่สำหรับอพยพในบริเวณใกล้เคียงบ้านที่ถูกน้ำท่วม เช่น อาคารโรงเรียน อาคารสูง อาคารอเนกประสงค์ที่อยู่เหนือน้ำ 
  • ควรสำรวจและเตรียมข้อมูลสำหรับดูแลและอพยพผู้ป่วยพิการหรือผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
  • ควรมีการอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางเข้า-ออกบ้านที่ถูกน้ำท่วมจากภาครัฐแก่ประชาชนที่สัญจร เช่น งบประมาณฉุกเฉินสำหรับท้องถิ่น เพื่อจัดสรรเรือขนส่งสาธารณะฟรีเพื่อผู้ประสบภัย เป็นต้น 
  • ควรวางแผนเรื่องเงินเยียวยาระหว่างน้ำท่วมให้ประชาชนทุกครัวเรือนอย่างเท่าเทียมกัน โดยก้าวไกลเราเสนอว่า ผู้ที่ประสบภัยควรได้รับเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นตาข่ายรองรับการใช้ชีวิต

 

“ทั้งหมดนี้เป็นข้อสังเกตที่ขอฝากไปถึงกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เตรียมการรับมือน้ำจำนวนมากที่จะไหลผ่านพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่รับน้ำในอำเภอเสนา ผักไห่ และบางบาล ของอยุธยา ซึ่งได้รับความเดือดร้อนและมีบทเรียนเยอะมากให้ได้ศึกษาและเตรียมการ เพื่อพัฒนาระบบการรับมือภัยพิบัติและการปรับเปลี่ยนเพื่ออยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกไปมากกว่านี้ การพัฒนาต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้เสียที อีกทั้งต้องกระจายอำนาจและงบประมาณมาให้ท้องถิ่นได้ช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ต่อไป”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising