ความเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มประกันชีวิตวันนี้ (9 พฤษภาคม) ปรับตัวขึ้นค่อนข้างโดดเด่น นำโดย บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) ที่ราคาเพิ่มขึ้น 17% ทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 4 เดือนที่ 20.2 บาท ขณะที่ บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) ซึ่งเป็นหุ้นประกันที่ใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยมูลค่าตามราคาตลาด 1 แสนล้านบาท ปรับตัวขึ้นสูงสุดเกือบ 8% ที่ระดับ 9.5 บาท ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันอย่าง บมจ.ทีคิวเอ็ม อัลฟา (TQM) ราคาเพิ่มขึ้นราว 5% ที่ 26.25 บาท
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในกลุ่มประกันอยู่ในทิศทางขาลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 จนดัชนีของกลุ่มอุตสาหกรรม (INSUR) ทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี ก่อนที่จะมีแรงเก็งกำไรเข้ามาล่าสุด
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้หุ้นกลุ่มประกันเป็นที่สนใจของนักลงทุนมาจากผลประกอบการของ BLA ที่ประกาศออกมาเมื่อวานนี้ (8 พฤษภาคม) โดยบริษัทรายงานกำไรสุทธิ 1.24 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายรับประกันภัยที่ลดลง 8% เนื่องจากการตั้งสำรองประกันชีวิตที่ลดลงจากกรมธรรม์ที่ครบกำหนด
แม้ว่ารายได้รวมจะลดลง 1.9% ซึ่งเป็นเพราะเบี้ยประกันภัยรับปีแรกที่หดตัว 27.2% รายได้การลงทุนที่ลดลง 6.2% ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับปีต่อปียังขยายตัวได้ 5.5%
สำหรับภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของไทยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันชีวิตรับใหม่คิดเป็นมูลค่า 45,890 ล้านบาท เติบโต 2% จากปีก่อน หนุนจากเบี้ยประกันภัยปีแรกแบบชำระครั้งเดียวซึ่งเติบโต 15% จากประกันประเภทคุ้มครองตลอดชีพ
ขณะที่เบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไป (RYP) และเบี้ยประกันชีวิตรวม (TP) เพิ่มขึ้น 6% และ 5% ตามลำดับ
ส่วนช่องทางของการทำประกันส่วนใหญ่ยังผ่านทางธนาคาร แม้ว่าการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับปีแรกจะลดลง 4% เพราะการหดตัวของสินค้าประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และคุ้มครองสินเชื่อ แต่ยังคิดเป็นสัดส่วน 49% ของช่องทางขายทั้งหมด
รองลงมาคือการทำประกันผ่านตัวแทน คิดเป็น 35% ของเบี้ยประกันภัยรับใหม่ ซึ่งช่องทางนี้เติบโตขึ้น 11% จากสินค้าคุ้มครองตลอดชีพแบบชำระเบี้ยครั้งเดียว
ตฤณ สิทธิสวัสดิ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า กำไรของ BLA ที่เติบโตค่อนข้างโดดเด่นในไตรมาสแรกเกิดจากปัจจัยที่ค่อนข้างเฉพาะตัว โดยบริษัทประกันอื่นๆ อาจจะไม่ได้ตั้งสำรองลดลงมากเท่ากับ BLA
หากมองในช่วงที่เหลือของปีนี้ หุ้นกลุ่มประกันยังมีปัจจัยเสี่ยง 2 ด้านสำคัญที่ต้องรอติดตาม ประเด็นแรกคือการลดดอกเบี้ย หากเกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยกดดัน เพราะในช่วงดอกเบี้ยขาลงบริษัทประกันมักจะตั้งสำรองไว้สูงขึ้น
อีกปัจจัยเสี่ยงคือการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชีใหม่อย่าง TFRS 17 ที่จะเริ่มใช้ในปี 2568 ในส่วนนี้อาจจะกระทบต่อการรับรู้กำไรและการบันทึกค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัท และอีกประเด็นที่ต้องติดตามคือค่าใช้จ่ายจากการเคลมประกันที่สูงขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ขึ้น
“หุ้นกลุ่มประกันจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้อีกครั้งเมื่อการลดดอกเบี้ยจบลงแล้ว แต่ในช่วงนี้ที่การลดดอกเบี้ยดูเหมือนจะชะลอออกไป ทำให้หุ้นกลุ่มนี้ยังพอที่จะเก็งกำไรระยะสั้นได้”