×

‘ซีอีโอคนไทยคนแรก’ ของ Lazada ไทย โฟกัสลงทุนโปรดักต์-โลจิสติกส์ พร้อมงัดโปรเจกต์ LazGlobal ยกสินค้าไทยไปขายในฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์

07.10.2022
  • LOADING...
Lazada

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นหนึ่งในธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างหนัก จัดสารพัดแคมเปญ ชิงเม็ดเงินจากกระเป๋าลูกค้า เช่นเดียวกับ Lazada เพิ่งครบรอบ 10 ปี เตรียมจัดแคมเปญใหญ่ 11.11 และ 12.12 ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงท้ายของปี

 

ล่าสุดได้แต่งตั้งซีอีโอ Lazada (ประเทศไทย) คนใหม่ ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นคนไทยคนแรกที่เข้าดำรงตำแหน่งนี้ แต่ก็ได้มีบทบาทสำคัญ ทั้งการเพิ่มจำนวนผู้ขายที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอดธุรกิจบนแพลตฟอร์มของ Lazada


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


นับเป็นที่น่าสนใจว่าภารกิจสำคัญของการมานั่งในตำแหน่ง ‘แม่ทัพคนใหม่’ จะพา Lazada ไปในทิศทางไหน และกังวลกับความท้าทายที่มีอยู่รอบด้านหรือไม่ 

 

ดร.วีระพงศ์ โก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยอยู่ในสัดส่วนที่ยังน้อย ประมาณ 12-15% ขณะที่ในอเมริกามีสัดส่วนที่ 30-40% และจีนที่ 42-46% จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยมีเป้าหมายต้องการเติบโตเทียบเท่ากับประเทศจีน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี และขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดอีคอมเมิร์ซ

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกค้าเริ่มกลับมาซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมา Lazada ได้สำรวจพฤติกรรมนักช้อปอีคอมเมิร์ซในไทย พบว่า 76% ซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้ง ถือว่าลดลงหลังจากเปิดประเทศ ที่หลายๆ คนได้กระจายตัวไปซื้อสินค้าในช่องทางอื่นๆ 

 

ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมการสั่งสินค้าส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าชิ้นเล็ก จึงต้องหากลยุทธ์เข้ามากระตุ้นให้ลูกค้าหันมาซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ขึ้น แต่มีความท้าทายอยู่บ้าง เพราะขณะนี้หลายคนไม่มีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าราคาสูง ด้วยกังวลว่าจะได้รับสินค้าไม่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานตามที่ต้องการ 

 

ดังนั้น Lazada จึงจัดกิจกรรม O2O หรือโมเดลธุรกิจแบบ Online to Offline ด้วยการไปจับมือพาร์ตเนอร์ใหญ่ๆ ในงาน Commart เพื่อให้คนที่สั่งสินค้าผ่าน Lazada ไปทดลองใช้งานในหมวดสินค้าไอทีได้ รวมถึงกลุ่มสินค้าแฟชั่นและความงาม ที่ให้รับผลิตภัณฑ์ไปทดลองได้ฟรีก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อสร้างโอกาสให้แบรนด์และร้านค้าสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์มได้มากขึ้น

 

สำหรับกลยุทธ์และทิศทางการลงทุนในปี 2566 แม้สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายลง แต่ยังมีปัจจัยลบรอบด้าน ดังนั้น ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง แต่ก็ไม่ได้ชะลอ โดยจะพิจารณาไปตามความเหมาะสม เน้นโฟกัสไปที่โปรดักต์ที่จะนำมาจัดแคมเปญให้ตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมาย ตามด้วยระบบโลจิสติกส์ จากเดิม Lazada ส่งสินค้าอยู่ที่ 2-5 วัน จึงต้องการส่งให้เร็วกว่าเดิม อนาคตหากลูกค้าต้องการสินค้าเร็วขึ้น เราก็จะลงทุนหาโซลูชันใหม่มาตอบโจทย์ตรงนี้

 

ขณะเดียวกัน ยังเตรียมทำโปรเจกต์ใหม่ เรียกว่า  LazGlobal เปิดให้ร้านค้าในไทยนำสินค้าไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์มในประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ โดย Lazada จะทำหน้าที่สนับสนุนระบบหลังบ้าน รวมถึงการส่งสินค้าที่ร้านค้าไม่ต้องส่งผ่านผู้จัดจำหน่ายเอง คาดว่าจะช่วยเปิดตลาดให้สินค้าไทยไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น โดยจะได้เห็นความเคลื่อนไหวในช่วงปลายปีนี้

 

พร้อมให้ความสำคัญกับการจัดแคมเปญ แจกคูปอง แคชแบ็ก เช่น แคมเปญวันที่ 10 เดือน 10 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Lazada มีลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการต่อเนื่องมากกว่า 30 ล้านคน ส่วนลูกค้าใหม่ขยับขึ้น-ลงตามสถานการณ์ โดยเฉพาะช่วงโควิดที่มีลูกค้าใหม่เข้ามาจำนวนมาก 

 

อย่างไรก็ตาม เราไม่เพียงต้องการขายสินค้าเท่านั้น แต่สิ่งที่โฟกัสคือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดี เพื่อรองรับตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ยิ่งผู้เล่นเข้ามาใหม่ จะช่วยกันไดรฟ์ตลาดให้เติบโตมากกว่าเดิม

 

ต้องยอมรับว่าขณะนี้ Lazada ไม่ได้เน้นทำกำไร แม้ในปี 2564 จะพลิกกลับมาทำกำไรได้ 226.9 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ขาดทุนไปถึงเกือบ 4,000 ล้านบาท แต่วันนี้ยังต้องเน้นสร้างการเติบโตให้ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้โจทย์สำคัญคือ การรักษาคู่ค้า และขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ให้เติบโตต่อไปได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X