×

ลาซาด้าดัน Laz Mall สร้าง Super eBusiness ให้ผู้ขายของออนไลน์ปรับแต่งหน้าร้านและทำการตลาดได้เอง

26.03.2019
  • LOADING...

สำนักข่าว THE STANDARD เข้าร่วมงาน Brand Future Forum (BFF) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดโดยลาซาด้า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก ภายใต้อาณาจักรอาลีบาบา เปิดตัว Super Solution สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กบน Laz Mall ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้ขายของออนไลน์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและก้าวสู่การเป็น Super eBusiness สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่คาดว่าจะแตะ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2568

 

 

จิง ยิน ประธานกรรมการของลาซาด้า กรุ๊ป ให้ข้อมูลโดยอ้างอิงสถิติของงาน 11.11 (วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561) และ 12.12 (วันที่ 12 ธันวาคม 2561) ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 4 แสนราย มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มของลาซาด้ามากกว่า 1.3 พันล้านคน สร้างยอดขายถล่มทลายและดันตัวเลขการจัดส่งสูงถึง 1 ล้านชิ้นต่อวัน สะท้อนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียน คาดว่า ภายในปี 2568 ตลาดอินโดนีเซียจะโตถึง 41% เมียนมาเติบโต 21% ตลาดฟิลิปปินส์เติบโต 34% ตลาดสิงคโปร์เติบโต 18% ตลาดประเทศไทยเติบโต 30% และตลาดเวียดนามเติบโต 43% (คำนวณโดยใช้ปี 2558 เป็นปีฐาน) โดยลาซาด้าตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าถึง 300 ล้านคน ในปี 2573 ด้วยเครือข่ายผู้ประกอบการถึง 8 ล้านราย และสร้างการจ้างงาน 20 ตำแหน่ง ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

 

กลยุทธ์ธุรกิจสำคัญของลาซาด้าคือ การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ผ่านระบบนิเวศน์ขนาดใหญ่ที่มีทั้งลาซาด้า Laz Mall ระบบโลจิสติกส์ Lazada Elogistics และไฉ่เหนียว รวมทั้งระบบการชำระเงินผ่านอาลีเพย์และลาซาด้าวอลล์เล็ตด้วย ซึ่งลาซาด้าเพิ่งเปิดตัว Laz Mall ช่วงสิ้นปี 2561 ที่ผ่านมา และตั้งใจผลักดันให้เป็นตลาดออนไลน์สำหรับแบรนด์ระดับโลกอันดับ 1 ของอาเซียนให้ได้ โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ของลูกค้า ทั้งการการันตีสินค้าแท้ 100% การคืนสินค้าภายใน 15 วัน การจัดส่งในวันถัดไปนับจากได้รับคำสั่งซื้อ

 

สำหรับสถิติยอดขายของลาซาด้าในประเทศไทยพบว่า เครื่องสำอางคือสินค้าที่มียอดขายมากที่สุด รองลงมาคือสินค้าสำหรับแม่และเด็ก โดยการทำการตลาดของลาซาด้าจะเน้นกิจกรรมที่สร้างความเกี่ยวพันกับแบรนด์ทั้งการทำไลฟ์สตรีมมิง โดยผู้ประกอบการบนแอปพลิเคชันของลาซาด้า ซึ่งสื่อสารกับลูกค้าได้เองโดยตรง การใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อกลุ่มเป้าหมาย (Key Opinion Leader: KOL) ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงกับลูกค้าชาวไทย นอกจากนี้การทำกิจกรรมออฟไลน์ ทั้งการจัดอีเวนต์หรือแฟชั่นโชว์ก็ยังได้ผลตอบรับที่ดีด้วย จากนี้จะมีคอนเทนต์บันเทิงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ใช้แอปฯ ลาซาด้าจะสามารถเพลิดเพลินกับการติดตามคอนเทนต์ที่ตนสนใจไปพร้อมกับการช้อปปิ้งได้ ผ่านแนวคิด Shoppetainment

 

ส่วนผู้ขายของออนไลน์สามารถเลือกปรับแต่งหน้าตาของร้าน รวมถึงรูปแบบในการทำการตลาดโดยตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายบนแพลตฟอร์มของลาซาด้าได้เอง โดยลาซาด้าจะเป็นผู้บริหารจัดการฐานข้อมูลหรือ Big Data คาดว่า ในปี 2562 นี้จะมีจำนวนผู้ประกอบการในลาซาด้าเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัว ขณะนี้ฐานลูกค้าใน Laz Mall เป็นผู้หญิงถึง 63% ซึ่งถือว่ามีศักยภาพในการจับจ่าย อัตราการเติบโตของยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตถึง 3 เท่าในปีที่ผ่านมา ลาซาด้ายังเปิดเผยข้อมูลยอดขาย การเข้าชมร้านค้าและวิเคราะห์ข้อมูลการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการบน Laz Mall ทราบด้วย ซึ่งบริหารจัดการโดยโซลูชัน Branda Advisor 2.0  

 

 

สิ่งที่น่าจับตาคือ การส่งเสริมให้ผู้ขายของออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือระบบอื่นๆ เข้าสู่ Laz Mall ซึ่งลาซาด้าจะมอบ Laz Mall Partner Points ที่สามารถนำไปแลกสินค้าและคูปองส่วนลดจากแบรนด์ต่างๆ ได้ด้วย โดยที่ผู้ขายของออนไลน์สามารถเข้ามาอยู่ในระบบ Laz Mall ผ่านการสมัครออนไลน์เพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้น

 

ถือเป็นอีกก้าวที่น่าจับตาของศึกแพลตฟอร์มที่ดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซเริ่มก้าวข้ามจากการขยายฐานผู้ซื้อ สู่การสร้างอาณาจักรของพ่อค้าแม่ขายออนไลน์ สร้างคอนเทนต์บนแอปพลิเคชันของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มทรงอิทธิพลของผู้บริโภค แม้ลาซาด้าจะไม่ได้เปิดเผยตัวเลขว่าลงทุนไปมากเท่าไร และ ‘ยอมขาดทุน’ ไปมากแค่ไหนในช่วงที่ผ่านมา แต่ในแวดวงธุรกิจต่างทราบดีว่า ลาซาด้าภายใต้แบรนด์อาลีบาบากำลังคิดการใหญ่ และไม่อาจละสายตาจากความเคลื่อนไหวของอีคอมเมิร์ซแบรนด์นี้ไปได้เลย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • Lazada Thailand
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising