วันนี้ (15 พฤษภาคม) ที่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ สาขานิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมสังเกตการณ์การผ่าชันสูตร เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ร่วมกับแพทย์แผนกนิติเวช
กฤษฎางค์ระบุว่า ตลอดการผ่าชันสูตรเป็นไปตามหลักทฤษฎี มีการนำเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการแล้ว อีกทั้งแพทย์ยังได้ตรวจอวัยวะอย่างละเอียดด้วยว่ามีการกระทบกระเทือนอะไรหรือไม่
ส่วนสารคัดหลั่งและเลือดจะถูกส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดี เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญและมีเครื่องมือที่ทันสมัย โดยคาดว่าผลตรวจแบบเบื้องต้นจะทราบในวันพรุ่งนี้ (16 พฤษภาคม)
กฤษฎางค์กล่าวต่อว่า ตลอดการผ่าทนายได้สอบถามแพทย์หลายเรื่อง เช่น เรื่องของหัวใจล้มเหลวซึ่งแพทย์ระบุว่า ต้องผ่าตัดหัวใจดูถึงจะนำไปวิเคราะห์ได้อีกครั้งว่าเกิดจากสาเหตุใด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การผ่าชันสูตรศพครั้งนี้สามารถเห็นถึงอาหารในกระเพาะอาหารได้เลยหรือไม่ กฤษฎางค์กล่าวว่า ส่วนตัวก็เห็นการผ่ากระเพาะอาหาร ซึ่งจะต้องนำผลไปวิเคราะห์ต่อ แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นไม่พบอะไรเลย โดยในรายละเอียดว่าจะอยู่ในลำไส้ใหญ่หรือลำไส้เล็กหรือไม่ต้องรอผลที่ชัดเจน
ส่วนสภาพภายนอกพบว่ามีรอยช้ำเล็กน้อย ซึ่งอาจเกิดจากการหอบหิ้วหรือถูกอุ้ม และซี่โครงบางซี่ได้รับการกระเทือนจากการทำซีพีอาร์
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ภายหลังกรมราชทัณฑ์ได้แถลงข่าวระบุว่า หลังจากบุ้งกลับไปพักฟื้นที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้รับประทานอาหารคือข้าวต้มกับไข่เจียวมาโดยตลอด และอยู่ได้ไม่มีปัญหาใด
กฤษฎางค์กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญสำหรับตน บุ้งจะรับประทานหรือไม่รับประทาน หรือจะอยู่แบบสุขสบาย แต่ว่าการเสียชีวิตแบบนี้มันตายในอ้อมแขนของคุณ ซึ่งถ้าคนสุขสบายดีคงไม่ตายหรอก ส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนหรือวิญญูชนคงรู้ว่าใครแถลงเท็จ และทางกรมราชทัณฑ์เองก็แถลงแบบนี้ทุกครั้ง ตั้งแต่คนไม่ป่วยก็แถลงให้ป่วย จนกระทั่งส่งออกไปรักษาข้างนอกได้ อยากถามทุกคนว่าเชื่อหรือไม่ แต่เป็นผม ถ้ากรมราชทัณฑ์แถลง ผมไม่เคยเชื่อ
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า กรมราชทัณฑ์แถลงยืนยันว่าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีเครื่องมือตามมาตรฐานการแพทย์นั้น กฤษฎางค์กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ได้ฟังแถลง แต่ถ้าแถลงว่าได้มาตรฐาน ก็ขอเชิญผู้ป่วยทั้งหลายไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
โดยเฉพาะคนไข้ที่ได้พักโทษแล้วไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ขอให้พาเขากลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของบุ้งนั้น กฤษฎางค์กล่าวว่า ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังมากกว่าที่จะพูด ขอให้ส่งคนกลางมาร่วมดูแลเรื่องนี้ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย เพราะถือเป็นผู้บังคับบัญชาของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว
อีกทั้งประเทศเรากำลังสมัครเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถ้าคนถูกคุมขังแล้วตายแบบนี้ ท่านจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ส่วนตัวมองว่าบุ้งเสียชีวิตในการควบคุมของรัฐบาลเศรษฐา ต้องหาคนรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัยก็ต้องว่ากันไป มันต้องชัดเจน