×

“นักข่าวไม่ใช่โจร” ทนายยืนยันสื่อทำข่าวพ่นสีกำแพงวัดพระแก้วเป็นหน้าที่ ตำรวจกำลังสร้าง 2 มาตรฐาน หยามเกียรติสื่อมวลชนไทย

โดย THE STANDARD TEAM
13.02.2024
  • LOADING...
ณัฐพล เมฆโสภณ และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

ความคืบหน้ากรณีที่วานนี้ (12 กุมภาพันธ์) ตำรวจจับกุม 2 สื่อมวลชน ได้แก่ ณัฐพล เมฆโสภณ และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 จากกรณีติดตามทำข่าวศิลปินอิสระพ่นสี-ข้อความบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 โดยสื่อมวลชนทั้งสองคนถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

 

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในส่วนของคดีที่มีนักกิจกรรมพ่นสี-ข้อความบนกำแพง คดีนี้อยู่ในขั้นเตรียมสืบพยานในชั้นศาลแล้ว แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านมาประมาณ 1 ปี ตำรวจมีการใช้หมายจับดังกล่าวจับนักข่าวและช่างภาพในข้อกล่าวหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้เสียหาย และทำลายโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 700,000 บาท

 

ในชั้นสอบสวนสื่อมวลชนทั้งสองคนยืนยันว่าในวันที่เกิดเหตุได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้สื่อข่าวและช่างภาพ นำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง โดยทางทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวน เนื่องจากทั้งสองคนไม่ได้เป็นผู้ที่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนี แต่ที่ตำรวจออกหมายจับเนื่องจากฐานความผิดในข้อกล่าวหามีโทษเกินกว่า 3 ปี

 

คุ้มเกล้ากล่าวต่อว่า พฤติการณ์ของทั้งสองคนตำรวจควรจะใช้ดุลยพินิจในการให้ประกันในชั้นสอบสวนได้ แต่พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ให้ประกันและมาขออำนาจศาลฝากขังในวันนี้ ซึ่งเหตุที่มีการฝากขังในวันนี้ตนเองยอมรับว่ายังไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนใช้เหตุอะไรในการขอฝากขัง ทั้งที่เหตุนี้เกิดขึ้นมากว่า 1 ปีแล้ว การสอบสวนสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานควรจะต้องแล้วเสร็จ

 

สำหรับการแยกจับกุมทั้งสองคนไว้ต่าง สน. ทั้งที่เหตุเกิดในพื้นที่ สน.พระราชวัง เป็นเรื่องที่ผิดปกติ ตำรวจควรจะควบคุมสองนักข่าวไว้ที่ สน.พระราชวัง ตามสิทธิของผู้ถูกจับ เพื่อให้ญาติหรือทนายความสามารถมาพบได้ แต่การที่ตำรวจแยกไปสอง สน. ซึ่งไม่ใช่เขตพื้นที่ที่มีอำนาจในการสอบสวน ตนก็ไม่ทราบว่าใช้อำนาจอะไรในการแยก ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ไม่มีคำตอบ และระบุเพียงว่ามีคำสั่งให้ทำ

 

“องค์กรวิชาชีพสื่อก็ต้องตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่และสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงแนวปฏิบัติในการดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว เพราะปัจจุบันผู้สื่อข่าวมีทั้งสังกัด และอิสระ บรรทัดฐาน หรือการยืนยันพฤติการณ์ของผู้ที่ไปทำข่าวเป็นอย่างไร มันจะกลายเป็นภาระของตัวบุคคลนั้นๆ ไปต่อสู้คดี ซึ่งมีต้นทุนที่สูงมาก” คุ้มเกล้ากล่าว

 

คุ้มเกล้ากล่าวต่อว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2559 ก็เคยมีผู้สื่อข่าวถูกดำเนินคดี ถูกทำร้ายร่างกายไม่ต่ำกว่า 5 กรณีแล้ว 

 

ทั้งนี้ในส่วนของสองนักข่าวตอนนี้ยังมีกำลังใจดี และคิดว่าการทำหน้าที่สื่อมวลชนของเขาทำตามจรรยาบรรณและจะแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลต่อไป พฤติการณ์ตามที่ตำรวจกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุน ในความจริงพวกเขาเพียงไปทำข่าว นำเสนอเผยแพร่ข้อเท็จจริงเท่านั้น

 

ด้าน กฤษฎางค์ นุตจรัส หรือ ทนายด่าง กล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด รัฐบาลกับกระบวนการยุติธรรมต้องรับผิดชอบ ตนขอตั้งคำถามว่าหมายจับนี้ออกมาตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2566 จนวันนี้ถือว่าจะครบปีแล้ว กรณีนักกิจกรรมที่พ่นสีคดีอยู่ระหว่างสืบพยานแล้ว เหตุใดถึงเพิ่งติดตามจับนักข่าวทั้งที่พวกเขาไม่ได้ทำความผิดนี้ เรื่องนี้สื่อมวลชนควรจะเรียกร้องรัฐบาลว่าทำไมทำแบบนี้ เพราะตำรวจอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล

 

อย่างกรณีของอนุสาวรีย์หลักสี่ที่หายไปประมาณ 7-8 ปี ตำรวจกลับไม่จับผู้ก่อเหตุ ทั้งที่หลักฐานข้อมูลก็มาก ถ้าทำอย่างนี้ประชาชนก็จะมองว่าตำรวจมี 2 มาตรฐาน โทษความผิดที่สองนักข่าวโดนอยู่ที่ 7 ปี แต่ข้อหานี้ไม่มีกำหนดโทษขั้นต่ำ ตำรวจเรียกปรับเองก็ได้ ตนขอยืนยันว่านักข่าวไม่ใช่โจร ไม่ใช่ผู้ร้าย ทำไมโจรผู้ร้ายถึงได้ประกันตัว แต่นักข่าวไม่ได้ประกัน

 

กฤษฎางค์กล่าวต่อว่า ทำไมนักข่าวถึงไม่ได้ประกันตัว เป็นคำถามที่ตนอยากให้ทุกสื่อรักษาสิทธิเสรีภาพของตัวเอง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แน่นอนว่าสิทธิของสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการทำข่าว แสดงความคิดเห็น เมื่อไรที่ในประเทศสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพและต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว เราก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ไม่ต้องพูดถึงประชาชนตาดำๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องหยามเกียรติของสื่อมวลชนไทย 

 

ที่สำคัญที่สุดตนมีความเห็นว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ไทยจะขอเป็นตัวแทนจากอาเซียนเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วไป การที่เราทำตัวแบบนี้ในฐานะคนไทย ผมว่าอย่าไปเป็นตัวแทนเลย ทำไปก็เสียชื่อเสียง 

 

“จับเด็ก จับสื่อมวลชน ขู่ว่าจะจับทนาย ถึงเวลาที่เสียงของพวกเราน่าจะเรียกร้องไปที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่” กฤษฎางค์กล่าว

 

กฤษฎางค์กล่าวต่อว่า ในข้อกล่าวหาที่ตำรวจแจ้งกับนักข่าวคือผู้สนับสนุนการกระทำผิด เรื่องนี้ต้องผ่านการสืบสวนทวนความอย่างดีว่าผู้สื่อข่าวคนนี้ไปสนับสนุนอย่างไร ถ้าลองคิดดูว่าพวกคุณไปทำข่าวการชุมนุมต่างๆ ถือว่าเป็นการไปสนับสนุนหรือไม่ ประเทศนี้ไม่มีหลักแล้ว และการที่วันนี้ตนจะมายื่นประกันตัวผู้สื่อข่าว ฉะนั้นตนถือเป็นผู้สนับสนุนหรือไม่

 

การที่ตำรวจฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนก็ถือว่าน่าละอายใจ การจับกุมผู้สื่อข่าวครั้งนี้ตนมองว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เรื่องนี้ตนขอปรึกษากับลูกความก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะการที่ศาลออกหมายจับให้ส่งตัวไปที่โรงพักที่เกิดเหตุ แต่สุดท้ายกลับถูกส่งตัวไปที่ไหนก็ไม่รู้ ทำให้เขาขาดการติดต่อไป

 

การโยกย้ายตัวผู้ต้องหาออกนอกพื้นที่ต้องคิดด้วยว่าพวกเขาจะติดต่อทนายได้อย่างไร การกระทำแบบนี้คือการป้องให้ผู้สื่อข่าวไม่ได้พบญาติหรือทนายความของเขา เป็นเรื่องที่ผิด

 

“ทุกสื่อไม่ว่าจะเห็นด้วย ซ้ายหรือขวา ทุกคนควรจะมีอิสระไม่ว่าเขาจะเห็นอย่างไรก็ตาม ต้องให้สิทธิเสรีภาพเขา ตราบใดที่เขาไม่ได้หมิ่นประมาทคนอื่นหรือเขาไม่ได้ทำความผิดอาญา เพราะสื่อก็คือประชาชน ถ้าสื่อไม่ทำข่าวประชาชนจะรู้ได้อย่างไร” กฤษฎางค์กล่าว

 

ทั้งนี้เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ตำรวจได้นำตัวสองสื่อมวลชนเดินทางมายื่นขอฝากขังต่อศาลอาญา ซึ่งจากนี้ทนายความและผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นคัดค้านการฝากขัง ซึ่งคาดว่าจะสามารถทราบผลได้ในช่วงบ่ายวันนี้

 

ณัฐพล เมฆโสภณ และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ณัฐพล เมฆโสภณ และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ณัฐพล เมฆโสภณ และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ณัฐพล เมฆโสภณ และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ณัฐพล เมฆโสภณ และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising