×

ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องอาจารย์ มธ. ปมศาล รธน. ออกข้อกำหนดละเมิดอำนาจศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

21.10.2019
  • LOADING...
ศาลรัฐธรรมนูญ

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของ รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไว้พิจารณา หลังจากที่ได้ยื่นฟ้องประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อศาลปกครองกลาง ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐออกกฎหมายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

โดยระบุว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ออกข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ในข้อที่ 10 และ 11 เป็นกรณีการออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

สำหรับรายละเอียดข้อกำหนดในข้อที่ 10 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายตามคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของศาล หรือวิจารณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของศาลโดยไม่สุจริต หรือใช้ถ้อยคำ หรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย และข้อ 11 กำหนดว่า ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด หรือคำสั่งศาลตามข้อ 8 ข้อ 9 และ ข้อ 11 ให้ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 39 

 

รศ.อานนท์ ระบุในคำฟ้องว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยในการพิจารณาคดี แต่ออกมาบังคับกับการกระทำของบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี หรือที่ยังไม่ปรากฏเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา หรือเป็นคดีซึ่งมีการพิจารณาจบแล้ว จึงไม่เป็นเรื่องของการควบคุมความสงบเรียบร้อยในขณะที่ศาลกำลังดำเนินการและมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่

 

รศ.อานนท์ ยังระบุอีกว่า ข้อกำหนดจะออกมาใช้บังคับได้ก็เฉพาะแต่การรักษาความสงบเรียบร้อยในการพิจารณาคดีเท่านั้น เพราะเป็นวัตถุประสงค์ที่เป็นรากฐานของการมีกลไกเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ก็ใช่ว่าระบบกฎหมายมีช่องว่างในการเอาผิดผู้ใช้ถ้อยคำหยาบคายวิพากษ์วิจารณ์ศาล เนื่องจากที่สุดแล้วกลไกเกี่ยวกับความผิดฐานดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 จะสามารถนำมาใช้บังคับได้ เพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีหรือพิพากษาคดี

 

ขณะที่การออกข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อสร้างฐานความผิดเกี่ยวกับละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีขัดต่อหลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ต้องเป็นไปเฉพาะเท่าที่มีกฎหมายบัญญัติอย่างชัดแจ้งและจำต้องใช้และตีความอย่างเคร่งครัดด้วย การออกกฎดังกล่าวจึงอยู่นอกเหนือหลักเกณฑ์การออกข้อกำหนดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

 

จึงขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนด และมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว พร้อมขอให้พิจารณาคดีโดยเร็ว

 

ต่อมาศาลได้ตรวจพิจารณาคำฟ้อง รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยระบุว่าแม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเป็นบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ แต่ก็เป็นการกระทำในฐานะที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐตามบทนิยามเจ้าหน้าที่รัฐ ในมาตรา 3 พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แม้ข้อกำหนดจะมีสภาพบังคับอย่างกฎ แต่ก็ถือว่าเป็นการกระทำขององค์กรฝ่ายตุลาการ ไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครองขององค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง เป็นการกระทำประเภทหนึ่งขององค์กรฝ่ายตุลาการเพื่อให้การดำเนินการของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ 

 

อย่างไรก็ตาม รศ.อานนท์ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า จะใช้สิทธิตามกฎหมายในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป

 

ศาลรัฐธรรมนูญ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • เอกสารศาลรัฐธรรมนูญ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X