วันนี้ (15 สิงหาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงประเด็นที่ กทม. มีการตรวจสถานบริการและสถานบันเทิงในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. และ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ดำเนินการ
ชัชชาติกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสถานบันเทิงที่อำเภอสัตหีบ ถือเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก ส่งผลต่อความมั่นใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั้งประเทศ เรื่องนี้ กทม. ไม่ได้ละเลยและดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่คณะเข้ามารับตำแหน่งและเริ่มงานสองสัปดาห์แรก และเกิดเหตุไฟไหม้ที่ย่านสีลม จุดนั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคำสั่งที่ให้เอ็กซเรย์ทั้งกรุงเทพฯ
ส่วนเรื่องการจัดระเบียบโซนนิ่งของสถานบันเทิง ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับทางตำรวจอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าจะต้องมีการนัดหารือว่าควรจะปรับเปลี่ยนโซนนิ่งอย่างไร กทม. เองมีแผนที่จะร่วมมือกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกหลายเรื่อง นอกจากการจัดพื้นที่ ยังมีในส่วนของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความปลอดภัย ซึ่ง กทม. เองอาจจะช่วยลงทุนในระบบกล้องวงจรปิดที่มีระบบ AI สามารถตรวจจับหน้าบุคคลได้
นอกจากนี้ ในส่วนของกฎหมายข้อบังคับที่มีประกาศใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ชัชชาติกล่าวว่า มีความตั้งใจว่าจะต้องมีการสังคายนาใหม่ แต่เรื่องข้อบัญญัติต่างๆ จะต้องผ่านการประชุมของสภา กทม. ก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการนำสิ่งที่มีอยู่มาปฏิบัติเลย และอนาคตอาจจะมีการพิจารณาว่าส่วนไหนที่ไม่ทันสมัย รวบทำเป็นฉบับเดียวให้เข้าใจง่ายกว่า
ด้าน พล.ต.อ. อดิศร์กล่าวว่า ในส่วนนี้ข้อมูลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ บริบทของแต่ละสถานที่เปลี่ยนไปตามเวลา หากจะมีการปรับเปลี่ยนระเบียบที่มีการกำหนดไว้มากว่า 20 ปีแล้ว ส่วนของข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลยืนยันจะต้องครบถ้วน อำนาจหน้าที่ของ กทม. มีสองอย่าง คือการอนุญาตการใช้อาคารโครงสร้าง พอจะเริ่มเปิดให้บริการก็จะให้ใบอนุญาตในส่วนของการประกอบการร้านอาหารและการใช้เสียง แต่ต้องยอมรับว่าเวลาเปิด-ปิดก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ กทม. ไม่ได้เข้าไปก้าวก่าย เป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่เรื่องนี้เป็นการทำงานคู่กัน ต้องประสานงานกันด้วยความเข้าใจเรื่องของกฎหมาย
พล.ต.อ. อดิศร์กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่เชิงรุกจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการมากกว่าร้อยละ 90 มีความตื่นตัวที่จะปรับปรุงตามคำแนะนำ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในสถานประกอบการ หลายที่มีการทุบผนังออกเพื่อที่จะทำประตูทางออกเพิ่มมากขึ้น และอย่างย่านสีลม ซอย 2 ที่เกิดเหตุ มีการแก้ไขเชิงกายภาพทั้งหมด ส่วนการรื้อสายไฟสายสื่อสารในบริเวณ ยังอยู่ในขั้นตอนรอดำเนินการจากการไฟฟ้านครหลวง
“ต้องยอมรับว่าในส่วนของสถานประกอบการรายย่อย ยังให้ความสนใจกับการปรับปรุงความปลอดภัยน้อย ในส่วนนี้อาจจะให้เวลาการแก้ไขเพิ่มให้อยู่ในกรอบที่ ผู้ว่าฯ กทม. กำหนดไว้ที่หนึ่งเดือน จะได้ครบตามที่ตำรวจนครบาลแจ้งไว้ประมาณ 800 กว่าแห่ง” พล.ต.อ. อดิศร์กล่าว
ขณะที่ทวิดากล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบสถานประกอบการจะมีสองแบบ ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นการตรวจจากสำนักงานเขต สิ่งที่สำนักงานเขตต้องทำร่วมกับสำนักการโยธา และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คือตรวจส่วนของโควิด ตรวจเรื่องการใช้กัญชาและการใช้สารเสพติด และเรื่องการตรวจระบบป้องกันอัคคีภัย เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่เริ่มตรวจมีเหตุเพลิงไหม้หลายแห่ง ซึ่งแผนการตรวจลักษณะนี้ ทางสำนักงานเขตจะมีแผนการตรวจวนรอบ จากนั้นข้อมูลส่วนนี้จะถูกนำส่งให้ส่วนกลางเพื่อจะได้พิจารณาว่าสถานประกอบการไหนมีปัญหาจุดใด
“หลังจากเกิดเหตุที่อำเภอสัตหีบ ทางผู้ว่าฯ กทม. ได้มีการกำชับอีกครั้งหนึ่ง และให้เร่งการตรวจให้เข้มข้น จึงได้มีการจัดตั้งทีมเชิงรุก โดยการนำข้อมูลจากสำนักงานเขตที่รวบรวมมา และลงพื้นที่ตรวจทวนซ้ำว่าร้านได้มีการทำตามคำแนะนำและเพิ่มเติมในส่วนของข้อปรับแก้ หลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบมาเป็นระยะเวลา 10 วัน ตรวจแล้ว 121 ที่ บางส่วนได้มีการย้ำเตือนให้ปรับปรุงในส่วนโครงสร้างการใช้พื้นที่” ทวิดากล่าว
ทวิดากล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่กังวลคือเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ เพราะเจ้าของร้านกับพนักงานเองจะมีความคุ้นเคย รับรู้ว่าทางออกทางหนีไฟอยู่บริเวณไหน แต่สำหรับผู้ที่มาใช้บริการจะไม่ทราบ ข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ประกอบกับจะต้องคำนวณถึงความเหมาะสมในการเดินทางจากพื้นที่ด้านใน เพื่อออกไปยังด้านนอกตัวอาคารเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน