×

จัดพอร์ตลงทุน ‘โค้งสุดท้าย’ ท่ามกลางจุดเปลี่ยนด้านนโยบายการเงินทั่วโลก

17.10.2021
  • LOADING...
จัดพอร์ตลงทุน

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมองตลาดหุ้นทั่วโลกโค้งสุดท้ายไตรมาส 4 ต้องลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น 
  • นโยบายการเงินและการคลังของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ยังเป็นปัจจัยที่กดดันการลงทุนตลอดทั้งไตรมาส
  • สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นทั่วโลก ยังเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด แต่ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีอัปไซด์จำกัด

เข้าสู่ช่วงต้นไตรมาส 4 ของปีนี้แล้ว ราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เคลื่อนไหวอย่างผันผวนมาตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4 ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมองว่า จะเป็นไตรมาสที่ต้องลงทุนอย่างระมัดระวังสูงขึ้น เนื่องจากสินทรัพย์ประเภทต่างๆ จะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยจากนโยบายการเงินและการคลังของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน 

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ อาจแบ่งมุมมองออกเป็น 3 เรื่องหลัก 

 

เรื่องแรกคือมุมเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว แต่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น จะฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาจะเริ่มได้อานิสงส์เชิงบวก และมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ยังต้องติดตามการเปิดประเทศ ว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากน้อยเพียงใด และจะสะท้อนสู่เศรษฐกิจจริงเท่าไร และจากมุมมองดังกล่าวจึงให้น้ำหนักการลงทุนในตลาด Developed Markets (DM) มากกว่า Emerging Markets (EM)

 

เรื่องที่ 2 คือมุมของเงินเฟ้อ ซึ่งมองว่าในไตรมาส 4 นี้ เงินเฟ้อเริ่มกลับมาสร้างความกังวลต่อภาพรวมการลงทุน แต่ก็ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วสำหรับในสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อยังกดดันต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในด้านต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ดังนั้นแล้ว อัตราเงินเฟ้อน่าจะส่งผลดีต่อ EM แต่เป็นลบต่อ US 

 

เรื่องที่ 3 คือนโยบายการเงิน ซึ่งในช่วงสุดท้ายของปีนี้ นโยบายทางการเงินจะมีความน่ากังวลยิ่งขึ้น จากการที่ธนาคารกลางต่างๆ เริ่มลดนโยบายเติมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่เห็นได้ชัดเจนคือธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งในการประชุมครั้งหน้า (กลางพฤศจิกายน) จะเริ่มเห็นการดำเนินการลดวงเงิน QE อย่างแท้จริง ซึ่งตลาดทุนน่าจะปรับฐานเพื่อตอบรับอีกระลอก 

 

สำหรับประเทศไทย ความน่าสนใจอยู่ที่การเปิดประเทศ ซึ่งแม้จะเป็นปัจจัยเชิงบวกแต่คงไม่ส่งผลต่อตลาดหุ้นมากนัก เพราะยังมีความกังวลรออยู่ เนื่องจากยังไม่เห็นแผนงานรองรับที่เป็นรูปธรรม ในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้งภายหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับตลาดหุ้นประเทศอื่น หุ้นไทยจะได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างน้อยกว่า

 

สำหรับการจัด Asset Allocation นั้น จากปัจจัยดังกล่าว จึงให้น้ำหนักการลงทุนในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากกว่าสินทรัพย์อื่นๆ และให้น้ำหนักต่อตลาดประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดประเทศกำลังพัฒนา จึงได้สัดส่วนการลงทุน ดังนี้

 

  • หุ้นต่างประเทศ 40%
  • ตราสารหนี้ 30%
  • การลงทุนทางเลือก (กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนสินค้าอุตสาหกรรม ทองคำ และสินทรัพย์ดิจิทัล) 5-10% 
  • หุ้นไทย 20-25%

 

“สตอรีของการลงทุนในโค้งสุดท้ายปีนี้ คือนโยบายการคลัง ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีกำลังการใช้จ่ายไม่มากเท่าประเทศพัฒนาแล้ว ความน่าสนใจในตลาดหุ้นจึงน้อยกว่า ขณะเดียวกันยังมีสตอรีเรื่องกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรือ New Economy ซึ่งในประเทศไทย แม้จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็ไม่มากนัก และยังเกี่ยวข้องกับผู้คนในส่วนน้อยมาก จึงไม่ดึงดูดนักลงทุน” 

 

ปิยะภัทร์ ภัทรภูวดล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไตรมาส 4/2564 เป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลก โดยเฉพาะ Fed คาดว่าจะประกาศทำ QE Tapering ในไตรมาส 4/64 เมื่อสภาพคล่องชะลอตัว ทำให้ Bond Yield มีแนวโน้มขยับขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางแข็งค่าขึ้นด้วย รวมถึงทำให้เกิดการโยกย้ายกระแสเงินทุนที่มีความผันผวนสูงขึ้น 

 

อีกจุดเปลี่ยนคือ การแพร่ระบาดของโควิดที่รุนแรงในหลายประเทศช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา กำลังมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และภาครัฐเริ่มคลายมาตรการควบคุม ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ราคาหุ้น EM ยังให้ผลตอบแทนในปีนี้น้อยกว่า DM ดังนั้นเรามองว่าหุ้น EM มีความน่าสนใจมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ แนะนำจัด Asset Allocation โดยลงทุนใน 

  • ตราสารหนี้ 20%
  • Money Market 15%
  • ตลาดหุ้น 32% แบ่งเป็นหุ้นไทย 15% หุ้นทั่วโลก 10% และหุ้นในตลาด DM 7% 
  • กองรีทส์ 14% 
  • ทองคำ 2% 

 

“โดยภาพรวม มองสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นในทิศทางบวกมากขึ้น เนื่องจากผ่านพ้นสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้หลายประเทศกลับสู่วิกฤตได้แล้ว จึงเชื่อว่าจากนี้ถึงสิ้นปี บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยเรื่องนโยบายการเงินและอัตราเงินเฟ้อคอยกดดันเป็นระยะ โดยเฉพาะในตลาด DM จึงชื่อชอบหุ้นไทยมากกว่า”​

 

วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนะนำจัด Asset Allocation สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง แบ่งเป็น

 

ตราสารหนี้ 40% โดยมองว่า Bond Yield อาจเร่งตัวขึ้นตามแนวโน้มนโยบายการเงินของหลายประเทศที่ตึงตัวมากขึ้น กระทบกับตราสารหนี้ที่มี Duration ยาว แต่ Corp Bond และ HY Bond กระทบน้อยจาก Credit Risk ที่ลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น

 

Money Market 23% เพื่อช่วยลดความผันผวนของพอร์ตโฟลิโอ และสร้างโอกาสการลงทุนในระยะข้างหน้า เนื่องจากตลาดการเงินมีความผันผวนที่สูงขึ้นจากการเร่งตัวของ Bond Yield ตามแนวโน้มการทำ QE Tapering ของ Fed

 

หุ้นทั่วโลก 30% แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกฟื้น และกำไรบริษัทอาจชะลอตัวลงในไตรมาส 4 แต่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากโควิดเริ่มลดลง แรงกดดันจากดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ

 

กองรีทส์ 5% เพราะจะได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง Dividend Yield อยู่ในระดับที่น่าสนใจ

 

ทองคำ 2% โดยการทำ QE Tapering และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงจากปัญหาคอขวดอุปทานที่เริ่มคลี่คลาย จะทำให้ Real Yield มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกดดันราคาทองคำ

 

“ในส่วนของตลาดหุ้นทั่วโลก เราชื่นชอบตลาดหุ้นยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม โดยหุ้นยุโรปยัง Undervalue เมื่อเทียบกับหุ้นสหรัฐฯ ส่วนหุ้นญี่ปุ่นจะมี Election Rally จากการเลือกตั้งในปลายเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่หุ้นจีนเองราคาปรับลดลงมาจนน่าสนใจ ลาสุด PE อยู่ที่ 13 เท่าถือว่าไม่แพง และเวียดนามเป็นประเทศที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปี 2565 โดดเด่นมากๆ คาดการณ์ไว้ที่ 9-10%” 

 

ส่วนหุ้นไทยมีมุมมองเป็นกลาง เนื่องจากอัปไซด์เริ่มจำกัด เมื่อเทียบกับประมาณการดัชนีของธนาคารกรุงศรีฯ ที่ประเมินไว้ที่ 1,700 จุด

 

ทางด้าน ศรชัย สุเนต์ตา CFA, ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB-CIO และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นยังคงน่าสนใจ โดยเฉพาะตลาด EM ที่มีความโดดเด่นขึ้นจากการเปิดประเทศอีกครั้ง (Reopening) ซึ่งจะค่อยๆ ส่งผลดีต่อกลุ่มอสังหาฯ และรีทส์ ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับ Thematic Growth โดยเฉพาะด้านการ Transform ยังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เช่น ธุรกิจ Fintech, EV และ Battery Storage 

 

ทั้งนี้ แนะนำจัดพอร์ตลงทุนในหุ้นทั่วโลก 70% โดยมองตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป น่าสนใจเข้าลงทุนในช่วงไตรมาส 4 ขณะที่หุ้นญี่ปุ่นแนะนำให้ Trading 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising