×

วิกฤตหนี้ สปป.ลาว ค่าไฟพุ่งทะลุล้านกีบเกินกว่าจะจ่ายไหว สะเทือนฝัน ‘แบตเตอรี่แห่งอาเซียน’

23.05.2025
  • LOADING...
laos-debt-crisis

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวลาวต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จนทำให้ราคาไฟฟ้าพุ่งขึ้นต่อเนื่อง บวกกับปัญหาหนี้เงินกู้สาธารณะ และค่าเงินกีบที่ยังเป็นกับดักเศรษฐกิจ

 

เกิดเป็นคำถามที่ว่า เหตุใดราคาพลังงานในประเทศ จึงมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะจ่ายไหว แม้ว่า สปป.ลาว จะมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลายสิบแห่งและได้รับการขนานนามว่าเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” 

 

รายงานข่าวจาก Nikkei Asia ระบุว่า วิกฤตความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและสกุลเงินภายในประเทศที่อ่อนค่าทำให้ราคาไฟฟ้าในลาวพุ่งสูงขึ้น กระทบต่อครัวเรือนและภาคธุรกิจซึ่งค่าไฟพุ่งเป็นสองเท่าในรอบ 2 ปี

 

โซเชียลมีเดีย ชาว สปป.ลาว ต่างโพสต์ค่าไฟฟ้าด้วยความตกใจที่ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นพุ่งกระฉูด โดยมีโพสต์หนึ่งระบุว่าค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นเกือบ 50% ในเดือนเมษายน เป็นประมาณ 2.7 ล้านกีบ (125 ดอลลาร์) หรือราว 4,000 บาท 

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลได้ประกาศแผนที่จะขึ้นราคาค่าไฟฟ้าไปจนถึงปี 2029 รวมถึงการขึ้นราคารายเดือนในปี 2025 และ 2026 ซึ่งคาดว่าครัวเรือนจะต้องจ่ายถึง 1,724 กีบต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงภายในเดือนธันวาคม 2026 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากอัตราในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความต้องการไฟฟ้าใน สปป.ลาว พุ่งสูงขึ้น โดยประชาชนแห่ซื้อเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ มากขึ้น และธุรกิจต่างๆ ก็เร่งดำเนินกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น 

 

อีกทั้งยังพบข้อมูล บริษัทจดทะเบียนในลาวประมาณ 21,300 บริษัท ณ สิ้นปี 2567 ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 10 ปี

 

ประกอบกับปัญหาหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ซึ่ง สปป.ลาว ผลิตไฟฟ้าประมาณ 70% มาจากพลังงานน้ำ จากการระดมทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นส่วนใหญ่ผ่านเงินกู้จากต่างประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลมีความจำเป็นในการหาเงินกีบให้เพียงพอเพื่อแปลงเป็นสกุลเงินต่างประเทศเพื่อชำระหนี้ทำให้รัฐบาลต้องส่งต่อต้นทุนให้กับผู้บริโภคในที่สุด

 

เนื่องจากหนี้ต่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น เงินกีบจึงอ่อนค่าลงมากกว่า 10% ในหนึ่งปีเหลือ 660 กีบต่อบาทไทย 

 

Xaybandith Rasphone รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ส่งสัญญาณแผนการเจรจากับรัฐบาลเพื่อแบ่งเบาภาระของธุรกิจ โดยเฉพาะอุปทานไฟฟ้าที่ตึงตัวอาจส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์การเติบโตของลาว เนื่องจากรัฐบาลเน้นที่การเสริมสร้างการส่งออกไฟฟ้า

 

สำหรับ สปป.ลาว เริ่มส่งออกไฟฟ้าไปยังสิงคโปร์ในปี 2022 และวางสายส่งไฟฟ้าในกัมพูชา ปัจจุบันประเทศขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 80% ให้กับเพื่อนบ้านไทยและเวียดนาม และไฟฟ้าคิดเป็นประมาณ 30% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

 

การใช้ไฟฟ้าในประเทศที่มากขึ้นหมายความว่า “ลาวจะสูญเสียโอกาสในการหารายได้จากเงินตราต่างประเทศ” ขณะเดียวกัน การให้ความสำคัญกับการส่งออกจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและธุรกิจในลาวอย่างหนัก

 

Kikeo Chanthaboury รองประธานของ Lao Academy of Social and Economic Sciences กล่าวว่า สปป.ลาว กำลังเข้าใกล้จุดที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องให้ความสำคัญกับการจัดหาไฟฟ้าในประเทศเป็นอันดับแรก 

 

ปัจจุบัน สปป.ลาว มีโรงไฟฟ้า 94 แห่ง รวมถึงเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 81 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 11,600 เมกะวัตต์ และภายในปี 2039 รัฐบาลตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มอีก 5,559 เมกะวัตต์ โดย 77.59% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังน้ำ

 

แม้ว่า สปป.ลาว จะพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเป็นหลัก ยังผสานพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เพื่อการส่งออกเพื่อนบ้านอีกด้วย 

 

ภาพ: chuchart duangdaw / Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising