×

ลุ้นชะตากรรมคนไทยกว่า 200 ชีวิตในเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา จับตา 41 ชีวิตถึงไทย เตรียมถูกสอบเข้าข่ายนักต้มตุ๋น-แก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2023
  • LOADING...
เล่าก์ก่าย

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) ประกอบด้วย กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA), กองทัพตะอาง (Ta’ang National Liberation Army: TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA) ได้เปิดปฏิบัติการทางทหารในชื่อ ‘Operation 1027’ โจมตีฐานทหารเมียนมารอบเมืองเล่าก์ก่าย เขตปกครองตนเองโกก้าง หรือเขตปกครองพิเศษที่ 1 แห่งรัฐฉาน จนเกิดการสู้รบและนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง

 

ทั้ง 3 กองกำลังจับมือกันต่อต้านรัฐบาลทหารภายใต้อุดมการณ์เดียวกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force: PDF) ซึ่งเป็นเครือข่ายกองทัพของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือรัฐบาลเงา NUG (National Unity Government) ที่มาจากขั้วอดีตสมาชิกรัฐบาลพลเรือน ซึ่งถูกกองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021

 

เกิดอะไรขึ้นกับคนไทยในเล่าก์ก่าย 

 

คนไทยทราบข่าวสถานการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ภายหลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ว่า 

 

“ผมได้รับรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ที่มีคนไทยและชาติอื่นๆ ติดอยู่ในเมืองเล่าก์ก่ายจากการสู้รบ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ประสานทางการเมียนมาให้ช่วยเหลือคนไทยจำนวน 162 คน และจัดให้พักในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ขณะนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังหารือกับทางการเมียนมา เพื่อช่วยให้คนไทยทั้งหมดกลับไทยโดยเร็วครับ” เศรษฐาระบุ

 

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มีกลุ่มคนไทยที่ยังอยู่ในพื้นที่เมืองเล่าก์ก่ายจำนวน 293 คน และมีกลุ่มคนไทยประมาณ 41 คนที่ถูกนายจ้างปล่อยตัวออกมาจากเมืองเล่าก์ก่ายและหลบหนีออกไปเมืองอื่นในความปกครองของกลุ่มว้าแดง โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง 

 

คนไทยทั้ง 41 คน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของทหารว้าได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพบก กระทรวงกลาโหม ผ่านกลไกความร่วมมือด้านการทหาร คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (Township Border Committee: TBC) ประสานขอให้ทหารว้าเคลื่อนย้ายคนไทยกลุ่มนี้จากเมืองหนานเติ้ง พร้อมทั้งส่งมอบให้กับทหารเมียนมาในพื้นที่จังหวัดเชียงตุง ประเทศเมียนมา แล้วเคลื่อนย้ายคนไทยต่อมายังจังหวัดท่าขี้เหล็ก 

 

สำนักข่าวชายขอบ (Transborder News) รายงานอ้างอิงสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ว่า คนไทยทั้ง 41 คนจะเดินทางข้ามมาถึงประเทศไทยในช่วงเที่ยงวันนี้ (16 พฤศจิกายน) จากนั้นจะนำตัวไปคัดกรองตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช และนำตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 37 อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) ที่จังหวัดเชียงราย 

 

ส่วนของคนไทยที่ยังคงอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างประสานการปฏิบัติกับเมียนมาและจีน เพื่อขอรับตัวคนไทยกลุ่มนี้กลับประเทศโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการอพยพคนไทยออกมายังพื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุดเช่นกัน

 

นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมยังได้ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อวางแผนความเป็นไปได้ในการเคลื่อนย้ายคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ ให้สามารถเดินทางกลับประเทศโดยสวัสดิภาพ

 

ขณะที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์ล่าสุดวันนี้ (16 พฤศจิกายน) ว่า ยืนยันว่าคนไทยที่อยู่ที่เมืองเล่าก์ก่ายปลอดภัยดี ตอนนี้ได้มีการหารือกับทางการของเมียนมา เพื่อเตรียมการหาเส้นทางส่งคนไทยกลับประเทศ โดยอาจจะใช้เส้นทางผ่านคุนหมิง ประเทศจีน หรือเส้นทางผ่านทางเชียงตุง ประเทศเมียนมา แต่เส้นทางดังกล่าวยังมีการสู้รบอยู่

 

พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยังกล่าวถึงความเป็นอยู่ของคนไทยด้วยว่า ขณะนี้มีกลุ่ม NGO และสถานทูตประเทศไทยประจำกรุงย่างกุ้งคอยดูแลอยู่ โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้เร่งรัดไปยังกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน เพื่อเปิดเส้นทางให้คนไทยจากเมียนมาอพยพเข้าไปในพื้นที่ของจีน พร้อมยืนยันว่าคนไทยกว่า 200 คนปลอดภัยดี

 

นอกจากนี้ยังได้หารือไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยและปลัดสาธารณสุข รวมถึงได้สั่งการไปยังผู้กำกับการ สภ.เชียงราย และศูนย์ต่างๆ รวมถึงศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ลงไปในพื้นที่ โดยได้มีการเตรียมความพร้อมใช้สถานที่ของตำรวจตระเวนชายแดนเป็นที่พัก รวมทั้งได้จัดเตรียมแพทย์และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูเรื่องกลไกการคัดแยกเหยื่อ 

 

ในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมในวาระพิจารณา เรื่อง การช่วยเหลือคนไทยที่เมืองเล่าก์ก่าย โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ได้แก่ อธิบดีกรมการกงสุล เป็นตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นตัวแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้ากรมยุทธการทหารบก ตัวแทนผู้บัญชาการกองทัพบก

 

รังสิมันต์ โรม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ข้อมูลที่ กมธ. ได้รับขณะนี้จำนวนคนไทยที่รอคอยความช่วยเหลือแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกที่ยังอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย 254 คน และกลุ่มที่ 2 ที่จะเดินทางกลับประเทศไทย 41 คน 

 

รังสิมันต์กล่าวว่า กมธ. ได้ฝากไปถึงกระทรวงการต่างประเทศว่า 41 คนที่เดินทางมาตอนนี้พอทราบอุปสรรคบางอย่างแล้ว ขอให้เร่งรัดการช่วยเหลือ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการช่วยเหลือในส่วนอื่นๆ ต่อไป ตนยอมรับว่าในการช่วยเหลือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและไม่ใช่เรื่องง่าย โดยที่ประชุม กมธ. จึงมีมติให้รัฐบาลเร่งรัดช่วยเหลือคนไทยที่ติดที่เล่าก์ก่ายออกมาอย่างเร่งด่วนที่สุด รวมถึงตั้งวอร์รูม (War Room) เพื่อช่วยเหลือคนไทยด้วย

 

รังสิมันต์กล่าวย้ำว่า สถานการณ์ในเมียนมาวันนี้เป็นสถานการณ์ที่รุนแรงและน่ากังวลอย่างที่สุด วันนี้เป็นบทพิสูจน์ว่า ถ้าช่วยคนที่เล่าก์ก่ายไม่ได้ เราจะไม่สามารถช่วยเหลือคนในพื้นที่อื่นได้

 

ขณะเดียวกันมีรายงานอีกว่า มีประชาชนหลายชาติทั้งชาวเมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม และจีน ที่ทำงานอยู่ภายในเมืองเล่าก์ก่าย เริ่มตั้งแถวอพยพด้วยการเดินเท้าออกจากเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ไปยังเมืองหนานเติ้ง ประเทศจีน หลังคาดว่าอาจจะมีการปะทะครั้งใหญ่ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้

 

ทั้งนี้ ก่อนออกจากเมืองประชาชนเหล่านั้นได้ทิ้งสิ่งของทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า เงิน หรือโทรศัพท์มือถือ 

 

‘เล่าก์ก่าย’ เมืองแห่งการต้มตุ๋น 

 

สำหรับเล่าก์ก่าย์ เป็นเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา อยู่ภายในเขตปกครองพิเศษโกก้างใกล้กับชายแดนจีน และได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งการต้มตุ๋น (Scam Town) โดยภายในเมืองมีสถานประกอบการ ทั้งสถานบันเทิง โรงแรม และที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายหลายประเภททั้งคริปโตเคอร์เรนซี, หุ้น, คอลเซ็นเตอร์ และเว็บพนัน ที่ดึงดูดให้แรงงานไทยเข้าไปทำงาน ไม่ว่าจะสมัครใจหรือถูกชักจูงโดยนายหน้าหรือโบรกเกอร์

 

สอดคล้องกับที่ จารุวัฒน์ จิณห์มรรคา รองประธานมูลนิธิเอ็มมานูเอล (IMF) หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมประสานงานกับทหารเมียนมา เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเหตุการณ์คนไทยในเล่าก์ก่าย ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนักในวันนี้ว่า ได้รับแจ้งจากผู้ปกครองของผู้ลี้ภัยบางคนบอกว่า มีคนไทยจำนวนหนึ่งที่อยู่ในจังหวัดภาคเหนือถูกเพื่อนหลอกให้ไปทำงานที่เมืองเล่าก์ก่าย โดยอ้างจะได้รับค่าตอบแทนที่สูง ลักษณะงานเป็นการตอบแชต หลังจากตกลงที่จะไปทำงานจะมีนายทุนเป็นผู้ออกค่าตั๋วเครื่องบินรวมถึงพาสปอร์ตให้ และปลายทางลงที่มัณฑะเลย์ จากนั้นจะมีนายหน้ามารับเดินทางไปที่เล่าก์ก่าย 

 

เมื่อไปถึงพบว่าไม่ได้ทำงานอย่างที่ตกลงกันไว้ แต่จะมีคนส่งสคริปต์ให้ท่องเพื่อมาต้มตุ๋นคนไทย ซึ่งมีขบวนการในการสอน มีล่ามแปล และมีคนจีนอยู่ในนั้น หากใครไม่ทำงานดังกล่าวจะถูกกักขังและทำร้ายร่างกาย งดอาหาร หนักสุดคือเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม คนไทยทั้ง 41 คนที่เดินทางกลับมา ขณะนี้อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาที่ต้องให้สหวิชาชีพเข้ามาสอบก่อน

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising