วันนี้ (28 สิงหาคม) เวลา 14.55 น. โดยประมาณ ทีมเจ้าหน้าที่พบคนงานชาวเมียนมา 1 รายภายในอุโมงค์โครงการก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูง ช่วงบริเวณสถานีคลองขนานจิตร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่เกิดเหตุถล่มแล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการเคาะผนังดินในจุดที่พบสัญญาณชีพต่อเนื่องจนมีเสียงตอบรับกลับมาจากอีกฝั่ง
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น 87 ชั่วโมงก่อนหน้า
เมื่อเวลา 23.40 น. ของวันที่ 24 สิงหาคม 2567 เกิดเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ ช่วงคลองขนานจิตร์ ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการ รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา สัญญา 3-2 งานก่อสร้างอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง
เป็นเหตุให้มีคนงานที่กำลังปฏิบัติงานขุดเจาะอุโมงค์ติดอยู่ภายใน 3 ราย ประกอบด้วย ผู้ควบคุมงาน 1 ราย, คนขับแบคโฮสัญชาติจีน 1 ราย และคนขับรถบรรทุกสัญชาติเมียนมา 1 ราย
ในการตรวจสอบหลังเกิดเหตุพบว่า อุโมงค์รถไฟคลองไผ่ดำเนินการขุดอุโมงค์เกือบจะแล้วเสร็จได้ความยาวประมาณ 4,100 เมตร ทั้งนี้ภายในอุโมงค์มีการทำผนังไว้ตลอดแนว โดยบริเวณที่เกิดเหตุชั้นหินและดินทรุดตัวมีความยาวประมาณ 10-30 เมตร
ตั้งแต่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้พยายามจัดการอุปสรรคต่อการกู้ภัย-กู้ชีพคนงานทั้ง 3 ราย ด้วยการขุดดินภายในอุโมงค์ ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับโครงสร้างทางธรณีวิทยาและเทคนิคการก่อสร้างอุโมงค์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน รวมทั้งสอดท่ออากาศที่ใช้ในการปั๊มออกซิเจนเข้าไป
นอกจากนี้ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองแห่งชาติ (Urban Search and Rescue) หรือ USAR Thailand พร้อมด้วยเครื่องมือค้นหากู้ภัยแบบพิเศษ เช่น เครื่อง Life Detector เครื่องตรวจจับสัญญาณผู้รอดชีวิต และ Search Camera อุปกรณ์ค้นหาผู้รอดชีวิตใต้อาคารถล่ม มาร่วมปฏิบัติการด้วย
แต่อุปสรรคสำคัญคือตลอดภารกิจในช่วงแรกดินและหินโดยรอบจุดที่เกิดเหตุสไลด์ตัวลงมาในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทำงาน ทำให้ต้องวางกระสอบกั้นไว้เพื่อความปลอดภัยของทีมช่วยเหลือที่มีทั้งคนและสุนัข K9
สัญญาณชีพแรก
เข้าสู่วันที่ 3 ของการช่วยเหลือ (27 สิงหาคม) ทีมกู้ภัย Hunan Sunshine จากจีน ซึ่งเป็นทีมกู้ภัยในพื้นที่ภัยพิบัติ เดินทางถึงจุดเกิดเหตุเพื่อร่วมปฏิบัติงานกับทีมกู้ภัยของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยตั้งแต่คืนที่ 2 ที่เกิดเหตุทางทีมกู้ภัยสามารถสอดท่ออากาศเข้าไปภายใน 2 จุด และดันท่อช่วยชีวิตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 เมตร ความยาวท่อนละ 6 เมตร เข้าไปจำนวน 3 ท่อน ตามแผนที่กำหนดไว้จำนวน 5-6 ท่อน
กระทั่งเวลา 13.22 น. ของวันเดียวกันนั้น รฟท. รายว่า ตรวจพบสัญญาณชีพของคนงานทั้ง 3 ราย หลังจากข่าวดีที่เกิดขึ้น สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ รฟท. ดำเนิน 4 ข้อเร่งด่วนคือ
- ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งรายงานสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงดำเนินการปรับปรุงความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐาน แนวทาง มาตรการ ระเบียบ ข้อกำหนด คู่มือการก่อสร้าง และเอกสารที่แนบในสัญญาก่อสร้าง
- ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือและแผนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักวิศวกรรม หลักความปลอดภัย และเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ป้องกันการสูญเสียซ้ำซ้อน
- ตรวจสอบสัญญาจ้างก่อสร้าง ในส่วนของความรับผิดชอบ ประกันภัย รวมทั้งมาตรการเยียวยาให้กับผู้เสียหาย
- สั่งการผู้รับจ้างและที่ปรึกษาควบคุมงานที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างของ รฟท. ทั่วประเทศ ตรวจสอบความปลอดภัยโครงการก่อสร้าง กรณีพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายให้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการทราบ เพื่อดำเนินการปรับปรุงความปลอดภัยโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการที่มีการขุดเจาะอุโมงค์ให้เฝ้าระวังความปลอดภัยเป็นพิเศษโดยใช้มาตรการความปลอดภัยสูงสุด
ทำความรู้จักโครงการฯ ที่เกิดเหตุ
โครงการ รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน เป็นเส้นทางที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศต่างๆ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา Belt and Road Initiative (BRI) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทางคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการพัฒนา รถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) เป็นการร่วมพัฒนาระหว่างประเทศในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยฝ่ายไทยรับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธาและใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างและระบบรถไฟของจีน
ซึ่งทำพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ ใช้งบประมาณ 179,412.21 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2570
แนวเส้นทางรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1: กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา มีระยะทาง 250.77 กิโลเมตร แบ่งเป็น
- ทางวิ่งทางยกระดับ ระยะทาง 188.68 กิโลเมตร
- ทางวิ่งทางระดับดิน ระยะทาง 54.09 กิโลเมตร
- อุโมงค์ มี 2 แห่ง บริเวณมวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 8 กิโลเมตร
โดยมีสถานีรายทาง 6 สถานี ประกอบด้วย
- สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
- สถานีดอนเมือง
- สถานีอยุธยา
- สถานีสระบุรี
- สถานีปากช่อง
- สถานีนครราชสีมา
ข้อมูล ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานโยธา โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 14 สัญญา และงานระบบรางและการจัดหาขบวนรถ 1 สัญญา มีความก้าวหน้าผลการดำเนินการโครงการรวมทั้งสิ้น 34.97%
บริษัทผู้รับผิดชอบกับคนจีนในที่เกิดเหตุ
วันนี้ (28 สิงหาคม) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยว่า ในส่วนการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นเป็นการดูแลภายใต้บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งสาเหตุที่หลายฝ่ายสงสัยว่าทำไมมีคนจีนเข้ามาทำงานก่อสร้างโครงการนี้ ส่วนตัวมองว่าบริษัทดังกล่าวคงเห็นถึงความชำนาญในการสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงของบริษัทคนจีน จึงต้องการจ้างคนที่เชี่ยวชาญมาช่วยทำงานในประเทศ
ทีมข่าวได้สืบค้นข้อมูลของบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 ด้วยทุนจดทะเบียน 2,585,481,515.00 บาท กลุ่มธุรกิจบริการ ประเภทธุรกิจคือการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย
ปรากฏรายชื่อคณะกรรมการ 9 ราย โดย 3 อันดับแรกคือ
- พลพัฒ กรรณสูต
- ประเสริฐพันธุ์ พิพัฒนกุล
- อภิชาต ธรรมสโรช
ข้อมูลงบการเงินในส่วนงบกำไรขาดทุน 2 ปีล่าสุด
- ปี 2565 รายได้รวม 11,727,556,574 บาท กำไร (ขาดทุน) สุทธิ 914,596 บาท
- ปี 2566 รายได้รวม 10,120,736,150 บาท กำไร (ขาดทุน) สุทธิ -925,361,982 บาท
รายงานเหตุล่าสุดก่อนเวลา 17.08 น. ของวันนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังได้ยินเสียงโต้กลับจากฝ่ายผู้ประสบภัย (คนงาน) ทำให้เชื่อได้ว่าผู้ที่ยังหลงเหลืออยู่จะยังมีชีวิตรอด
อ้างอิง: