×

ส่อง Landscape บล็อกเชนในไทย ก้าวทันวิวัฒน์โลกหรือยัง

28.12.2021
  • LOADING...
Blockchain

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ‘Bitcoin’ แอปพลิเคชันแรกในโลกที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยจุดกระแสตั้งแต่ปี 2009 จุดประสงค์หลักก็เพื่อตราตัวเองเป็น ‘เงินดิจิทัล’ สกุลหนึ่ง
  • หลังจากที่ Bitcoin ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีหนทางไปได้ และได้รับความสนใจพอสมควร จึงมีอีกหลายคนที่สร้างแอปพลิเคชันโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนตามกันมา เช่น Ethereum
  • ยุครุ่งเรืองของแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนที่เรียกว่า DeFi ถือเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญที่เริ่มเห็นการเข้ามาทดแทนธุรกรรมในโลกการเงินที่เราคุ้นชินมาเนิ่นนาน
  • แม้ในฝั่งดีมานด์ของไทยจะมีตลาดผู้ใช้งานและเม็ดเงินที่อุ่นหนาฝาคั่ง แต่ในด้านซัพพลายหรือผู้ให้บริการอย่างผู้พัฒนาบล็อกเชนเน็ตเวิร์กนั้นอาจยังไม่ได้หวือหวานัก

ย้อนกลับไปราว 3 ปีก่อน หากมีหนุ่มสาวออฟฟิศเปิดบทสนทนามื้อเที่ยงเรื่องคริปโตเคอร์เรนซี อาจเป็นหัวข้อที่ชวนให้คนโต๊ะข้างๆ ที่กำลังนั่งเมาท์ซีรีส์ต้องชะงักด้วยความสงสัย แต่มาในวันนี้ เส้นแบ่งเหล่านั้นเริ่มพร่าเลือน เพราะวงสนทนาเดียวกันที่ชวนคุยเรื่องหนังเกาหลีเมื่อคืนอยู่ดีๆ อาจเปลี่ยนหัวข้อฉับพลันมาถามเพื่อนฝูงว่า “เห็นข่าว อีลอน มัสก์ ทวีตเรื่อง Bitcoin เช้านี้หรือยัง?”

 

ประเด็นพูดคุยการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีราวกับเป็นหัวข้อสามัญ เป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ความนิยมของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ด้วยการเติบโตก้าวกระโดดในปัจจุบัน

 

แต่ถึงแม้หลายคนจะรู้จัก Buzzword อย่าง Bitcoin, Ethereum หรือคุ้นเคยกับแนวคิดของ DeFi (Decentralized Finance) หรือได้ก้าวเท้าไปลองของใหม่อย่าง NFT กันบ้างแล้ว ในจำนวนคนเหล่านั้นอาจมีอีกพอสมควรที่ยังไม่รู้ว่าเบื้องหลังของการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล มีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่ได้รับการพิสูจน์ถึงความน่าเชื่อถือมาเป็นระยะเวลาพอสมควรในระดับโลก ก่อนจะค่อยๆ เคลื่อนความนิยมมาปักหลักที่ไทย โดยความเปลี่ยนแปลงพลิกผันสำคัญแต่ละช่วงที่เกิดขึ้นในโลกนั้น เมื่อลองนำมาทาบซ้อนกับความเป็นไปในประเทศไทย จะพบว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และจูงมือพาไทยไปไกลไม่แพ้ประเทศไหนในโลกเลย

 

  • เฟสแรก 2009-2013 

ช่วงเวลานี้มีชื่อนักแสดงนำอย่าง ‘Bitcoin’ แอปพลิเคชันแรกในโลกที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยจุดกระแสตั้งแต่ปี 2009 จุดประสงค์หลักก็เพื่อตราตัวเองเป็น ‘เงินดิจิทัล’ สกุลหนึ่ง เปิดโอกาสให้คนที่ถือสกุลเงินนี้ได้นำไปจับจ่ายทำธุรกรรมแบบ Peer to Peer (P2P) เป็นหลัก

 

ความเคลื่อนไหวสำคัญในยุคนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีให้รองรับธุรกรรมเชิงพาณิชย์ได้จริง และการซื้อขายแรกในโลกธุรกิจก็เกิดขึ้นจริงในปี 2010 เมื่อ Laszlo Hanyecz โปรแกรมเมอร์หนุ่ม ใช้ Bitcoin จำนวน 10,000 เหรียญ ไปซื้อพิซซ่าที่ร้าน Papa John’s ด้วยมูลค่าขณะนั้นเทียบเท่ากับ 41 ดอลลาร์สหรัฐ (แต่หากคำนวณด้วยมูลค่าในปัจจุบัน พิซซ่า 2 ชิ้นนั้นจะมีมูลค่าถึง 486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

 

อย่างไรก็ตาม เราอาจยังเห็นความเหลื่อมล้ำตามหลังของไทยในช่วงแรกนี้ เนื่องจากกลุ่มคนสนใจ Bitcoin ยังจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เช่น คนในบางเว็บบอร์ด หรือบางกลุ่มใน LINE ที่สนใจซื้อขายกันเท่านั้น

 

  • เฟสที่สอง 2013-2018

หลังจากที่ Bitcoin ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีหนทางไปได้และได้รับความสนใจพอสมควร จึงมีอีกหลายคนที่สร้างแอปพลิเคชันโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนตามกันมา เช่น Ethereum, R3, Hyperledger, EOS, Ripple, Corda จุดเด่นของการพัฒนาบล็อกเชนในเฟสนี้คือการสร้างเน็ตเวิร์กใหม่เพื่อต่อยอดความสามารถของ Bitcoin กล่าวคือ พยายามจะเป็น Bitcoin ตัวที่ 2 ที่ ‘ทำได้มากกว่า’ ธุรกรรมเดิมๆ ที่คุ้นเคยอย่างโอนเงินจ่ายเงินธรรมดา เพราะเฟสนี้ถูกสร้างให้สามารถเขียนโปรแกรมลงบนบล็อกเชนเทคโนโลยีได้

 

ตัวชูโรงของช่วงเวลานี้จึงหนีไม่พ้น Ethereum ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้บล็อกเชนอย่างมาก เพราะ Developer สามารถเขียนโปรแกรมที่เรียกว่า Smart Contract แล้วรันบน Ethereum บล็อกเชนเน็ตเวิร์ก ทำให้เริ่มโด่งดังมากในยุคนี้ เพราะเท่ากับช่วยเปิดประตูทำให้ผุดแอปพลิเคชันได้อีกหลากหลายประเภท และเข้าแทรกซึมสู่ทุกธุรกิจ มีผู้เล่นกลุ่มใหญ่อย่างธนาคารที่หูตาว่องไวหันมาใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้ เมื่ออ่านเกมแล้วว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเข้ามาดิสรัปต์ตัวเองในอนาคต

 

ในต่างประเทศเราจึงเห็นความเคลื่อนไหวของธนาคารรายใหญ่อย่าง Bank of America หรือ J.P. Morgan ที่มุ่งเน้นการวิจัยด้านบล็อกเชนเป็นหลัก สร้างเน็ตเวิร์กให้โอนเงินข้ามธนาคารได้ ขณะที่ธุรกิจอื่นมีการนำไปใช้ในซัพพลายเชนบ้างแต่ยังไม่เป็นรูปร่างนัก เช่น การใช้ในระบบออกหนังสือรับรอง หรือการติดตามสต๊อกสินค้า เป็นต้น

 

ตัดภาพกลับมาที่ไทย ความสนใจในประเทศมาตีตื้นคู่กับกระแสที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ โดยบล็อกเชนเทคโนโลยีก้าวสู่ภูมิทัศน์ในไทยตั้งแต่ปี 2016 โดยโน้มเอียงไปในโลกธุรกิจการเงินเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีผู้เล่นสำคัญอย่างธนาคารพาณิชย์ที่แข่งขันกันนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทดลองใช้ในโปรเจกต์ต่างๆ

 

อาทิ SCB เข้าใช้ประโยชน์จากบล็อกเชนเน็กเวิร์กชื่อว่า Ripple Network มาโอนเงินข้ามประเทศ จากเดิมที่โอนผ่านธนาคารระบบเก่าอาจต้องใช้เป็นวัน แต่ตอนนี้เพียงแค่ชั่วโมงเดียว และยังเข้าถึงบริการผ่านแอปพลิเคชันของ SCB ได้เลย ลดทั้งค่าธรรมเนียมให้น้อยลง และลดเวลาการโอนให้ได้เร็วขึ้น

 

แต่ที่ดังที่สุดของไทยคือ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เกิดจากความร่วมมือของธนาคารรัฐวิสาหกิจ และองค์กรธุรกิจชั้นนำหลายแห่งภายใต้โครงการ Thailand Blockchain Community Initiative (BCI) ก่อตั้งโดยกลุ่มธนาคารในไทย เพื่อออก Letter of Guarantee (LG) ผ่านระบบบล็อกเชน อำนวยความสะดวกในการขอหนังสือคำ้ประกันข้ามธนาคารได้ เมื่อธนาคารใช้เน็ตเวิร์กเชื่อมกัน

 

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็เริ่มมี Cryptocurrency Exchange ที่ดังขึ้นมาอย่าง BX.in.th ซึ่งช่วยสำทับว่าการพัฒนาบล็อกเชนในไทยหลักๆ นั้นมาจากภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังขาดการขับเคลื่อนในฝั่งของรัฐ โดยเฉพาะในแง่ของการขาดกฎหมายหรือหลักเกณฑ์กำกับดูแล หากใครเป็นเว็บสำหรับเทรดคริปโตเคอร์เรนซีและคิดเป็นมิจฉาชีพเชิดเงิน ก็ยังมีช่องว่างให้ทำได้ เพราะยังไม่มีกรอบกติกาใดมากำกับ

 

  • เฟสที่สาม 2018-2021

ยุครุ่งเรืองของแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนที่เรียกว่า DeFi (Decentralized Finance) ซึ่งถูกคิดค้นมาเพื่อมาทดแทนโลกการเงินแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ตลาดหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน โดยเป็น Smart Contract ที่ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางอย่างที่กล่าวมา ถือเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญที่เริ่มเห็นการเข้ามาทดแทนธุรกรรมในโลกการเงินที่เราคุ้นชินมาเนิ่นนาน ซึ่งเมื่อทุกคนสามารถจัดการธุรกรรมแบบ P2P ได้ และมีข้อดีอย่างการไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือเสียเวลารอคอยเหมือนในอดีต แต่ยังคงได้ดอกเบี้ย ทำให้เงินดิจิทัลนั้นงอกเงยได้ไม่ต่างจากการฝากธนาคาร

 

ในเฟสนี้ กระแสเงินจึงไหลเข้าไปใน DeFi ท่วมท้น อ้างอิงจากเว็บ DeFi Pulse จะเห็นได้ว่าตั้งแต่กลางปี 2018 จะพบว่า Total Value Locked ปริ่มอยู่ที่ระดับใกล้ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ถือเป็นก้าวกระโดดที่ช่วยไฮไลต์การเติบโตของเทคโนโลยีบล็อกเชนในระดับแอปพลิเคชันที่ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง

 

ในส่วนของไทยมีการขยับเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากภาครัฐในที่สุด เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกกฎหมายกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาได้ทันกระแสพอดีในปี 2018 และถือว่าค่อนข้างครอบคลุมและทันสมัย เพราะดูแลไปถึงธุรกิจ Exchange หรือการเป็นดีลเลอร์หรือนายหน้าต่างๆ มีกฎหมายเกี่ยวกับการทำ ICO (Initial Coin Offering) เพื่อกำกับดูแลการระดมทุนจากภาคเอกชนได้ทันท่วงที เช่น บริษัท แสนสิริ ที่ออกโทเคนในโลกคริปโตเคอร์เรนซี ถือว่าเป็นตัวแรกภายใต้กฎหมายรองรับและได้รับการตอบรับที่ดี

 

  • นักลงทุน DeFi จากไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงนักหากจะฟันธงว่าคนไทยเป็นนักลงทุนใน DeFi ติดอันดับโลก ยืนยันได้จากผลสำรวจของ 2021 Chainalysis Global Crypto Adoption Index ที่บ่งชี้ว่าในแง่ของ Crypto Index ไทยรั้งอันดับที่ 12 จาก 154 ประเทศ เมื่อวัดทั้งจากจำนวนการทำธุรกรรมและมูลค่า และนับเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย เป็นรองเพียง เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ที่ยึดหัวแถวของในอันดับ 1-3 ของโลกตามลำดับ ซึ่งดัชนีตัวนี้จะวัดจากการซื้อขายหรือโอนคริปโตเคอร์เรนซี แต่ไม่รวมการลงทุนหรือเก็งกำไรใน DeFi ซึ่งมีการจัดทำผลสำรวจ DeFi Index เฉพาะ

 

ข้อสังเกตที่เด่นชัดคือ ประเทศที่อ้าแขนรับคริปโตเคอร์เรนซีในอัตราสูง หรือรับรองการซื้อขายเหรียญได้นั้น จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินยังไม่แข็งแรง ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงไม่ง่ายนัก ผู้คนจึงหันมาใช้คริปโตเคอร์เรนซีในการทำธุรกรรมต่างๆ แทน เช่น การโอนเงิน เพราะสะดวกรวดเร็วกว่ามาก มีตัวอย่างเช่น เอลซัลวาดอร์ ที่ประกาศให้ใช้คริปโตเคอร์เรนซีชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หรือเวียดนามที่ขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง เนื่องจากคนยังเข้าถึงบริการธนาคารพาณิชย์ได้ไม่ทั่วถึง เมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้น และมีแพลตฟอร์มแบบ P2P ให้บริการจำนวนมาก เม็ดเงินจึงหลั่งไหลไปอยู่ในคริปโตเคอร์เรนซีแบบท่วมท้น

 

หรือกระทั่งประเทศในแอฟริกา เช่น เคนยา และไนจีเรีย ที่ติดอันดับ 5 และ 6 ประชากรบางส่วนอาจยังไม่มีสมุดบัญชีเงินฝากด้วยซ้ำ แต่กลับมีความรู้ด้านฟินเทค โดยเฉพาะเรื่องคริปโตเคอร์เรนซีเป็นอย่างดี มีเป้าหมายการลงทุนระยะยาวเพื่อรับประกันความมั่นคงของอนาคตครอบครัว

 

ขณะที่อีกสาเหตุสำคัญคือ สกุลเงินหลักของประเทศที่มีแนวโน้มลดลง (Currency Devaluation) ทำให้คนมุ่งหาหนทางกระจายความเสี่ยงด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการถือสินทรัพย์เป็นสกุลเงินดิจิทัลอย่างเช่น Bitcoin เพื่อเป็นการรักษามูลค่าเงินออมของตัวเองแทน

 

เมื่อมองบริบทของโลกดังกล่าวเทียบกับไทย เราอาจมีความแตกต่างตรงที่ระบบธนาคารพาณิชย์และการเข้าถึงผู้ใช้นั้นพัฒนาไปไกลมากแล้ว ความนิยมจึงโน้มเอียงมาที่สาเหตุที่สองคือ การแสวงหาสินทรัพย์ที่ให้ผลการตอบแทนที่มั่นคงมากกว่าเงินบาทที่มูลค่าอาจลดลง โดยนำเงินคริปโตเคอร์เรนซีไปต่อยอดการลงทุนใน DeFi หลากหลายรูปแบบ

 

ข้อสันนิษฐานนี้มาสอดคล้องกับ DeFi Index ที่ระบุชัดว่าเม็ดเงินของไทยในโลก DeFi นั้นสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ตามหลังเพียงสหรัฐอเมริกาและเวียดนาม โดยมีแรงผลักดันที่สำคัญคือ ผลตอบแทนการลงทุนที่ในวันนี้ยังสูงกว่าระบบการเงินดั้งเดิม เช่น เงินฝากธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ หรือตลาดหลักทรัพย์ ที่ขาดปัจจัยดึงดูด เมื่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศไม่สดใสเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับตลาดทั่วโลก

 

เรียกว่าหากย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน เราอาจเห็นคนสนใจเรื่องคริปโตเคอร์เรนซีจำกัดในวงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ เข้าใจไปถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน หากเวลานั้นไปถามว่าเชื่อ Bitcoin หรือเปล่า คนทั่วไปอาจจะยังกล้าๆ กลัวๆ แต่มาในวันนี้คนหมดความสงสัยแล้ว ตลาดนี้เปิดกว้างพอสมควร จนกระทั่งในช่วงปีกว่าๆ นี้เอง ความนิยมได้ขยายจากคริปโตเคอร์เรนซีไปสู่ DeFi พร้อมกับผู้ใช้งานฐานใหญ่กว่าเดิม

 

 

  • บทบาทผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่ยังไม่เด่นชัด

แม้ในฝั่งดีมานด์ของไทยจะมีตลาดผู้ใช้งานและเม็ดเงินที่อุ่นหนาฝาคั่ง แต่ในด้านซัพพลายหรือผู้ให้บริการอย่างผู้พัฒนาบล็อกเชนเน็ตเวิร์กนั้นอาจยังไม่ได้หวือหวานัก

 

โดยเฉพาะการพัฒนาบล็อกเชนนั้นนับว่าไม่ง่าย เพราะมีคู่แข่งระดับโลกที่มีเงินทุนเต็มหน้าตัก หากจะแข่งขันก็ต้องใช้ทรัพยากรสูงเพื่อเฟ้นเอา Cutting-edge Technology มาใช้

 

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ บล็อกเชนก็คือโครงข่ายอินเทอร์เน็ต สิ่งที่ผู้พัฒนาไทยมีศักยภาพแข่งขันได้มากกว่าคือส่วนของแอปพลิเคชันที่มาอยู่บนบล็อกเชนอีกที หากเทียบเคียงกับโลกอินเทอร์เน็ตก็คือ การเกิดขึ้นมาของ Google, Amazon, Shopee ที่ใช้ประโยชน์จากการมีอยู่ของอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องลงไปพัฒนาเครือข่ายเอง

 

จุดเด่นของเอเชียในแง่ของการเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีในภาคเอกชนจึงเบนมาเติบโตด้านการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ดึงดูดฐานผู้ใช้งานมากกว่า และปัจจุบันมีคนไทยที่ไปสร้างแอปพลิเคชันที่รันบน DeFi แล้วมีชื่อเสียงในระดับสากลแล้ว เช่น Alpha Finance และ Band Protocol

 

ขณะที่การพัฒนาในระดับเน็ตเวิร์กมี Bitkub Chain ที่เพิ่งเปิดตัวขึ้นมา มีเป้าหมายสร้างระบบนิเวศบล็อกเชนขึ้นมา และหากย้อนกลับไปนานกว่านั้น ก็จะมี OmiseGo ที่สร้างบล็อกเชนเน็ตเวิร์กขึ้นมา พัฒนาระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบไม่มีตัวกลาง

 

ขณะที่ในระดับโลกนั้น บล็อกเชนเน็ตเวิร์กมักจะมีธุรกิจฝั่งตะวันตกเป็นเจ้าของเทคโนโลยีมากกว่า โดยมีผู้เล่นจากเอเชียบางประเทศสอดแทรก เช่น Terra จากเกาหลีใต้ เป็นต้น

 

การที่เอเชียไม่ได้เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีบล็อกเชน อาจเสียเปรียบบ้างในเชิงที่ไม่ได้ครอบครองเทคโนโลยี แต่ไม่ถือเป็นการเสียเปรียบในด้านการทำตลาด ตราบใดที่เรายังมีมุมมองความเข้าใจการใช้งานของผู้บริโภคฝั่งเอเชียที่กินขาด เรียกว่าเมื่อไม่สามารถพัฒนาตัวโครงสร้างพื้นฐานได้ การหันมาต่อยอดเรื่องแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมก็ไม่ได้เป็นการเสียหายแต่อย่างใด

 

โดยเฉพาะในไทย การมุ่งพัฒนาแอปพลิเคชัน DeFi คอยช่วยรองรับดีมานด์ที่จะก้าวเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล อาจเป็นตำแหน่งแห่งหนอันเหมาะสมกับดีมานด์ของตลาดที่กำลังเติบโตได้มากกว่า

 

ทั้งนี้ แอปพลิเคชันตอบโจทย์ DeFi ซึ่งเสมือนกับทุกอย่างที่ทำได้โลก Traditional Finance มี 5 บริการที่ไทยสามารถต่อยอดไปได้ไกล คือ การเป็น Exchange ทำหน้าที่แทนตลาดหลักทรัพย์, เป็นแพลตฟอร์มปล่อยกู้หรือให้กู้แทนธนาคาร, เปิดให้คนเอาเงินไปลงทุน Yield Farming แทนบริษัทหลักทรัพย์หรือกองทุน, การซื้อประกัน โดยไม่ต้องใช้ตัวแทนขาย หรือสามารถซื้อขายหุ้นโดยไม่ต้องผ่านตลาดหลักทรัพย์

 

  • อนาคตหลังฝุ่นตลบ

หลังจากผ่านการทะยานแบบโลดโผนมาแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในระยะ 1-2 ปีนี้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอาจยังรักษาการเติบโตได้ แต่ไม่ร้อนแรงเท่าเดิม เป็นไปตามเส้นกราฟของเทคโนโลยีที่อาจมีช่วงราบเรียบเมื่อไม่มีสิ่งใหม่เข้ามากระตุ้น เพราะการพัฒนาบริการเกี่ยวกับการเงินในโลก DeFi ที่เข้ามาทดแทนระบบการเงินดั้งเดิมนั้น ปัจจุบันก็มีครบถ้วนหมดแล้ว

 

แม้หากภายใน 1 หรือ 2 ปีนี้ มีการพัฒนาตัวโครงสร้างพื้นฐานอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ก็ยังไม่อาจการันตีว่าจะสร้างการเติบโตหวือหวาได้ เพราะบรรดานักลงทุนหรือผู้ใช้งานต้องรอดูทิศทางผลตอบแทนเป็นหลัก หากมีความชัดเจนแล้ว ฐานผู้ใช้จึงจะตอบรับและขยายตัวสูงตามมา แต่การคาดการณ์ผลกำไรก็จะสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น

 

อีกปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาดในประเทศอย่างมากในอนาคต คือการเข้ามามีบทบาทของภาครัฐในสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในด้านการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามหลังธนาคารกลางในทั่วโลกเริ่มหยั่งเชิงกันไปบ้างแล้ว รวมถึงบทบาทในด้านการออกกฎหมายและหลักเกณฑ์ขึ้นมาควบคุม ซึ่งมี ก.ล.ต. เป็นหัวเรือใหญ่

 

ปัจจุบันกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยค่อนข้างทันสมัย แต่หากวางบทบาทกันให้เหมาะสม ภาคเอกชนอาจเป็นผู้นำในเรื่องการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพราะสิ่งเหล่านี้ปรับเปลี่ยนรวดเร็วและเติบโตรุดหน้าไปไวมากจนการขยับขับเคลื่อนของภาครัฐอาจตามไม่ทัน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเป็นผู้กำกับดูแลในฐานะ Regulator ทำอย่างไรให้อยู่ในสายตา ยังสอดส่องตรวจตราความผิดปกติและยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายได้ทัน แต่ไม่ใช่การห้ามปรามจำกัดการเข้าถึง เพราะอาจเจอกระแสต่อต้านได้

 

และเมื่อเม็ดเงินลงทุนจำนวนมา มีแนวโน้มไหลสู่โลก DeFi ที่ไร้ตัวกลางมากขึ้น หมายถึงเงินตราย่อมไหลออกนอกประเทศไปโดยปริยาย กลไกอย่างการเรียกเก็บภาษีที่สหรัฐอเมริกานำมาใช้ ก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐควรนำมาใช้ แม้ว่าจะทำได้ในวงจำกัดก็ตาม

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising