ช่างภาพ THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในย่านต่างๆ เช่น ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, ริมถนนพระราม 9, เพลินจิต, ประดิพัทธ์ และเจริญราษฎร์ ซึ่งแน่นอนว่าที่ดินในย่านที่กล่าวมานั้นย่อมมีราคาสูง โดยในปี 2565 จะมีการเก็บภาษีที่ดินแบบเต็มอัตรา หลังจาก 2 ปีก่อนหน้านี้มีการลดหย่อนจากสถานการณ์โควิดระบาด
สำหรับภาษีที่ดินแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้
- ที่ดินใช้ทำเกษตรกรรม สำหรับการใช้ที่ดินเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เสียภาษีต่ำที่สุด และหากมีการทำเกษตรกรรมไม่เต็มพื้นที่ จะคิดการเสียภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์
- บ้านพักอาศัย เป็นการใช้ที่ดินเพื่อให้บุคคลอยู่อาศัย เช่น บ้าน ตึกแถว ห้องชุด
- ที่ดินใช้ประโยชน์อื่นๆ เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินนอกเหนือจากที่กำหนด เช่น พาณิชยกรรม, อุตสาหกรรม, อาคารสำนักงาน, โรงแรม, ร้านอาหาร และอื่นๆ
- ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คือที่ทิ้งรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ในปีก่อนหน้าปีภาษี และหากปล่อยไว้ให้รกร้างติดต่อกันนาน 3 ปี อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีก 0.3% ในทุกๆ 3 ปี โดยมีอัตราเพดานภาษีรวมไม่เกิน 3%
ดังนั้นจึงปฏิเสธได้ยากว่า กล้วย มะนาว หรือต้นอื่นๆ ที่ถูกนำมาปลูกในที่ดินมูลค่ามหาศาลกลาง กทม. ในหลายพื้นที่ ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะให้เข้าเงื่อนไขที่ดินเกษตรกรรม ซึ่งจะช่วยลดภาระทางษีได้ค่อนข้างมาก