แม้หลายประเทศในเอเชียจะขึ้นมาเป็นเขตเศรษฐกิจที่น่าจับตา เกิดการลงทุนต่างๆ ขึ้นมากมาย หากแต่ว่ายังเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่สูง การมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจเขตเมือง และนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้เขตชนบทถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของประเทศ
อีกปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ สิทธิ์ในการถือครองที่ดินและการจัดสรรที่ดิน เวียดนามกับกัมพูชาคืออีกสองประเทศที่เกษตรกรออกมาประท้วงจำนวนมาก หลังจากรัฐบาลออกกฎหมายเพื่อปฏิรูปที่ดินและยึดคืนที่ดินจากประชาชนจำนวนมาก ทำให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก
เกษตรกรชาวเวียดนามและกัมพูชาหลายล้านคนได้รับผลกระทบจากการยึดที่ดินของรัฐบาล
รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ที่ดินที่ใช้ทำเพื่อเกษตรกรรมในประเทศเวียดนามขนาดประมาณ 6,250,000 ไร่ ถูกเปลี่ยนไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นตั้งแต่ช่วงปี 2001-2010 และมีเกษตรกรชาวเวียดนามมากกว่า 10 ล้านคนได้รับผลกระทบ 70% ของการร้องเรียนของประชาชนล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องที่ดิน
และประเด็นนี้ยิ่งร้อนแรงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2012 หลังจากสัญญาเช่าที่ดินของเกษตรกรจากรัฐบาลหมดอายุลงในปี 2013 (7.3 เอเคอร์เกษตรกรหนึ่งคน)
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังออกกฎห้ามเกษตรกรชาวเวียดนามบางส่วน (ในเมือง Dương Nội) เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น ดังนั้นจึงทำให้เกษตรกรชาวเวียดนามบางส่วนตกงาน หรือต้องผันตัวไปเป็นเกษตรกรรับจ้างแทนเมื่อโดนยึดที่ดินคืน
Trinh Huu Long นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวเวียดนาม ที่ปัจจุบันใช้ชีวิตในไต้หวันเปิดเผยในงานประชุม ‘การพัฒนาชนบทเพื่อขจัดความยากจนในเอเชีย’ ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า
“50% ของประชาชนสูญเสียรายได้จากการยึดที่ดินของรัฐบาล”
แม้เวียดนามคือประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ประชากรส่วนใหญ่ยังยากจน โดย 3 ใน 5 ของประชากรทำงานในภาคเกษตรกรรม
กัมพูชาเผชิญปัญหาคล้ายกับเวียดนาม ในกัมพูชามีประชาชนน้อยกว่า 20% ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา หลังจากรัฐเริ่มยึดที่ดินจากประชาชนเพื่อไปทำอุตสาหกรรม ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐล้วนเกี่ยวข้องกับที่ดิน เนื่องจากเกษตรกรหลายรายไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐได้ จนกลายเป็นชนวนการประท้วงรุนแรงทั่วกัมพูชาจนถึงปัจจุบัน
United Nations Capital Development Fund (UNCDF) ประเมินในปี 2010 ว่า ที่ดินกว่า 30% ของกัมพูชาเป็นของประชาชนเพียงแค่ 1% ทำให้ธนาคารโลกระบุว่า กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในแถบเอเชียตะวันออก
รูปแบบการปกครองของทั้งกัมพูชาและเวียดนามคืออุปสรรคที่ทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในกฎหมาย และนโยบายเกี่ยวกับที่ดินเมื่อประเทศกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาเศรษฐกิจ
และยังเกิดการจับกุมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินจำนวนมาก
นักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิที่ดินที่ถูกจับกุมและสูญหายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากการสูญเสียที่ดินของประชาชน และการไม่ได้รับค่าชดเชยที่ยุติธรรมจะสร้างความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังก่อให้เกิดการประท้วงและความขัดแย้งขึ้น
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่นักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิที่ดินถูกจับหรือหายตัวเป็นจำนวนมาก
อย่างเช่นในเวียดนามที่ตั้งแต่ปี 2016 นักปกป้องสิทธิที่ดินชาวเวียดนามที่ออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปกฎหมายและนโยบายการถือครองที่ดิน และต่อต้านการยึดที่ดินของรัฐบาล ต่างถูกรัฐบาลจับกุมด้วยข้อหาก่อกวนความสงบ หรือข้อหาปล่อยข้อมูลชวนเชื่อที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาล
Can Thi Thue และ Trinh Ba Khiem คือชาวเวียดนามสองคนที่ถูกรัฐบาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 15 เดือน
Ba Phuong Trinh คือลูกชายของชาวเวียดนามสองคนข้างต้น ซึ่งผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวเปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า “นโยบายปฏิรูปที่ดินของเวียดนามทำให้เกษตรกรประมาณ 10 ล้านคนไม่มีงานทำและตกอยู่ภายใต้ความยากจน รัฐบาลเวียดนามใช้กำลังทั้งตำรวจและทหารเพื่อยึดที่ดินจากเกษตรกร หลายร้อยคนถูกรัฐบาลสั่งจำคุก”
การยึดที่ดินคืนจากเวียดนามไม่ได้ส่งผลแค่ความยากจน แต่ยังส่งผลให้เกิดภัยสังคมที่ตามมา
“แม้พวกเขาจะได้เงินชดเชย แต่พวกเขาขาดความรู้เรื่องการลงทุนและการทำธุรกิจ การไม่ทำงานส่งผลให้คนรุ่นใหม่ตกเป็นเหยื่อของการพนัน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรม”
การชดเชยที่ยุติธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
Benedict John Kerkvliet อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับการเมืองกสิกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเวียดนามกับฟิลิปปินส์ กล่าวกับ THE STANDARD ว่า “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในเวียดนามกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเราเปรียบเทียบกับช่วงปี 1975-1985 เมื่อเวียดนามพูดถึงความเท่าเทียม ใช่ครับ คือจนอย่างเท่าเทียมกัน
“การศึกษาหลายชิ้นระบุว่า เศรษฐกิจเวียดนามพัฒนาขึ้นจริงตั้งแต่ช่วงปี 1990 เป็นต้นมา แต่การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นประโยชน์มากกับเฉพาะบางกลุ่ม คือถ้าจะให้พูดอย่างยุติธรรม จริงอยู่ว่าชาวเวียดนามส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ละกลุ่มได้ประโยชน์จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาในระดับที่แตกต่างกันไป”
ด้าน Ba Phuong Trinh เปิดเผยว่า “ในขณะที่เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาร่ำรวยอย่างรวดเร็ว เกษตรกรหลายคนกลับสูญเสียที่ดินและไม่มีงานทำ”
เกษตรกรชาวเวียดนามได้ค่าชดเชยเพียงประมาณ 293 บาทต่อตารางเมตร (201,000 VND ต่อตารางเมตร) ซึ่ง Benedict John Kerkvliet มองว่า การเวนคืนที่ดินจริงๆ นั้นจำเป็นเหมือนกัน แต่การชดเชยต้องยุติธรรม
“จริงๆ การยึดที่ดินเพื่อการลงทุนมีประโยชน์เหมือนกัน และเมื่อประชาชนต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากการขยายของเมืองก็เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเหมือนกัน ซึ่งคนในชุมชนบางคนเข้าใจตรงนี้ แต่พวกเขาเพียงต้องการการชดเชยที่ยุติธรรม รัฐต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน อีกทั้งค่าชดเชยที่ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยตกลงกัน”
Photo: HOANG DINH NAM, TANG CHHIN SOTHY/AFP
อ้างอิง:
- Reuters
- United Nation Development Program. 2014 “Land-Taking Disputes in East Asia: A Comparative Analysis and Implications for Vietnam”
- Vietnam’s Ministry of Agriculture and Development, www.agroviet.gov.vn/pages/news_detail.aspx?NewsId=17169
- World Bank. 2013 Cambodia Data, available at data.worldbank.org/country/cambodia