วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) ที่หอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการออกเอกสารที่ดิน น.ค.3 ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคองว่า ข้อมูลจริงๆ อยู่ที่ผู้จัดนิคม ในส่วนที่กรมที่ดินเกี่ยวข้องด้วย พื้นที่ที่กรมที่ดินได้ออกโฉนดไปมีทั้งหมด 4,500 แปลง เป็นพื้นที่กว่า 25,000 ไร่ รวมถึงออก น.ส.3 ก. ประมาณ 217 แปลง 2,600 กว่าไร่ รวมทั้งหมดประมาณ 4,700 แปลงที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ตามอำนาจหน้าที่ของกรมที่ดิน ถ้าคิดเป็นพื้นที่ทั้งหมดก็ไม่ถึง 30,000 ไร่ ประมาณ 28,000 ไร่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ดินในพื้นที่สนามกอล์ฟปากช่อง และพื้นที่แข่งรถของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คาบเกี่ยวกับพื้นที่ ส.ป.ก. กี่ไร่ และออกโฉนดแล้วกี่ไร่ พรพจน์ยืนยันว่า เอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยกรมที่ดิน ทั้งโฉนดและ น.ส.3 ก. ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น เป็นโฉนดและเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ในส่วนของสนามกอล์ฟและสนามแข่งรถเป็นพื้นที่ของการนิคมที่มีการจัดนิคม เอกสารสิทธิ์ที่ออกนั้นออกมาโดยพื้นฐานของ น.ค.3 ที่นิคมดำเนินการจัด ซึ่งหลักเกณฑ์พิจารณาในการออกเอกสารสิทธิ์ ถ้ามี น.ค.3 มา กรมที่ดินจะถือว่ามีการรับรองจากภาครัฐ ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการอยู่ โดยจะต้องสอบถามไปยังผู้จัดนิคมว่ามีการใช้ประโยชน์เช่นเดิมหรือไม่ ยินยอมให้ออกโฉนดได้หรือไม่ ถ้ามีหลักฐานยืนยันมา กรมที่ดินก็ยืนยันตามกฎหมายในการออกเอกสารสิทธิ์ ดังนั้นยืนยันว่าที่ดิน 4,500 แปลงที่เป็นโฉนดที่ดิน กับ 217 แปลงที่เป็น น.ส.3 ก. กรมที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ตามแนวทางในการดำเนินการระหว่างกรมที่ดินและผู้จัดตั้งนิคมอย่างถูกต้อง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่อาจถูกมองว่าเป็นการฟอกขาวที่ดินให้เอกชน พรพจน์กล่าวว่า ต้องไปดูที่มาของการจัดตั้งนิคม โดยพื้นที่ที่เป็นปัญหาอยู่ในเขตที่มีการขยาย ซึ่งทำถูกต้องตามกฎหมายตามที่นิคมดำเนินการ เพียงแต่มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับ ส.ป.ก. ซึ่งมีความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี 2548 ว่า ถ้ามีการจัดนิคมเข้าไปในพื้นที่ ส.ป.ก. ไม่สามารถปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรรมได้ ดังนั้นมีความจำเป็นที่ ส.ป.ก. จะยกที่ให้การจัดตั้งนิคมตามวัตถุประสงค์ พร้อมยืนยันว่า ในการจัดพื้นที่ซ้ำซ้อน กรมที่ดินไม่ได้ลอยตัว เพียงแต่กรมที่ดินไม่ได้เกี่ยว เพราะในพื้นที่ซ้ำซ้อนเป็นพื้นที่นิคมกับ ส.ป.ก. จึงต้องเคลียร์ตรงนี้ และกรมที่ดินเป็นปลายทางในการออกเอกสารสิทธิ์ตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการระบุว่า หาก ส.ป.ก. มาทวงพื้นที่คืนจะทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่าง ส.ป.ก. กับกรมที่ดินด้วย พรพจน์กล่าวว่า จะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ขั้นแรกคือ ต้องบอกว่าทำไมถึงมีการจัดนิคม ให้ประชาชนผู้ยากไร้มีสิทธิทำกินในที่ดินของนิคม ถ้าบอกว่า น.ค.3 ที่มาจากนิคมไม่ถูกต้อง ก็ต้องไล่มาถึงกรมที่ดินในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีหลายกรณีที่ น.ค.3 ไม่ถูกต้อง กรมที่ดินก็ทำตามขั้นตอน จึงต้องพิสูจน์ทราบว่าก่อนว่า น.ค.3 ที่มายื่นถูกต้องหรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ดินที่ถูกเพิกถอน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเยียวยาเอกชน พรพจน์กล่าวว่า ถ้ามีการเพิกถอนถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ประชาชนก็จะต้องอุทธรณ์ผู้ออกคำสั่ง นั่นคือฟ้องกรมที่ดิน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ดินสนามกอล์ฟปากช่องของอนุทิน มองว่าไปถึงขั้นเพิกถอนหรือไม่ พรพจน์กล่าวว่า ยัง ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ก่อนว่า น.ค.3 ที่เป็นพื้นฐานของการออกเอกสารสิทธิ์ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดพอสมควร และไม่ได้เพิ่งเกิดปัญหา ประชาชนหลายพันครัวเรือนมีปัญหาเรื่องพวกนี้อยู่ หากความเชื่อมั่นในโฉนดที่ออกมา มีการถามไปที่ผู้จัดตั้งนิคมว่าจะมีแนวทางชัดเจนอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีการหารือกันว่าจริงๆ ต้องไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติที่เป็นผู้จัดวางนโยบาย เพื่อดูภาพรวมของการจัดที่ดิน ซึ่งถ้ามาจริงๆ จะส่งผลกระทบเยอะต่อประชาชน
เมื่อถามว่า ในฐานะข้าราชการหนักใจหรือไม่ เพราะดูเหมือนต้องรับจบ ทั้งปัญหาที่ดินอัลไพน์ เขากระโดง และสนามกอล์ฟปากช่อง พรพจน์ยืนยันว่า ทุกอย่างทำตามพื้นฐานของกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไปก็พร้อมรับ แต่ตอนนี้ขอยืนยันว่า แนวทางในการออกเอกสารสิทธิ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน แต่กรมที่ดินดำเนินการถูกต้องตามที่ต้องทำตามวิสัยที่ข้าราชการที่ดีพึงกระทำ
พรพจน์ยังกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ต้องไปดูต้นเรื่องที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. เพราะมีประวัติศาสตร์อยู่ ผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ คือประชาชนในการทำธุรกรรมในพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ไม่เคยหารือในกรมที่ดิน เพราะผู้เกี่ยวข้องจริงๆ คือผู้จัดตั้งนิคม ถ้าถามกรมที่ดินอย่างเดียวหรือกระทรวงมหาดไทยอาจไม่ครบถ้วน เพราะเกี่ยวพันหลายหน่วยงาน
ก่อนจะย้ำถึงระเบียบการออกโฉนดว่า ถ้ามี น.ค.3 กรมที่ดินออกโฉนดได้อย่างเดียว เพียงแต่เพื่อความชอบธรรมก็มีแนวทางปฏิบัติ ให้สอบถามไปยังผู้จัดนิคมก่อน หากได้รับการยืนยัน กรมที่ดินก็ออกโฉนดให้ ไม่สามารถปฏิเสธประชาชนได้ เพียงแต่หลังโฉนดไม่ได้มีการสลักว่าต้องทำประโยชน์อย่างไร แต่มีพื้นฐานว่าเปลี่ยนมาจาก น.ค.3 แค่นั้นเอง ซึ่งอาจเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินที่ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตนได้แถลงเกี่ยวกับการทำงานของกรมที่ดินไปแล้ว