วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการจัดสรรที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ให้ชาวบ้านเข้าทำกิน แต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการขยายพื้นที่ทับซ้อนจนมีการออกเอกสารสิทธิ์ให้เอกชนครอบครองว่า แต่ละนิคมสร้างตนเองจะมีจุดกำเนิดที่แตกต่างกัน พื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคองที่เป็นข่าวในขณะนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2515 ก่อนที่จะมีกระทรวง พม. โดยคำสั่งของคณะปฏิวัติในขณะนั้น
ซึ่งแต่ละห้วงการดูแลของพื้นที่นิคมสร้างตนเองจะแตกต่างกันไป แต่จะอยู่ภายใต้กรมประชาสงเคราะห์ของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นการกำหนดพื้นที่หรือแม้แต่การออกใบ น.ค.1 หรือ น.ค.3 ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน จะเป็นการดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ ไทม์ไลน์แต่ละช่วงเวลานั้นจะมีความชัดเจนว่ามีการประกาศเป็นพื้นที่นิคมสร้างตนเอง หรือเมื่อปี 2538 ได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มจากเดิม 280,000 ไร่ เพิ่มอีก 46,000 ไร่ ตามคำตัดสินของคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา
นอกจากนี้ ต้องไปดูในมิติของคำสั่งนั้นว่าใช้อำนาจ หรือมีแนวทาง หรือมีต้นสายปลายเหตุอย่างไร แต่วันนี้ขอยืนยันว่าการทำงานของกระทรวง พม. นั้น ทุกอย่างมีเอกสาร สามารถเรียงลำดับตามห้วงเวลาได้เสมอ เพียงแต่ว่าการที่จะออกโฉนดหรือออกใบอนุญาตให้คนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นๆ ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวง พม. คงต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วราวุธกล่าวอีกว่า กระทรวง พม. นั้นออกได้เพียงแค่ใบ น.ค.1 หรือ น.ค.3 และตลอดระยะเวลาที่ตนมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นยังไม่มีการออกใบ น.ค.3 ให้กับพี่น้องประชาชน คงจะต้องไปดูว่าในแต่ละพื้นที่นั้น เอกสารสิทธิ์ที่ออกมานั้นได้ออกมาในห้วงวันที่เวลาใด เป็นอำนาจหน้าที่ของใคร แต่กระทรวง พม. ขอยืนยันว่าทำงานโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ตามเอกสารตามแต่ละห้วงเวลาได้