×

กมธ.การที่ดินฯ เห็นพ้องใช้ One Map แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอุทยานแห่งชาติทับลาน เรียกร้องกรมอุทยานฯ แจงสังคม 2.65 แสนไร่ ไม่ได้เป็นป่าแล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
17.07.2024
  • LOADING...
กมธ.การที่ดินฯ One Map

วันนี้ (17 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. แถลงภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาที่ดินอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), กองทัพภาคที่ 2, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รวมถึงตัวแทนประชาชนในพื้นที่

 

พูนศักดิ์กล่าวว่า กมธ. ได้ข้อสรุปที่ดีและเป็นที่น่าพอใจสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน แบ่งออกเป็น 2 ข้อ คือ

 

  1.  ที่ประชุมเห็นชอบเรื่องการใช้มติตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ซึ่งเห็นชอบให้ สคทช. ใช้เส้นปรับปรุงตามการสำรวจแนวเขตปี 2543 หรือ One Map ในการจัดการพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และเป็นข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้ One Map ในการแก้ไขปัญหาตรงนี้

 

  1. ทุกคนเห็นชอบเช่นเดียวกันว่า ควรใช้แนวทางในการรักษาสิทธิของพี่น้องประชาชนในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มพี่น้องที่ได้รับสิทธิ ส.ป.ก. หรือกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งประชาชนส่วนนี้สมควรได้รับการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิสูจน์สิทธิ และถือว่าเป็นแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ทับลานต่อไป

 

พูนศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน เรายังมีข้อถกเถียงในประเด็นที่จะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง รวมถึงการดำเนินการให้ภาคประชาสังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงในบางประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่

 

เรื่องแรกคือ กมธ. จะเชิญ ส.ป.ก. มาชี้แจงอีกครั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาแนวทางการแจกจ่ายที่ดินให้กับประชาชนผู้ที่สมควรได้รับสิทธิ ซึ่งในที่สุดแล้ว เรามองว่าอาจต้องตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

 

เรื่องที่สอง สิ่งที่เราได้ให้ความเห็นไปคือการดำเนินการในส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนจากการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีประชาชนร่วมกันลงชื่อกว่า 1 ล้านคน ซึ่ง กมธ. จะขอข้อมูล โดยเฉพาะระเบียบของการมีส่วนร่วมของประชาชนจากการแสดงความคิดเห็น ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลานตามมติ ครม. ของกรมอุทยานฯ เข้ามาพิจารณาอีกครั้ง และมีความเป็นไปได้ว่าจะส่งเรื่องให้กับ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาอีกครั้งด้วย เนื่องจากกรณีข้างต้นเราพบว่าอาจมีข้อครหาหรือคำถามที่อาจสร้างความสับสนให้กับผู้ลงคะแนนเสียงได้

 

เรื่องที่สาม ที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรจะต้องเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการฯ กรมอุทยานฯ เพื่อรับรองแนวเขต One Map โดยกระบวนการถัดไปคือต้องให้รับการรับรองแผนที่ตรงนี้เช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการรับรองโดยเร็ว

 

นอกจากนี้ กมธ. ยังได้ขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น บันทึกการประชุมของอนุกรรมการ One Map รวมถึงบันทึกการประชุมของ สคทช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแต่ละประเด็นที่มีข้อคิดเห็นและการถกเถียงระหว่างการประชุม

 

ส่วนเรื่องคดีที่ยังคงค้างอยู่กว่า 500 คดีนั้น เราต้องขอข้อมูลการตรวจสอบทางคดีจากกรมอุทยานฯ ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง โดย สคทช. ได้แจ้งในที่ประชุมว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า จะไม่มีผลต่อรูปคดีในการเปลี่ยนแปลงเขตที่ดินจากอุทยานเป็น ส.ป.ก. ซึ่งเราก็ได้ขอเอกสารเพื่อให้เกิดความชัดเจนเช่นเดียวกัน

 

ด้าน เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวเสริมในส่วนของความกังวลและข้อครหาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จากการชี้แจงของกรมอุทยานฯ ยอมรับแนวเขต One Map ที่ ครม. เห็นชอบไปแล้ว ซึ่งมีเป็นแผนที่ที่ใกล้เคียงกับแผนที่ 43 และกระบวนการต่อไปคือการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิกถอนพื้นที่อุทยาน ซึ่งมีปัญหาอยู่ที่กระบวนการในการเพิกถอน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องรับฟังความเห็น

 

“การดำเนินการกรมอุทยานฯ ทำให้สังคมเข้าใจว่าพื้นที่ 2.65 แสนไร่ มีสภาพป่าสมบูรณ์ ทำให้คนลงชื่อคัดค้านในการครั้งนี้ ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เพราะพื้นที่ 2.65 แสนไร่นี้ ไม่มีสภาพป่า แต่เป็นชุมชน” เลาฟั้งกล่าว

 

เลาฟั้งกล่าวอีกว่า ตนจึงขอเรียกร้องไปยังฝ่ายการเมืองของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แสดงความกระจ่างต่อสังคมว่า พื้นที่ 2.65 แสนไร่ ความจริงคืออะไร เพราะนี่ไม่ใช่การออกเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นการคุ้มครองสิทธิของคนที่อยู่มาก่อนแล้ว ส่วนสิทธิจะเป็นแบบใดก็ว่ากันไปตามกฎหมายที่เกิดขึ้น

 

เลาฟั้งยังเรียกร้องไปยัง ส.ป.ก. ในส่วนที่ทางกรมอุทยานฯ กังวลว่า ส.ป.ก. อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดการพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาและข้อครหามากมาย ทำให้สังคมตั้งคำถามกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ป.ก. เช่นเดียวกัน

 

ดังนั้น ส.ป.ก. จึงควรแสดงให้กรมอุทยานฯ และสังคมเชื่อได้ว่า หากมีการเพิกถอนและส่งมอบที่ดินให้ ส.ป.ก. แล้ว ส.ป.ก. จะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้พื้นที่เหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของคนที่มีคุณสมบัติจริงๆ ไม่ใช่อยู่ในมือของนายทุน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่ากรมอุทยานฯ ชี้นำการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งอาจทำให้การเปิดรับฟังความคิดเห็นไม่เป็นกลาง เนื่องจากความเห็นของประชาชนในพื้นที่จริงมีน้อยกว่า ทาง กมธ. จะใช้ช่องทางใดเพื่อชะลอหรือแขวนไว้ก่อน เพื่อให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการอย่างเป็นกลางได้บ้าง เลาฟั้งกล่าวว่า กมธ. จะขอระเบียบ เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนและกระบวนการ และต้องตรวจสอบว่าทำถูกต้องหรือไม่ อย่างไร และจะสื่อสารกับ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ เพื่อตรวจสอบว่ามีความสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

 

ส่วนข้อกังวลว่าปัญหานี้จะวนลูปหรือไม่นั้น เลาฟั้งอธิบายโดยยกตัวอย่างว่า หากรัฐบาลมีมติ ครม. ในการดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่ดี แต่หน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตาม อย่างนี้ถามว่าการแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ คนที่จะสูญเสียคือรัฐบาลเอง จึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะไปจัดการกับกรมอุทยานฯ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามมติ ครม.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X