×

Lady Gaga ผู้หญิงที่สร้างมาตรฐานใหม่ในทุกฝีก้าวที่เลือกเดิน

25.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS READ
  • ในปี 2008 ตอนที่กาก้าก้าวเข้าสู่สมรภูมิวงการเพลงกระแสหลักกับเพลง Just Dance ถึงแม้เธอจะรู้ว่าตัวเองมีความสามารถหลายด้าน แต่เธอเก็บไพ่พวกนั้นไว้ก่อน และเลือกทิ้งไพ่สองใบที่เรียกว่า “ฉันจะแตกต่าง” และ “ฉันจะทำให้คนพูดถึง”
  • กาก้าเป็นหนึ่งในศิลปินยุคหลังสหัสวรรษใหม่ที่เข้าใจคอนเซปต์ของ ‘Fandom’ ที่สร้างฐานแฟนคลับในระดับคลั่งไคล้ที่ชื่อ Little Monsters ตั้งแต่ต้น โดยประชากรศาสตร์หรือกลุ่มคนที่เธอเลือกเจาะจงคือกลุ่มเยาวชน Outcast หรือคนที่สังคมไม่ยอมรับ เช่น กลุ่ม LGBTQ+ เป็นต้น
  • ในปี 2013 ตอนกาก้าปล่อยอัลบั้ม Artpop ออกมา เธอได้เจอมรสุมชีวิตในส่วนของทีมงานและผลงานที่เริ่มไม่คลิกกับฐานมหาชนเหมือนเมื่อก่อน แต่ต่อมาเธอกับผู้จัดการคนใหม่ บ็อบบี้ แคมป์เบลล์ ก็นำไพ่ใบใหม่ที่ชื่อ “ฉันก็มีศักยภาพในด้านอื่นๆ” ออกมาเล่น โดยเราได้เห็นกาก้าออกอัลบั้มกับ โทนี่ เบนเนต, ไปร้องเพลงทริบิวต์ภาพยนตร์ The Sound of Music ในงานออสการ์ในปี 2015 และยังไปแสดงมินิซีรีส์ American Horror Story: Hotel
  • การที่กาก้ามาแสดงเป็นนางเอกภาพยนตร์ A Star Is Born ครั้งแรกก็เหมือนเอาตัวเองมาเป็นเป้าหมายให้คนชื่นชมความสามารถอีกด้าน… หรือโดนโจมตีอย่างหนักหน่วง เพราะหลายครั้งที่ศิลปินหญิงในกระแสเลือกเล่นหนังด้วยคอนเซปต์ “ฉันอยากเป็นดาว” ก็มักจะจบไม่สวยและโดนสังคมหัวเราะใส่

 

เลดี้ กาก้า ที่งาน 10th Annual Governors Awards ในลอสแอนเจลิส | ภาพ: Valerie Macon / AFP

 

แรงศรัทธา เทิดทูน และแรงบันดาลใจ

 

3 คำนี้ได้เกิดขึ้นตลอดกว่า 10 ปี 8 เดือนที่ผมติดตาม ศึกษา คลั่งไคล้ผู้หญิงที่ชื่อ สเตฟานี โจแอนน์ แอนเจลินา เจอร์มาน็อตตา หรือที่โลกรู้จักในนาม เลดี้ กาก้า

 

ถึงแม้บทความต่อไปนี้จะถูกเขียนด้วยความเอนเอียง 1,500% และบางคนกำลังกลอกตาบนเหมือนอีโมจิที่ผมเองก็ชอบใช้ แต่ผมหวังว่าแม้คุณจะรักเธอ ไม่รัก ไม่เข้าใจ คิดว่าเธอบ้า หรือเป็นเพียง ‘ป๊อปสตาร์’ ปรุงแต่งคนหนึ่งที่เต้นกินรำกินโดยไม่ได้มีอิทธิพลต่อชีวิตคุณ หลังอ่านบทความนี้คุณอาจจะเข้าใจว่าทำไมการมี เลดี้ กาก้า เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจึงสำคัญมาก ถึงขั้นที่ว่าทำให้หลายคนมีเหตุผลที่จะสนุกกับชีวิต เป็นตัวของตัวเอง มีกำลังใจที่จะมองโลก และเดินต่อไปแม้มันจะแปรปรวนทุกวินาที

 

ผมคงไม่มานั่งเขียนประวัติของกาก้าตั้งแต่แรกเริ่มว่าเธอเป็นลูกสาวคนโต เกิดเมื่อเดือนมีนาคม ปี 1986 เริ่มเล่นเปียโนเมื่ออายุ 4 ขวบ หรือศึกษาที่โรงเรียนเดียวกันกับ ปารีส ฮิลตัน เพราะบทความนี้คงยาวกว่าวิทยานิพนธ์จบด็อกเตอร์ (ผมเขียนธีสิสจบปริญญาตรีเกี่ยวกับกาก้า 100 หน้า แม้อาจารย์ที่ปรึกษาจะบอกว่า “คริสคิดดีแล้วเหรอ”) แต่ผมขอหยิบยกประเด็นต่างๆ และถอดรหัสว่าทำไมในเกือบ 11 ปี เธอได้ปฏิรูปสังคมผ่านศิลปะของเธอ และมาวันนี้ที่เธอชนะออสการ์เป็นครั้งแรกในชีวิต เธอคือตัวอย่างของหนึ่งใน Disrupter ในยุค Disruption ที่เก่งที่สุดสำหรับผมก็ว่าได้

 

เลดี้ กาก้า แสดงคอนเสิร์ต The Monster Ball Tour ในปี 2010 | ภาพ: DFree / Shutterstock

 

เลดี้ กาก้า มาร่วมงาน MTV Video Music Awards ปี 2011 ในตัวละคร โจ คาลเดอโรน | ภาพ: Frederic J. Brown / AFP

 

Be Polarizing

ในแวดวงเชิงความคิดสร้างสรรค์ทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ดนตรี ซีรีส์โทรทัศน์ (หรือสตรีมมิง) วงการโฆษณา วงการแฟชั่น หรือธุรกิจอินฟลูเอนเซอร์ก็ตามแต่ เราอยู่ในยุคที่ทุกคนอยากเกิด อยากดัง อยากเป็น Someone ซึ่งหลายคนก็จะเลือกเดินตามตำราสูตรสำเร็จ 101 ที่บอกว่า “เธอต้องทำแบบนี้นะ” แต่ก็จะพบเจอปัญหาที่ว่าทุกคนพยายามก้าวไปสู่ความสำเร็จด้วยสูตรสำเร็จเดียวกัน และกลายเป็นการต้องมาแข่งขันกันเอง

 

แต่กาก้าฉลาดกว่านั้น เพราะในปี 2008 ตอนที่เธอก้าวเข้าสู่สมรภูมิวงการเพลงกระแสหลัก ถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองมีความสามารถหลายด้าน แต่เธอเก็บไพ่พวกนั้นไว้ก่อน และเลือกทิ้งไพ่สองใบที่เรียกว่า “ฉันจะแตกต่าง” และ “ฉันจะทำให้เธอพูดถึง” โดยสิ่งที่เธอทำคือการปล่อยเพลงป๊อปแดนซ์ติดหูชื่อ Just Dance ซึ่งแม้เพลงจะไม่ได้หวือหวาอะไรมากมาย แต่ความหวือหวาคือการพรีเซนต์ตัวเองออกมาสู่สาธารณชน เช่น การติดสติกเกอร์สายฟ้าบนหน้าเหมือน เดวิด โบวี่ ในมิวสิกวิดีโอ Aladdin Sane หรือต่อมาเมื่อเธอไปปรากฏตัวที่งานต่างๆ ในลุคสุดขั้วที่ผสมผสานศิลปะ แฟชั่น และเทคโนโลยี ทุกคนก็ต้องพูดถึงและให้พื้นที่ข่าวกับเธอ (แม้จะคิดว่าเธอเพี้ยน) ไม่ว่าจะเป็นชุดเนื้อสดของ แฟรงก์ เฟอร์นันเดซ ที่งาน MTV Video Music Awards, ชุดชั้นในเหล็กยิงกระสุนปืนของ แมทธิว วิลเลียมสัน ที่ใส่ในช่วงท้ายของการแสดง Much Music Video Awards ในแคนาดา, การปรากฏตัวที่งาน Grammy Awards ปี 2011 ที่กาก้านอนอยู่ในยานไข่ของ ฮุสเซน ชลายัน หรือการสร้างตัวละครผู้ชายชื่อ โจ คาลเดอโรน กับช่างภาพ นิค ไนต์ ที่เปรียบเสมือนกาก้าแสดงแดรก (Drag) ช่วงที่เธอโปรโมตเพลง Yoü and I ในปี 2011

 

พูดง่ายๆ สิ่งที่กาก้าเข้าใจทำคือการครีเอตแบรนด์ ‘Lady Gaga’ ของตัวเองที่ Disrupt จิตวิญญาณทางวัฒนธรรมที่เราเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน เหมือนที่ศิลปินระดับตำนานอย่าง เอลวิส เพรสลีย์, เดวิด โบวี่, ไมเคิล แจ็คสัน, เอลตัน จอห์น, มาดอนน่า หรือเฟรดดี เมอร์คิวรี เคยทำมาก่อน (ชื่อ Gaga มาจากเพลง Radio Ga Ga ของวง Queen) โดยในช่วงเวลาที่กาก้าเริ่มเป็นที่รู้จัก โลกเราก็เหมือนขาดแคลนศิลปินกระแสหลักแบบนี้ เพราะทุกคนโดนกลืนไปกับการเซตระบบของค่ายเพลงให้ศิลปินต้องเป็นในรูปแบบที่ดูซ้ำซากกัน ซึ่งหากคุณอยากอาร์ต อยากแนว อยากอาว็องการ์ดในตอนนั้น คุณก็ต้องเป็นศิลปินเฉพาะทางอย่างเดียว

 

เลดี้ กาก้า กับแฟนคลับ Little Monsters ของเธอ | ภาพ: Lukas Maverick Greyson / Shutterstock

 

เลดี้ กาก้า ที่งาน National Equality March ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ในปี 2009

 

Build a Fanbase

แต่ทุกแบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จได้ในโลกนี้ การมีหัวใจก็คือกุญแจสำคัญ เพราะจะอยู่แต่กับเปลือกนอกและความสามารถคงไม่เพียงพอ ซึ่งกาก้าก็เป็นหนึ่งในศิลปินยุคหลังสหัสวรรษใหม่ที่เข้าใจคอนเซปต์ของ ‘Fandom’ ที่สร้างฐานแฟนคลับในระดับที่คลั่งไคล้ที่ชื่อ Little Monsters ตั้งแต่ต้น โดยประชากรศาสตร์หรือกลุ่มคนที่เธอเลือกเจาะจงคือกลุ่มเยาวชน Outcast หรือคนที่สังคมไม่ยอมรับ เช่น กลุ่ม LGBTQ+ เป็นต้น โดยตั้งแต่แรกเริ่มกาก้าจะใช้การสัมภาษณ์รวมทั้งการพูดถึงปรัชญาต่างๆ เกี่ยวกับการสู้ชีวิตและยอมรับในตัวเอง ซึ่งไม่ได้มีศิลปินกระแสหลักคนไหนที่พูดแบบตรงไปตรงมาและเหมือนจะลงพื้นที่จริงอยู่ตลอดเวลา

 

เช่นในปี 2009 ขณะที่ บารัก โอบามา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอไปปราศรัยหน้าทำเนียบขาวเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กลุ่ม LGBTQ+ ที่งาน National Equality March หรือตอนเธอไปเดินพรมแดงงาน MTV Video Music Awards ในปี 2010 กับบรรดาทหาร LGBTQ+ ที่โดนปลดจากตำแหน่งในกรมเนื่องจากกฎหมาย Don’t Ask, Don’t Tell ของอเมริกาที่ไม่ให้ทหาร LGBTQ+ ที่เปิดสถานะเพศของตัวเองเข้าประจำการ ซึ่งก็เป็นภาพที่ช่วยทำให้แฟนคลับมั่นใจว่าเธอไม่ได้มาเพื่อเสแสร้งหรือสร้างภาพ และเข้าใจถึงปมปัญหาต่างๆ ของประชากรแฟนคลับ หรือแม้แต่ในผลงานเพลงของเธออย่างอัลบั้ม Born This Way เองก็เต็มไปด้วยเพลงปลุกระดมแง่มุมต่างๆ ซึ่งก็เป็นการสร้างฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

 

มากไปกว่านั้น กาก้าก็เป็นศิลปินกระแสหลักคนแรกๆ ที่เข้าใจกลไกของการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียแบบ 360 องศา (อาจจะเป็นเพราะว่าคุณพ่อเคยมีกิจการติดตั้ง WiFi ในโรงแรมที่นิวยอร์ก) เพื่อเข้าหาแฟนคลับและคุยโต้ตอบกัน ซึ่งเธอมักชอบใช้ทวิตเตอร์เป็นหลัก และยังเคยสร้างเว็บไซต์ LittleMonsters.com เพื่อเป็นชุมชนออนไลน์ของแฟนเพลงโดยเฉพาะ แต่ก็น่าเสียดายว่าช่วงหลังได้หยุดใช้งานไป

 

เลดี้ กาก้า ที่งาน MTV Video Music Awards ปี 2010 กับกลุ่มทหาร LGBTQ+ ที่โดนปลดจากกรมเพราะกฎหมาย Don’t Ask, Don’t Tell ของอเมริกา | ภาพ: Robyn Beck / AFP

 

เลดี้ กาก้า ยืนประท้วงที่หน้าตึก Trump Tower ที่นิวยอร์ก ในค่ำคืนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี | ภาพ: Dominick Reuter / AFP

 

Stand Up for the People

นอกเหนือจากการเป็น Role Model หรือแม่ หรือตำแหน่งอะไรก็ตามแต่สำหรับเหล่าแฟนคลับ Little Monsters แต่กาก้ายังขยายฐานการเป็นกระบอกเสียงและเป็นผู้นำในหลากหลายประเด็นทางสังคมที่เพิ่มมูลค่าและทำให้เธอเป็นที่พูดถึงเสมอ

 

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เธอได้เลือกพูดถึงประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากจากสิทธิ LGBTQ+ เช่น การถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศผ่านผลงานเพลงอย่าง Til It Happens To You, ก่อตั้งองค์กรการกุศล Born This Way Foundation กับคุณแม่ ซินเธีย เจอร์มาน็อตตา ที่เป็นเครือข่ายช่วยเหลือเยาวชนในหลากหลายด้าน, ทำงานด้านปัญหาสุขภาพจิต, พูดถึงโรค Fibromyalgia และ PTSD ในสารคดี Gaga: Five Foot Two ของ Netflix หรือเรื่องการเมืองเธอก็สุดโต่งไม่แพ้กัน เช่น ตอนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง เธอก็ไปถือป้าย ‘Love trumps hate.’ บนรถสิบล้อหน้าตึก Trump Tower ในนิวยอร์ก

 

หากถามว่ากาก้าเธอต้องเลือกทำเยอะขนาดนี้ไหม? ไม่ และหากถามว่าเธอแค่ทำตัวสวยๆ แล้วออกผลงานเพลงครองใจตลาดได้ไหม? ก็ได้ แต่กาก้าเข้าใจว่าเมื่อก้าวมาสู่จุดที่เธอเป็น ‘ตัวอย่าง’ ที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกได้ เธอก็เลือกที่จะไม่อยู่นิ่งและกล้านำชื่อเสียงมาแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่สั่นคลอนอยู่ตลอดเวลาหากทำอะไรผิดขึ้นมา ยิ่งในยุคนี้ที่ทุกอย่างเซนสิทีฟมากขึ้น และคนอาจคิดว่าเธอดูพยายามเกินตัว

 

เลดี้ กาก้า โชว์ทริบิวต์ให้กับภาพยนตร์ The Sound of Music ที่งานออสการ์ ปี 2015 | ภาพ: Michael Yada / ©A.M.P.A.S

 

เลดี้ กาก้า ร้องเพลง Bang Bang (My Baby Shot Me Down) ระหว่างทัวร์คอนเสิร์ตกับโทนี่ เบนเนต

 

Learning to Diversify

ปี 2013 กาก้าปล่อยอัลบั้ม Artpop ออกมา ถึงแม้ชื่อเสียงจะยังอยู่แถวหน้าของวงการ แต่เธอกลับเจอมรสุมชีวิตในส่วนของทีมงานและผลงานที่เริ่มไม่คลิกกับฐานมหาชนเหมือนเมื่อก่อน แถมภาพลักษณ์และการแสดงก็ดูเหมือนพยายามช็อกโลกเกินไปจนสื่อบางสำนักรู้สึกว่าเธอพยายามเล่นไม้เดิมอยู่ตลอดเวลา เช่น การไปแสดงที่เทศกาล SXSW ในปี 2014 และให้ศิลปินที่ชื่อ มิลลี บราวน์ มาล้วงคอเพื่ออาเจียนสีลงมาบนตัวเธอ ซึ่งบางคนก็ตีความว่าเหมือนเป็นการสะท้อนปัญหาโรค Bulimia

 

แต่ต่อมากาก้าพร้อมกับผู้จัดการคนใหม่ บ็อบบี้ แคมป์เบลล์ ก็นำไพ่ใบใหม่ออกมาเล่น นั่นคือไพ่ที่ชื่อ “ฉันก็มีศักยภาพในด้านอื่นๆ” โดยเราก็ได้เห็นกาก้าออกอัลบั้มแนวเทรดิชันนัลป๊อปแจ๊สที่ชื่อ Cheek To Cheek คู่กับโทนี่ เบนเนต ซึ่งทำให้เธอชนะแกรมมี่ตัวที่ 6, ร้องเพลงทริบิวต์ภาพยนตร์ The Sound of Music ที่งานออสการ์ ปี 2015 ที่ถูกจารึกว่าเป็นหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดบนเวทีออสการ์, ร้องเพลงสดุดีนักร้องระดับตำนานอย่าง สตีวี วันเดอร์, แฟรงก์ ซินาตรา และเอลตัน จอห์น รวมทั้งขึ้นเวทีแกรมมี่กับวงเมทัล Metallica ในปี 2017 หลังแสดงงาน Super Bowl Halftime Show ได้เพียงสัปดาห์เดียว และยังไปร่วมแสดงในมินิซีรีส์ American Horror Story: Hotel ที่เธอชนะรางวัลลูกโลกทองคำ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการช่วยพรีเซนต์กาก้าในมุมมองใหม่ๆ และทำให้เธอไม่ถูกตีกรอบให้แข่งขันแต่กับศิลปินหญิงคนอื่นที่สังคมชอบเปรียบเทียบกันเหลือเกิน แม้แต่ละคนจะแตกต่างกัน

 

เลดี้ กาก้า กับแบรดลีย์ คูเปอร์ ที่งานเปิดตัวภาพยนตร์ A Star Is Born ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ปี 2018 | ภาพ: Andrea Raffin / Shutterstock

 

 

A Star is (Re) Born

6 มิถุนายน 2018 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของกาก้า เพราะตัวอย่างภาพยนตร์รีเมก A Star Is Born ที่เธอร่วมแสดงเป็นนางเอกครั้งแรกได้ปล่อยออกมา ซึ่งหากพูดตามตรงก็เหมือนพาตัวเองมาเป็นเป้าอีกครั้ง ทั้งเป็นเป้าให้คนชื่นชมความสามารถ หรืออีกด้านคือการโดนโจมตีอย่างหนักหน่วง เพราะหลายครั้งที่ศิลปินป๊อปในกระแสเลือกแสดงภาพยนตร์ด้วยคอนเซปต์ “ฉันอยากเป็นดาว” ก็มักจะจบไม่สวยและเหมือนโดนสังคมหัวเราะใส่

 

แต่เมื่อภาพยนตร์ A Star Is Born เปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส เสียงชื่นชมในตัวเธอก็มหาศาลจนกาก้าได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงจาก National Board of Review และ Critics’ Choice Movie Awards ส่วนงานออสการ์ แม้เธอจะแพ้ให้กับ โอลิเวีย โคลแมน จากภาพยนตร์ The Favourite ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม แต่เธอก็ยังคว้ารางวัลในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเพลง Shallow ไปได้ ซึ่งเพลงนี้ชนะรางวัลแกรมมี่ไป 2 รางวัลและอยู่อันดับ 1 ของ Worldwide iTunes Song Chart ได้เกิน 100 วัน โดยเชื่อได้ว่ากับการแสดงคู่กับ แบรดลีย์ คูเปอร์ จะทำให้เพลงนี้ยังคงรั้งตำแหน่ง Top 10 ได้อีกหลายสัปดาห์

 

หากใครที่คิดว่าเมื่อกาก้าได้รับการยอมรับด้านการแสดงจาก A Star Is Born แล้วเธอจะลืม ‘ตัวตน’ จนลอยตัวอยู่ในสารบบของฟองอากาศฮอลลีวูด ผมก็เชื่อว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตลอดช่วงการโปรโมตหนังและงานรับรางวัลต่างๆ เธอก็ยังคงใช้เวทีเหล่านั้นเป็นแพลตฟอร์มพูดถึงประเด็นสังคมต่างๆ ที่ไม่ใช่ว่าศิลปินหรือนักแสดงทุกคนจะกล้าพูดเสมอไป

 

อย่างเช่นที่งาน ELLE Women in Hollywood เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน เธอก็พูดถึงปัญหาด้านการล่วงละเมิดทางเพศที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจผู้หญิง และยังกล่าวบนเวทีว่า “ฉันถามตัวเองเสมอว่าการเป็นผู้หญิงในฮอลลีวูดหมายความว่าอะไร แท้จริงแล้วเราไม่ใช่ของเล่นให้คนสนุกไปวันๆ เราไม่ใช่แค่ภาพถ่ายเพื่อสร้างรอยยิ้มหรือการให้คนมาล้อเล่น เราไม่ใช่การประกวดนางงามระดับยักษ์ที่จะให้คนนำมาเปรียบเทียบหรือแข่งขันกันเพื่อความสะใจ เรา ‘ผู้หญิงของฮอลลีวูด’ คือคนที่มีปากมีเสียง เรามีพลังที่จะพูด ที่จะถูกรับฟัง และสู้กลับตอนที่เราถูกปิดเสียง”

 

เลดี้ กาก้า ร้องเพลง Shallow ที่งาน Grammy Awards ครั้งที่ 61 | ภาพ: Robyn Beck / AFP

 

Tomorrow is a Guessing Game

ตั้งแต่วันแรกที่กาก้าร้องเพลง “Just Dance Gonna Be Okay” จนถึงวันนี้ที่เธอร้อง “Ah Ah Ahhhhhhh” ในเพลง Shallow บนเวทีออสการ์ พูดได้ว่าเราได้เห็นศิลปินและนักแสดงสาวคนหนึ่งที่ท้าทายตัวเองรอบด้าน และได้สร้างมาตรฐานใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ทุกศิลปินจะทำกันได้ สำหรับผมแล้ว กาก้าไม่ใช่นักร้อง นักแต่งเพลง นักเต้น หรือนักแสดงอันดับ 1 แต่เธอก็ทำทุกอย่างได้ในขั้นที่ถือว่าไม่ธรรมดา และหากเธอถูกจัดอันดับให้เป็นแค่ที่ 2 หรือ 3 ในแต่ละหมวด เชื่อว่าหากนำมาบวกลบคูณหารกัน คะแนนของเธอก็อาจเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์อันดับ 1 ก็เป็นไปได้

 

เราคงต้องดูกันต่อไปว่าผู้หญิงคนนี้จะทำอะไร แสดงอะไร พูดอะไร สร้างจุดยืนอะไร หรือใส่ชุดอะไร แต่อะไรจะเกิดขึ้นก็เชื่อได้ว่าเราจะต้องพูดถึงเธอต่อไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

 

“มันไม่เกี่ยวกับชัยชนะ แต่มันคือการไม่ยอมแพ้ มีวินัย และแพสชัน ไม่เกี่ยวว่ากี่ครั้งที่คุณโดนปฏิเสธ แต่มันคือตอนที่คุณลุกขึ้นมาอย่างกล้าหาญและเดินหน้าต่อไป” เลดี้ กาก้า กล่าวสปีชขณะรับรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเพลง Shallow ภาพยนตร์ A Star Ia Born ในปี 2019

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising