วันนี้ (5 กันยายน) ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พร้อมด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแถลงกรณีการจับกุม วิโรจน์ อายุ 59 ปี ตำแหน่งนายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานเขตลาดกระบัง
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จากกรณีที่ผู้ขออนุญาตก่อสร้างในฐานะผู้เสียหายได้รวบรวมหลักฐานยื่นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. เพื่อร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม เนื่องจากวิโรจน์มีพฤติกรรมเรียกรับเงินสินบนจากผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร เพื่อดำเนินการออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หลายครั้ง
จากนั้นเจ้าหน้าที่ บก.ปปป., ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ได้วางแผนปฏิบัติการอำพราง นำเงินสดจำนวน 50,000 บาท ส่งมอบให้กับวิโรจน์ที่ห้องทำงานฝ่ายโยธา สำนักงานเขตลาดกระบัง เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา จากนั้นตำรวจจึงแจ้งข้อหาและเข้าจับกุมผู้ต้องหาทันที
พ.ต.อ. ธนวัฒน์ หิ้นยกฮิ่น ผู้กำกับการ 1 บก.ปปป. กล่าวว่า กรณีนี้ผู้เสียหายยื่นแบบก่อสร้างขอต่อเติมอาคารที่พักอาศัย แบบอาคารพาณิชย์ พื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตร ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ซึ่งวิโรจน์แจ้งให้แก้ไขใบอนุญาตดังกล่าวหลายครั้ง ผู้เสียหายพยายามแก้ไขแบบตามที่รับแจ้งมาเสมอแต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ
จนกระทั่งวิโรจน์ได้ส่งภาพใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร แบบ อ.1 และจงใจเว้นช่องลงนามอนุญาตไว้ส่งกลับมาให้ผู้เสียหาย และพยายามสื่อสารทำข้อตกลงว่า หากต้องการให้วิโรจน์ลงชื่อต้องตกลงจ่ายเงินในราคา 50,000 บาท ผู้เสียหายจึงตัดสินใจร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เมื่อถามว่า ผู้ต้องหารับสารภาพทันทีหลังจับกุมหรือไม่ และมีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องเพิ่มเติมหรือไม่ พ.ต.อ. ธนวัฒน์กล่าวว่า ผู้ต้องหารับสารภาพทันที แต่จะขยายผลไปถึงใคร ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายผลสอบสวน
ด้าน ภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ระบุว่า การจับกุมกรณีทุจริตการเรียกรับผลประโยชน์ใบอนุญาตฯ กับผู้ต้องหารายดังกล่าว กำลังอยู่ในระหว่างตรวจสอบเส้นทางการเงิน เนื่องจากเจ้าหน้าที่เชื่อว่าไม่ได้ทำการเพียงรายเดียว ส่วนจะขยายผลไปสู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่านี้หรือไม่ ยังอยู่ระหว่างขยายผล
เมื่อถามต่อว่า ผู้ต้องหารายนี้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างกรณีสะพานถล่มในพื้นที่หรือไม่ ภูมิวิศาลระบุว่า ขณะนี้ไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้ต้องหารายนี้เพิ่งได้ย้ายมาประจำที่เขตลาดกระบังเมื่อรอบคำสั่งเดือนตุลาคม 2565
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ยังได้รับเรื่องร้องเรียนทุจริตจากหลายเขต ฉะนั้นขอให้ประชาชนอย่ายอมถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่าปล่อยให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ ถ้าถูกกระทำลักษณะใดๆ ให้ติดต่อมาที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ได้ทันที
ด้าน เฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ พร้อมสั่งพักราชการเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวแล้ว และจะสอบสวนขยายผลไปต่ออีกแน่นอน โดยคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงจะเป็นผู้ดำเนินการ
ที่ผ่านมาการร้องเรียนเฉพาะบุคคลรายนี้โดยตรงยังไม่มีเรื่องร้องเข้ามา แต่ยอมรับว่าเฉพาะในเขตลาดกระบังมีเรื่องร้องเรียนอยู่จำนวนมาก ซึ่งอยู่ในขั้นของ ป.ป.ช. สอบข้อเท็จจริง กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการข่มขู่ กรรโชกทรัพย์ ซึ่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำชับให้จัดการอย่างเด็ดขาด ใช้ยาแรงจัดการกับข้าราชการทุจริต เปรียบเหมือนการเด้ง 5 เสือในวงการตำรวจ
เฉลิมพลกล่าวต่อว่า กทม. ขอประชาสัมพันธ์ประชาชนมา ณ ที่นี้ว่า สำหรับประชาชนรายใดที่ต้องการยื่นขออนุญาตปรับแต่ง ก่อสร้างอาคาร พื้นที่ขนาดไม่เกิน 350 ตารางเมตร สามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดการใช้วิจารณญาณรายบุคคลระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน