×

สตง. ห่วงผู้สูงอายุในท้องถิ่น ยังขาดการเตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงวัย

โดย THE STANDARD TEAM
29.10.2020
  • LOADING...
สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทย ไม่พร้อมรับมือ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ห่วงคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในท้องถิ่น หลังเข้าตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบว่ายังขาดการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย อีกทั้งการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและการจัดบริการสถานสงเคราะห์คนชรายังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์

 

ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมมาตรการเพื่อรองรับในเรื่องดังกล่าว และเนื่องจาก อปท. มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส จึงมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของคนในท้องถิ่น 

 

รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ สตง. จึงได้ตรวจสอบการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุของ อปท. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลสัมฤทธิ์ต่อไป ซึ่งจากการตรวจสอบของ สตง. มีข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้

 

1. การดำเนินงานผู้สูงอายุของ อปท. จากการสุ่มตรวจสอบ อปท. จำนวน 20 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่มีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการเตรียมความพร้อมของประชาชนเพื่อวัยสูงอายุตามมาตรการให้การศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

นอกจากนี้ยังพบว่า อปท. จำนวน 19 แห่ง หรือคิดเป็น 95% ของจำนวน อปท. ที่สุ่มตรวจสอบไม่จัดทำและพัฒนาระบบข้อมูลผู้สูงอายุตามยุทธศาสตร์การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ ส่งผลทำให้ อปท. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่สามารถกำหนดนโยบายมาตรการหรือแผนงานในการจัดสวัสดิการและบริการด้านผู้สูงอายุได้ตรงตามปัญหาความต้องการ หรือให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง ส่งผลต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและประสิทธิภาพการจ่ายเงินงบประมาณ

 

2. การดำเนินงานคุ้มครองทางสังคมด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุของ อปท. (การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ) จากการตรวจสอบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. จำนวน 20 แห่ง พบว่า มี อปท. จำนวน 15 แห่ง หรือคิดเป็น 75% ของจำนวน อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 

 

โดยมีการจ่ายให้กับผู้สูงอายุที่ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่สิ้นสุดสิทธิการรับเบี้ยยังชีพ ทำให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐไม่เกิดประโยชน์ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และรัฐต้องจ่ายเงินซ้ำซ้อน 

 

นอกจากนี้ข้อมูลผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพของ อปท. บางแห่งไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน เสี่ยงต่อสิทธิของผู้สูงอายุที่จะไม่ได้รับเงินหรือได้รับล่าช้า รวมถึงอาจส่งผลต่อหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อวางแผนขอตั้งงบประมาณและจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่ำกว่าความเป็นจริง และเป็นภาระต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมภายหลัง

 

3.การดำเนินงานของสถานสงเคราะห์คนชรา จากการตรวจสอบสถานสงเคราะห์คนชราขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 4 แห่ง พบว่า การจัดบริการของสถานสงเคราะห์คนชราไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด เช่น สถานสงเคราะห์คนชราบางแห่งไม่รับผู้สูงอายุข้ามพื้นที่จังหวัด มีผู้รับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุไม่เป็นไปตามมาตรฐานการจัดบริการของสถานสงเคราะห์คนชรา สภาพแวดล้อมที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น ภายในห้องน้ำไม่มีการติดตั้งเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำที่ติดอยู่กับที่เพื่อป้องกันการลื่นไถลและไม่มีสัญญาณฉุกเฉิน ฝ้าเพดานภายในอาคารเรือนนอนชำรุดแตกรั่ว ฯลฯ 

 

ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดอื่นเสียโอกาสในการได้รับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยทางร่างกาย และสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ 

 

นอกจากนี้สถานสงเคราะห์คนชราบางแห่งมีสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้ประโยชน์ ได้แก่ อาคารเรือนนอนผู้สูงอายุและโรงซักฟอกในสถานสงเคราะห์คนชรา ส่งผลให้การใช้เงินงบประมาณเกิดความไม่คุ้มค่า เป็นจำนวนเงิน 2,337,000 บาท 

 

จากข้อตรวจพบดังกล่าว สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่กำกับดูแลพิจารณาดำเนินการ เช่น ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตามแนวทางการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุและมาตรฐานตัวชี้วัดขั้นพื้นฐานที่กำหนดในมาตรฐานการสงเคราะห์ผู้สูงอายุ 

 

รวมทั้งกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นติดตามตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และปรับปรุงแก้ไขข้อมูลในระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพให้เป็นปัจจุบัน อีกทั้งให้พิจารณากำหนดแนวทางติดตามและประเมินผลการดำเนินงานสถานสงเคราะห์คนชราให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน รวมถึงกำกับดูแลสถานสงเคราะห์คนชราให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เกิดความสูญเปล่า

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X