×

หุ้นส่งออกอ่วมพิษตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน จับตา ‘TKN-STGT’ ส่อเลื่อนรับรู้รายได้ไปปีหน้า

15.12.2020
  • LOADING...
หุ้นส่งออกอ่วมพิษตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน จับตา ‘TKN-STGT’ ส่อเลื่อนรับรู้รายได้ไปปีหน้า

จากประเด็นปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ทั้งในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าระวางเรือและค่าเช่าตู้ รวมถึงปัญหาตู้ไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้บางบริษัทไม่สามารถส่งออกสินค้าได้

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า จากประเด็นปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้บริษัทที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกบางส่วนเริ่มได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งมีต้นทุนการส่งออกราว 5% เทียบกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ซึ่งอาจจะมีต้นทุนราว 2% โดยต้นทุนในส่วนนี้ปรับขึ้นมาราว 100-200% จากปีก่อน โดยเฉพาะเส้นทางการส่งออกไปสหรัฐฯ

 

นอกจากต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว อาจจะมีปัญหาเรื่องของการส่งออกไม่ได้ และบางบริษัทอาจต้องเลื่อนการรับรู้รายได้ออกไปเป็นช่วงต้นปี 2564 ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าปัญหาดังกล่าวจะเข้าสู่จุดสมดุลอาจจะใช้เวลาอีก 4-6 เดือน

 

“เรื่องของต้นทุนเป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ซึ่งอาจจะทบต่ออัตรากำไรไม่ได้มากนัก โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ประเด็นสำคัญคือบริษัทส่งออกรายใหญ่อาจจะส่งออกไม่ได้ เพราะตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน”

 

สำหรับบริษัทส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อาทิ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) ซึ่งเป็นกลุ่มส่งออกอาหาร รวมถึงหุ้นอย่าง บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT และ บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง (TKN) น่าจะได้รับผลกระทบจำกัดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยประเมินว่าไม่ถึง 2%

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ TKN และ STGT จะถูกกระทบจากการเลื่อนการรับรู้รายได้บางส่วนในเดือนธันวาคม 2563 ไปเป็นเดือนมกราคม 2564

 

“โดยส่วนตัวประเมินว่าผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อาจจะยังไม่จบแค่เดือนมกราคม สำหรับผู้ส่งออกรายใหญ่ เรื่องของต้นทุนอาจจะไม่เป็นปัญหานัก แต่หากยังมีการขาดแคลนตู้ต่อเนื่องอาจจะส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกได้ตามแผน ส่วนผลกระทบในเชิงตัวเลขยังประเมินได้ยากในขณะนี้”

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากปรากฏการณ์ ‘เติมสต๊อกสินค้า’ ทั่วโลก ทำให้ความต้องการด้านการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นสูงมาก จนล้นจากอุปทานที่มีอยู่ในตลาด หนุนให้ค่าระวางเรือและค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์ปรับสูงขึ้นมาก แต่โดยปกติแล้วเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น และจะเริ่มสะท้อนอุปสงค์และอุปทานในความเป็นจริงมากขึ้น

 

สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกจะมีผลกระทบโดยตรง ทั้งการเจรจากับลูกค้าปลายทาง เช่น เรื่องระยะเวลาจัดส่งที่นานขึ้น รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบริษัทจะมีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด

 

“ในแง่ผลกระทบต่อหุ้นรายตัวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งส่วนของอำนาจต่อรอง หรือการเปลี่ยนไปใช้การขนส่งรูปแบบอื่นแทน หรือประเภทของสินค้าว่าจะสามารถยืดระยะเวลาการส่งออกได้หรือไม่”

 

อาทิตย์ จันทร์สว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะสามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด หากทำไม่ได้ก็จะกระทบต่ออัตรากำไรของบริษัท

 

สำหรับสองกลุ่มธุรกิจที่น่าจะใช้บริการขนส่งทางเรือมากในระดับหนึ่งคือ กลุ่มอาหารและกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในกลุ่มอาหารอาจจะส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้าได้ยากกว่า ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์น่าจะมีความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วนได้

 

“ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่วนหนึ่งเกิดจากการขนส่งทางอากาศยังทำได้ไม่เต็มที่ เมื่อแต่ละประเทศเริ่มเปิดรับการขนส่งทางอากาศมากขึ้น ก็น่าจะช่วยให้ภาวะดังกล่าวคลี่คลายได้มากขึ้น แต่สำหรับบางบริษัทส่งออกการจะหันไปใช้บริการขนส่งทางอากาศก็อาจต้องรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงมากเช่นกัน”

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising