×

กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว เอื้อนักเรียน-นักศึกษา-คนพิการ-ผู้สูงอายุ ที่ทำงาน ให้ลูกจ้างเกษียณได้รับเงินชดเชย

05.09.2017
  • LOADING...

     พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 โดยเหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

สำหรับสาระสำคัญ ของกฎหมายฉบับใหม่นี้ คือ

  1. ให้อำนาจคณะกรรมการค่าจ้างกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น กำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับนักเรียน นักศึกษา คนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถทำงานได้ เป็นการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่ม ที่อาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป
  2. เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ เพราะแต่เดิม เมื่อนายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดบางรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยจะต้องประกาศอย่างเปิดเผยและจัดเก็บสำเนาไว้ ณ สถานประกอบกิจการนั้น และต้องนำส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย แต่กฎหมายใหม่นี้ นายจ้างไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับฯ ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อลดภาระของนายจ้าง ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยในการลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจ ซึ่งสิทธิของลูกจ้างจะยังคงได้ตามปกติตามกฎหมาย
  3. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ สร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างหลังเกษียณอายุ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย
  4. เพิ่มบทกำหนดโทษ กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ ซึ่งข้อกำหนดในกฎหมายนี้ต่างกับข้อกำหนดในกฎหมายประกันสังคม

     “กฎหมายนี้ กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เกษียณอายุ โดยลูกจ้างอายุ 60 ปี จะทำงานต่อไปก็ได้ หรือสามารถแจ้งขอเกษียณตามกฎหมายนี้เพื่อขอรับสิทธิค่าชดเชยได้ ซึ่งนายจ้างจะต้องดำเนินการจ่ายภายใน 30 วัน เมื่อลูกจ้างขอใช้สิทธิ์ ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทั้งตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายฉบับนี้” นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าว
     คลิกอ่าน พ.ร.บ. ฉบับเต็มได้ที่ลิงก์นี้ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/088/7.PDF

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X