×

เซียและสหัสวัตรุมอภิปรายนโยบายแรงงาน ถามรัฐบาลบริหารอย่างไรให้โรงงานทยอยปิด

โดย THE STANDARD TEAM
13.09.2024
  • LOADING...
แรงงาน

วันนี้ (13 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาต่อเนื่องเป็นวันที่สอง เซีย จำปาทอง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในสัดส่วน แรงงาน อภิปรายว่า รู้สึกผิดหวังที่ยังคงไม่มีเรื่องแรงงานอยู่ใน 10 นโยบายเร่งด่วนของท่าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้นโยบายด้านแรงงานเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธง

 

“นอกจากเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาทแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นรัฐบาลพยายามจะทำอะไรตามที่ได้สัญญาไว้ ไม่รู้ว่าท่านลืม แกล้งลืม หรือเป็นเพราะพวกท่านเกรงใจกลุ่มนายทุน ขุนศึก หรือเจ้าสัวผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายกันแน่” เซียกล่าว

 

เซียยังตั้งคำถามด้วยว่า เหตุที่ไม่เลือกกระทรวงแรงงานไว้ในการกำกับดูแลของพรรคเพื่อไทย เพราะไม่สามารถทำตามนโยบายที่ท่านเคยหาเสียงไว้ได้ใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะคนมีอำนาจยิ่งใหญ่จากสวรรค์ชั้นไหนมาสั่ง หน้าตาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงออกมาเป็นเช่นนี้ แบบนี้มีแต่เจ็บ เจ๊า เจ๊ง 

 

เซียกล่าวต่อไปว่า แม้ในคำแถลงนโยบายรอบนี้จะไม่มีนโยบายเรือธงอย่างค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่าคือ หลังจาก 1 ปีเมื่อพรรคเพื่อไทยมาบริหารประเทศ หรือตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 จนถึงกรกฎาคม 2567 มีโรงงานปิดไปแล้ว 1,519 แห่ง หรือปิดตัวเพิ่มขึ้นกว่า 51.60% และมีแรงงานถูกเลิกจ้างจากการปิดโรงงานไปทั้งสิ้น 41,103 คน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ถึง 54.34%

 

“รัฐบาลแบบไหนกันที่หาเสียงและมีนโยบายว่าจะสร้างงานเพิ่มขึ้น แต่บริหารงานจนมีโรงงานปิดตัวลงมากมาย มีคนงานถูกเลิกจ้างเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบ เงินชดเชยไม่เคยได้รับตามกฎหมาย” เซียระบุ 

 

เซียยังกล่าวถึงกรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็งประกาศปิดตัวและนายจ้างก็ไม่จ่ายเงินค่าชดเชย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ทำให้พวกนายจ้างไม่ได้เกรงกลัวกฎหมาย เหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดซ้ำๆ และยังมีความล้มเหลวในการคุ้มครองแรงงานอีกมากในช่วงที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานชื่อ พิพัฒน์ รัชกิจประการ

 

เซียเสนอว่าแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากคือ ต้องยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาช่วง และเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับแรงงาน เช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือองค์กรของคนทำงาน คำพูดสวยหรู ดูดี แต่ไม่ทำ 

 

นโยบายแรงงานทำได้จริงหรือ

 

ขณะที่ สหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี พรรคประชาชน อภิปรายว่า นโยบายที่ทางรัฐบาลเสนอมานี้มีเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ และการพัฒนาทักษะแบบ Lifelong learning ซึ่งรวมถึงโครงการ OFOS (One Family One Soft Power) ด้วย ส่วนนโยบายอื่นๆ ที่เคยหาเสียงหรือพูดไว้ก็หายไป เช่น ค่าแรง 600 บาท หรือเพิ่มวันลาคลอด

 

“การจัดทำนโยบายเช่นนี้อาจแสดงถึงความคิดใหญ่ พอผมอ่านแล้ว ผมได้แต่คิดว่าคิดใหญ่ทำอะไรอะ” สหัสวัตกล่าว

 

สหัสวัตชี้ว่า แผนพัฒนาฝีมือแรงงานที่รัฐบาลจะเน้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรม EV, อุตสาหกรรม Semiconductor และอุตสาหกรรม Soft Power แต่ที่พูดกว้างๆ เรื่องวัฒนธรรมยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนักว่าจะเน้นด้านใด จึงขาดแผนที่ชัดเจนตามเป้าหมายใหญ่โตที่รัฐบาลพูด 

 

นอกจากนี้รัฐบาลก็เคยบอกว่าจะพัฒนาแรงงานด้าน EV โดยการ Reskill แรงงานที่เคยอยู่ในภาคยานยนต์สันดาป เข้ามาสู่ EV ปัจจุบันเรามีแรงงานในภาคยานยนต์อยู่ประมาณ 660,000 คน ถ้าดึงมาประมาณ 1 ใน 4 ก็จะได้ 150,000 คนแล้ว คำถามคือทำได้ง่ายๆ อย่างนั้นจริงหรือ? 

 

“จากนโยบายที่ท่านเคยเสนอคือ รัฐบาลตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีจะผลิตกำลังคนป้อนอุตสาหกรรม EV ให้ได้ 150,000 คน แต่ถ้าเราไปดูในงบประมาณปี 2568 ที่เพิ่งผ่านไปจะเห็นว่าตั้งเป้าพัฒนากำลังคนเข้าสู่อุตสาหกรรม EV แค่ปีละ 2,000 คน ถ้าทำแบบนี้ 5 ปีก็จะได้ 10,000 คน แล้วแบบนี้เมื่อไรจะถึง 150,000 คน”

 

ส่วนอุตสาหกรรมชิปและ Semiconductor แต่การตั้งเป้าให้เราอยู่ในอุตสาหกรรมกลางน้ำแบบนี้ ทำให้ประเทศและแรงงานของไทยวนอยู่ในกับดักที่เราเป็นมาตลอด คือเป็นบริษัท OEM ของโลกคือ เป็นโรงงานรับผลิต ไม่ได้เป็นผู้นำเทคโนโลยีการผลิตในด้านใดอย่างจริงจัง และต้องมาแข่งกันเรื่องค่าแรงถูกกับประเทศเพื่อนบ้าน แข่งกันเรื่องให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ 

 

“ถึงเวลาหรือยังที่เราจะพัฒนาฝีมือแรงงานและผู้ประกอบการของเราให้อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นผู้คุมตลาด” สหัสวัตระบุ

 

สำหรับโครงการ OFOS ที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นการสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สหัสวัตตั้งคำถามว่า จะหามาจากไหนบ้าง เพราะแรงงานที่อยู่ในภาคบริการ ศิลปะ-บันเทิง และนันทนาการ รวมแล้วประมาณ 3.5 ล้านคนเท่านั้น ส่วนที่จะดึงมาจากแรงงานอิสระ แต่รัฐบาลมีข้อมูลหรือสถิติไหมว่าแรงงานอิสระนั้นเป็นใครกันบ้าง 

 

“การจะฝึกทักษะคนให้ข้ามอุตสาหกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย และโปรแกรมของรัฐบาลก็จำกัดมาก ที่มีเสนอมาในงบประมาณมีเพียงเชฟ, มวยไทย, นวดไทย และสปาไทย เท่านั้นเอง ท่านจะให้พี่น้องที่ขับรถส่งของไปฝึกมวยไทยกันหมดหรือ แล้วอุตสาหกรรมเหล่านี้จะจ้างแรงงาน 20 ล้านคนแบบที่ท่านหวังได้จริงหรือ” สหัสวัตกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising